ZIGA แจงเบื้องหลัง ให้กู้"เฮียฮ้อ"104 ล้าน เพิ่มหุ้นGIFT ค้ำเป็น 32 ล้านหุ้น

07 ก.ย. 2566 | 08:33 น.

ZIGA เผยเบื้องหลัง ให้“เฮียฮ้อ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์" กู้เงิน 104 ล้านบาท คิดดอกเบี้ย 15% ต่อปีโดยใช้หุ้น GIFT 32 ล้านหุ้น ค้ำประกัน เทียบมูลค่า 118 ล้านบาท คุ้มเกินมูลหนี้ (จากเดิมใช้ 16 ล้านหุ้น) แจงหวังผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตร มั่นใจศักยภาพลูกหนี้

วันนี้ 7 ก.ย.66 นางสาววราลักษณ์ งามจิตรเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัทซิก้า อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ZIGA เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร ครั้งที่ 5/2566 เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 ณ ห้องประชุมบริษัท ฯ มีมติอนุมัติให้บริษัทฯสามารถให้ความช่วยเหลือทางการเงิน แก่"นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์" ซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่เกี่ยวโยงกัน จำนวน 104,000,000 บาท ตามที่ได้อนุมัติไว้ ในอัตราอัตราดอกเบี้ย 15% ต่อปีกำหนดการรับชำระคืนเงินและดอกเบี้ยในวันที่ 2 มีนาคม 2567 (ระยะเวลา 10 เดือน)

โดยใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน เพื่อเป็นหลักประกันการทำสัญญากู้ยืมเงิน เป็นหุ้นของบริษัท แกรททิทูด อินฟินิท จำกัด (มหาชน) (GIFT) ซึ่งผู้กู้ตกลงส่งมอบหุ้น GIFT รวม 32,000,000 หุ้น คิดเป็น 2.42% ของหุ้นทั้งหมดของ GIFT 

ทั้งนี้ ผู้ให้กู้ตกลงเก็บรักษาหุ้นทั้งหมดไว้ในบัญชีของตนเองเท่านั้น  และผู้ให้กู้ตกลงชำระหนี้เงินกู้ตามสัญญาข้างต้น เป็นเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เลขที่เป็นเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เลขที่ 06792914 จำนวน 117 ล้านบาท ลงวันที่ 2 มีนาคม 2567 และชำระใช้จ่ายและค่าดำเนินการโอนหุ้นคืนเป็นเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เลขที่ 06792915 จำนวนเงิน 2.6 ล้านบาท ลงวันที่ 2 มีนาคม 2567 ซึ่งได้ส่งมอบเช็คทั้ง 2 ฉบับให้แก่บริษัทผู้ให้กู้แล้ว

 

อนึ่ง บริษัท แกรททิทูด อินฟินิท จำกัด (มหาชน) หรือ GIFT ดำเนินธุรกิจผลิต จัดหา พัฒนาและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์สำหรับการผลิตสินค้าสำเร็จรูป (Chemical Ingredient) 

โดย ณ 31 มี.ค.2566 GIFT มีสินทรัพย์ 499 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้น 493 ล้านบาท รายได้ 7 ล้านบาท และขาดทุน 7 ล้านบาท อย่างไรก็ตามมูลค่าหลักประกันคิดตามราคาตลาดครอบคลุมมูลหนี้ทั้งจำนวนการให้ความช่วยเหลือทางการเงินครั้งนี้ไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสิทธิของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ แต่อย่างใด

แจงปล่อยกู้เพื่อบริหารสภาพคล่อง-รับผลตอบแทนดีกว่าฝากแบงก์

เหตุผลและที่มาของรายการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน บริษัทมีสภาพคล่องส่วนเกิน โดย ณ 31 มี.ค. 66 มีเงินสด 283 ล้านบาท ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการบริหารสภาพคล่องเพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูงกว่าการฝ่ากธนาคาร

ทั้งนี้บริษัทได้กำหนด"หลักประกัน"ที่ชัดเจน คือการทำสัญญากู้ยืมเงิน ผู้กู้หรือบุคคลที่ผู้กู้ตกลง ส่งมอบหุ้น GIFTในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (เดิม) รวม 16,000,000 หุ้น หรือตามจำนวนที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามสิทธิให้ผู้ให้กู้ครอบครองเป็นหลักประกันการชำาระหนี้ ต่อมา เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2566 ที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ GIFT พิจารณาอนุมัติการเปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ของหุ้นสามัญ จากเดิมหุ้นละ 1.00 บาท เป็นมูลค่าที่ตราไว้หุ่นละ 0.50 บาท ปัจจุบันจำนวนหุ้นที่บริษัทได้รับเป็นหลักประกันเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 32,000,000 หุ้น (สามสิบสองล้านหุ้น) เมื่อคำนวณราคาตลาด ณ วันที่ 5 กันยายน 2566 ในราคาปิดที่ 3.70 บาทต่อหุ้น ทำให้มีมูลค่าหลักประกันเป็นเงินจำนวน 118,400,000.00 บาท (หนึ่งร้อยสิบแปดล้านสี่แสนบาทถ้วน)

การปล่อยกู้ครั้งนี้ บริษัทฯ จะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่บริษัทคิดจากผู้กู้สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากกับสถาบันการเงินและพันธบัตรทั่วไป โดยผู้กู้จะนำเงินไปใช้หมุนเวียนในธุรกิจของผู้กู้เอง

ทั้งนี้ บริษัทได้นำกระแสเงินสดที่มีเงินสดเหลือจากการประกอบธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจจำหน่ายท่อร้อยสายไฟ ซึ่งสามารถนำเงินสดดังกล่าวมาบริหารสภาพคล่องได้ เพื่อนำมาให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้กู้ โดยไม่ได้กู้ยืมมาจากสถาบันการเงิน

อีกทั้งผู้มีอำนาจอนุมัติและวงเงินของการทำสัญญากู้ยืมเงินเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 ในการประชุมคณะกรรมการบริหาร ครั้งที่ 5/2566 ได้มีมติให้เข้าทำสัญญากู้ยืมเงินกับนายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ (กรรมการและประธานกรรมการบริหาร แกรททิทูต อินฟินิท จำกัด และประธานกรรมการ บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่บุคคลดังกล่าวไม่เกี่ยวโยงกัน 

ลูกหนี้มีศักยภาพชำระหนี้

สำหรับการบริหารความเสี่ยงจากการให้กู้ยืมเงินคณะกรรมการบริหารพิจารณาแล้ว เห็นว่า ผู้กู้ตกลงชำระดอกเบี้ย- ค่าตอบแทนที่สูงและไม่มีผู้ใดเสนอให้ค่าตอบแทนที่สูงกว่า ประกอบกับ นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง มีทรัพย์สิน และศักยภาพที่จะชำระหนี้ ประกอบกับบริษัทจะได้รับหลักประกันหนี้มูลค่าเต็มจำนวนวงเงินเงินกู้ และเป็นไปตามงบประมาณประจำปีของบริษัทซึ่งคณะกรรมการบริษัทอนุมัติไว้ก่อนหน้าแล้ว

จึงมีความเห็นว่าให้เข้าทำสัญญากูยืมเงินกับนายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ตามเงื่อนไขข้างต้นได้อีกทั้งผลประโยชน์ที่บริษัทจะได้รับคือดอกเบี้ยที่มีอัตราสูงกว่าการฝากเงินกับสถาบันการเงิน และถือเป็นทางเลือกของการบริหารจัดการสภาพคล่องส่วนเกิน