svasdssvasds
logo-pwa

เพิ่ม thansettakij

ลงในหน้าจอหลักของคุณ

ติดตั้ง
ปิด
thansettakij

ตีกลับ เก็บภาษีขายหุ้น คาดบังคับใช้ไม่ทันพ.ค.66

04 มีนาคม 2566

“อาคม” ตั้งทีมวิเคราะห์ภาษีขายหุ้น หลังสำนักงานเลขาครม. รับข้อเสนอ FECTO ส่งร่างกฎหมายคืน “คลัง” ให้นำกลับมาศึกษาอย่างละเอียดอีกครั้ง หวังฐานเสียงก่อนเลือกตั้ง คาดบังคับใช้ไม่ทันพฤษภาคม 2566 ตามแผน

ยังเป็นที่จับตาของนักลงทุนในตลาดทุน หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการจัดเก็บภาษีขายหุ้น (Financial Transaction Tax)ที่ 0.11% (เมื่อรวมภาษีท้องถิ่นที่ 0.01% ) ของมูลค่าการขาย โดยให้มีผลบังคับใช้ภายใน 90 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยช่วงแรก ปี 2566 จะจัดเก็บในอัตรา 0.055% (เมื่อรวมภาษีท้องถิ่นที่ 0.005%) ของมูลค่าการขาย และจะเก็บที่อัตราปกติตั้งแต่ปี 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

การจัดเก็บภาษีซื้อขายหุ้นในประเทศต่าง

ทั้งนี้ อัตราภาษีขายหุ้นดังกล่าวเป็นภาษีเฉพาะภายใต้ พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 และได้รับการยกเว้นตั้งแต่ปี 2535 

ล่าสุดนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า สำนักงานเลขาครม.ได้ส่งคืนร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะและกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ ฉบับที่... พ.ศ...หรือ ภาษีขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มายังกระทรวงการคลัง หลังจากสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FECTO) ได้ส่งหนังสือคัดค้านการจัดเก็บภาษีขายหุ้น

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

“เมื่อเรื่องภาษีขายหุ้นส่งคืนมาแล้ว กระทรวงการคลังจะตั้งทีมงาน เพื่อมาวิเคราะห์และนำข้อเสนอแนะของ FETCO มาประกอบพิจารณาอีกครั้ง ส่วนจะทันประกาศใช้ภายในกลางปีนี้หรือไม่ ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ ต้องรอการทำงานของเจ้าหน้าที่ให้แล้วเสร็จ” นายอาคมกล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า ก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังคาดการณ์ว่า ภาษีขายหุ้นจะสามารถดำเนินการเริ่มเก็บภาษีได้ช่วงเดือนพฤษภาคม 2566 หลังจากที่ครม. ได้เห็นชอบไปแล้วเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2565 ในอัตรา 0.11% ของมูลค่าการขายหุ้น โดยในปีแรกให้นักลงทุนปรับตัว ซึ่งจะจัดเก็บในอัตรา 0.055% ส่วนปีถัดไปจัดเก็บเต็มอัตรา 0.11 %

ทั้งนี้ ปัจจุบันภาษีหุ้นได้ผ่านขั้นตอนนำส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อตรวจร่างกฎหมายภาษีให้ถูกต้องแล้วในเดือนมกราคม 2566 และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ส่งคืนร่างกฎหมายมายังสำนักงานเลขาธิการครม.เพื่อเตรียมนำเสนอทูลเกล้าฯ ตามลำดับการประกาศบังคับใช้กฎหมายต่อไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างเตรียมการนำเสนอทูลเกล้าฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ นั้น ทาง FETCO ได้ทำหนังสือคัดค้านการจัดเก็บภาษีขายหุ้นมายังรัฐบาล ทำให้รัฐบาลต้องชะลอการนำเสนอทูลเกล้าฯ และได้ส่งเรื่องมายังกระทรวงการคลัง เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์อีกครั้ง ซึ่งก่อนหน้าทาง FETCO ก็ยื่นหนังสือคัดค้าการเก็บภาษีหุ้นมาอย่างต่อเนื่อง ครั้งนี้สำนักงานเลขาครม. จึงให้นำข้อเสนอมาประกอบพิจารณาใหม่

“การนำเข้าเสนอของ FETCO มาพิจารณาประกอบในการเก็บภาษีหุ้นใหม่นี้ จะทำให้แผนการประกาศใช้ภาษีขายหุ้น ต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากต้องเริ่มขบวนการประเมินการเก็บภาษีหุ้นใหม่อีกครั้ง” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า นอกจากประเด็นการคัดค้านของ FETCO แล้วยังมีประเด็นการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เนื่องจากเป็นช่วงใกล้ยุบสภาฯ ทำให้รัฐบาลไม่กล้าตัดสินใจที่จะเสนอร่างกฎหมายเพื่อจัดเก็บภาษีขายหุ้น เพราะมีความกังวลว่า จะกระทบต่อฐานเสียง เนื่องจากเป็นช่วงใกล้เลือกตั้ง

ส่วนแนวคิดในการจัดเก็บภาษีขายภาษีหุ้นนั้น เนื่องจากกระทรวงการคลังต้องการลดความเหลื่อมล้ำการจัดเก็บภาษี เพราะที่ผ่านมา ได้มีการยกเว้นการจัดเก็บภาษีขายหุ้นมานานกว่า 40 ปี เพื่อสนับสนุนตลาดทุนไทยเติบโต และในปัจจุบันตลาดหุ้นไทย ถือว่าเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) เพิ่มขึ้นถึง 22 เท่า

ดังนั้นกระทรวงการคลังจึงเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องยกเว้นภาษีขายหุ้นอีกต่อไปและการกลับมาเก็บภาษีขายหุ้น จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละ 16,000-18,000 ล้านบาท

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,867 วันที่ 5 - 8 มีนาคม พ.ศ. 2566