คลังเตรียมถก “เศรษฐา” ยกเครื่องคปภ. แก้ปัญหาบริษัทประกันล่ม

20 ธ.ค. 2566 | 12:36 น.

รมช.คลัง เตรียมหารือนายกฯ ยกเครื่องคปภ. แก้วิกฤต บริษัทประกันล้ม หลังประกันโควิด “เจอจ่ายจบ” พ่นพิษ เล็งใช้งบปี 67 ช่วยอุดกองทุนประกันฯ 4,000 ล้านบาท

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงปัญหา บมจ. สินมั่นคงประกันภัย ว่า ในเร็วๆ นี้ จะมีการเตรียมหารือกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ถึงแนวทางการกำกับดูแลธุรกิจประกันทั้งประกันชีวิตและประกันวินาศภัย

พร้อมหาทบทวนบทบาทของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)​ ว่าจะปรับแก้ไขแนวทางการกำกับให้สอดคล้องกับสถานการณ์  มีช่องโหว่ และประเด็นใดที่ต้องการให้รัฐบาลเข้าไปช่วยเหลือเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน 

“แม้ผมไม่ได้กำกับดูแล คปภ.โดยตรง แต่รับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นกับธุรกิจประกัน จึงจะนำปัญหาของธุรกิจประกันไปหารือกับนายกรัฐมนตรี เพื่อให้มีข้อสั่งการในการดำเนินการ และสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนผู้ทำประกันทั้งระบบ”

นายจุลพันธ์  กล่าวว่า ประเด็นปัญหาของกองทุนประกันวินาศภัย ที่ยังมียอดค้างชำระหนี้เคลมโควิดประมาณ 60,000 ล้านบาทนั้น คปภ.อยู่ระหว่างการตรวจสอบตามขั้นตอนกฎหมาย เพื่อจ่ายเคลมให้กับผู้ทำประกันโควิด

อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบต้องใช้เวลาดำเนินการ ประกอบกับเงินกองทุนประกันวินาศภัยมีเพียง 6,000 ล้านบาท มีเงินไหลเข้ากองทุนปีละ 600-700 ล้านบาท จากการจัดเก็บเงินสบกองทุน 0.25% ของเบี้ยประกันภัยที่บริษัทรับมาแต่ละปี  ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อการจ่ายเงินเคลมประกันโควิด 

ทั้งนี้ คปภ.ได้เสนอทางออกด้วยการเสนอแก้ไขกฎหมาย เพิ่มเงินสมทบกองทุนเป็น2.50% จากเดิม 0.5% แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณา อย่างไรก็ตาม การสมทบเงินกองทุนประกันวินาศภัยของรัฐบาลนั้น ในปี 67 รัฐบาลได้จัดสรรเงินงบประมาณให้3,000-4,000 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องกองทุน เพื่อนำเงินมาจ่ายค่าเคลมประกันคงค้าง แต่ยังไม่เพียงพอที่จะจ่ายเคลม ดังนั้นจึงจำเป็นต้องหาแนวทางเพื่อแก้ปัญหาธุรกิจประกันทั้งระบบ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ทำประกัน

รายงานข่าวแจ้งเพิ่ม กรณี คปภ.ได้สั่งให้ บมจ. สินมั่นคง ประกันภัย หยุดรับประกันใหม่ขณะนี้สินมั่นคง มีหนี้สิน จากยอดเคลมประกันโควิดเจอจ่ายจบมูลหนี้  30,000 ล้านบาท และหนี้ลูกค้าประกันทั่วไป 2,000 ล้านบาท  หากมีการเพิกถอนใบอนุญาตของสินมั่นคงและมีการโอนหนี้ไปให้กองทุนประกันวินาศภัยทั้งหมด จะทำให้ภาระหนี้ของกองทุนอาจสูงถึง 90,000 ล้านบาท