แบงก์ชาติ เคาะแล้ว 3 กลุ่มทุนใหญ่ คว้าไลเซ่น Virtual Bank

16 เม.ย. 2568 | 02:18 น.
อัปเดตล่าสุด :17 เม.ย. 2568 | 04:50 น.

ธปท. เคาะเลือก 3 กลุ่มทุนใหญ่ “กรุงไทย-เอไอเอส-กัลฟ์-โออาร์”, “SCBX-KakaoBank-WeBank” และ “แอสเซนด์ มันนี่”กลุ่มซีพี นำร่องให้บริการ Virtual Bank เตรียมชง ครม.เห็นชอบก่อนให้บริการปี 69 “แอสเซนด์ มันนี่” ลั่นพร้อมทุกมิติทั้งด้านบุคลากร เทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐาน

หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดให้ยื่นคำขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม ถึง 19 กันยายน 2567 พบว่ามีจำนวนผู้ยื่นคำขอทั้งหมด 5 ราย ประกอบด้วย:1.ธนาคารกรุงไทย ร่วมกับกลุ่มพันธมิตร ได้แก่ Gulf, AIS และกลุ่ม พีทีที กรุ๊ป (PTT) ผ่านบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR

แบงก์ชาติ เคาะแล้ว 3 กลุ่มทุนใหญ่ คว้าไลเซ่น Virtual Bank  2.ซีกรุ๊ป (Sea Group) จากสิงคโปร์ เจ้าของแพลตฟอร์ม Shopee ร่วมกับกลุ่มบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ส่งบริษัทลูก คือ บริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ VGI ร่วมกับ บริษัท ไปรษณีย์ไทย และธนาคารกรุงเทพ

 3.กลุ่มบริษัทเอสซีบี เอกซ์ ร่วมกับ KakaoBank จากเกาหลีใต้ และพันธมิตร วีแบงก์ (WeBank) จากจีน

 4.บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน “ทรูมันนี่” ที่มี Ant International ในเครือ Alibaba และ 5.บริษัท Lightnet Group ร่วมกับ WeLab ผู้นำ Virtual Bank จากฮ่องกง

ล่าสุดแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ธปท. ได้พิจารณาคุณสมบัติ ศักยภาพ และความสามารถที่จะประกอบธุรกิจ Virtual Bank เสร็จเรียบร้อยแล้ว หลังจากที่ได้สัมภาษณ์กลุ่มที่ยื่นขอใบอนุญาตทั้ง 5 ราย ยาวนานถึงรายละ 4 ชั่วโมง จึงได้คัดเลือก 3 ราย ประกอบด้วย 1.ธนาคารกรุงไทย ร่วมกับกลุ่มพันธมิตร Gulf, AIS และ พีทีที กรุ๊ป 2.กลุ่มบริษัทเอสซีบี เอกซ์ ร่วมกับ KakaoBank และ WeBank และ 3.บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด ของกลุ่มซีพี

โดย ธปท. ได้ส่งรายชื่อทั้ง 3 รายให้กระทรวงการคลังแล้ว ซึ่งขั้นตอนต่อไปคือการรอความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้จัดตั้ง Virtual Bank ภายในกลางปี 2568 จากนั้นผู้ที่ได้รับความเห็นชอบจะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อเปิดดำเนินธุรกิจภายใน 1 ปี นับจากวันที่รัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ

แบงก์ชาติ เคาะแล้ว 3 กลุ่มทุนใหญ่ คว้าไลเซ่น Virtual Bank

โดย นายธัญญพงศ์ ธรรมาวรานุคุปต์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แอสเซนด์ มันนี่ ได้เตรียมความพร้อมให้บริการ Virtual Bank ในทุกมิติ ทั้งด้านบุคลากร เทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐานการ ให้บริการ โดยเฉพาะการออกแบบแพลตฟอร์มที่รองรับบริการทางการเงินอย่างครอบคลุม และ ปลอดภัย เพื่อให้ตอบโจทย์กลุ่มผู้ที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินแบบดั้งเดิม (underserved) รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยและ MSMEs ที่ต้องการโอกาสทางการเงินในการเติบโต

แบงก์ชาติ เคาะแล้ว 3 กลุ่มทุนใหญ่ คว้าไลเซ่น Virtual Bank

"เรามุ่งมั่นที่จะเป็นกลไกสำคัญในการผลักดัน financial inclusion ด้วยแนวทางที่โปร่งใส ยืดหยุ่น และเข้าใจผู้ใช้งานอย่างแท้จริง โดยบริษัทฯ เป็นผู้สมัครที่มีประสบการณ์ในการให้บริการ ทางการเงินดิจิทัลที่ช่วยลดช่องว่างด้านการเข้าถึงได้จริงมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีประสบการณ์ ในการสร้างแพลตฟอร์มการเงินดิจิทัลครบวงจรขนาดใหญ่ โดยปัจจุบัน แอปพลิเคชันทรูมันนี่ มีผู้ใช้งานมากถึง 32 ล้านราย และเป็นแอปที่คนไทยดาวน์โหลดสูงสุด นอกจากนี้ เรายังมีเครือข่าย พาร์ทเนอร์และอีโคซิสเต็มส์ที่แข็งแกร่ง"

โดยที่ผ่านมา แอสเซนด์ มันนี่ตระหนักถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ ผ่านการเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินรวมถึงสินเชื่อใหักับลูกค้าทั่วไปและผู้ประกอบการ บริษัทฯ ได้ใช้ศักยภาพของเทคโนโลยีในการสร้างบริการสินเชื่อดิจิทัล ที่อ้างอิงโมเดลการวิเคราะห์ความเสี่ยง ที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ซึ่งได้ช่วยให้ผู้ที่เคยถูกมองข้ามจากระบบการให้สินเชื่อ แบบดั้งเดิม เช่น ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ผู้ประกอบการรายย่อย แม่ค้าพ่อค้า และเกษตรกร ฯลฯ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่จำเป็นในยามฉุกเฉินได้มากขึ้น ทั้งนี้ มากกว่า 50% ของลูกค้าที่ขอ วงเงิน และสินเชื่อของบริษัทฯ ไม่เคยได้รับการอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารหรือสถาบัน การเงินอื่นมาก่อน

ด้วยการนำศักยภาพของข้อมูลทางเลือก (alternative data) และเทคโนโลยีสินเชื่อ (Credit Tech) มาพัฒนาโมเดลการให้เครดิตรูปแบบใหม่ของ แอสเซนด์ มันนี่ ช่วยให้เราสามารถคัดเลือกลูกค้า ได้ดีขึ้น สามารถอนุมัติลูกค้าได้เยอะขึ้น และมอบโอกาสทางการเงินใหม่ ๆ พร้อมส่งเสริมวินัย ทางการเงิน เช่น การออม การลงทุน และการใช้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อทำให้บริการ ทางการเงินมีความครอบคลุม และเข้าถึงผู้ที่มีความจำเป็นได้อย่างแท้จริง

โดยเราเชื่อมั่นว่า หากได้รับใบอนุญาต Virtual Bank อย่างเป็นทางการ จะช่วยต่อยอดศักยภาพ ที่เรามีอยู่แล้วให้ขยายผลได้มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนานวัตกรรมใหม่ การเชื่อมต่อบริการ ให้ครอบคลุมมากขึ้น รวมถึงสร้างผลกระทบเชิงบวกในวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึง บริการทางการเงินอย่างแท้จริง

ส่วนจะสามารถให้บริการได้เมื่อไรนั้นขณะนี้ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังไม่ได้มีการประกาศรายชื่อผู้ได้รับใบอนุญาตอย่างเป็นทางการ แต่หากได้รับเลือก แอสเซนด์ มันนี่ มีแผนจะเริ่มให้บริการ Virtual Bank ได้ภายในกลางปี 2569 ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

นายธัญญพงศ์ กล่าวต่อไปอีกว่า แอสเซนด์ มันนี่ ตั้งเป้าที่จะเป็นผู้นำด้านธนาคารดิจิทัลที่ขับเคลื่อนความเท่าเทียม เข้าถึงง่าย และ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ผ่านบริการทางการเงินที่เข้าใจชีวิตและความต้องการของผู้คน โดยเฉพาะกลุ่มที่ยังขาดโอกาสทางการเงิน เราเชื่อว่าเทคโนโลยีที่ดีควรช่วยลดช่องว่าง และความ เหลื่อมล้ำ พร้อมเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม

"หากได้รับใบอนุญาต Virtual Bank อย่างเป็นทางการ จะช่วยต่อยอดศักยภาพที่บริษัทฯ มีอยู่แล้ว ในการสร้างผลกระทบทางสังคมเชิงบวกด้านการเงิน (financial social impact) ให้ขยายวงกว้าง ยิ่งขึ้น ทั้งในแง่ของการเข้าถึงสินเชื่อ การออม การลงทุน และความคุ้มครองทางการเงิน ผ่านโซลูชันที่ใช้ง่าย ปลอดภัย และตอบโจทย์ในทุกมิติของชีวิตทางการเงินของคนไทย"

ทั้งนี้ แอสเซนด์ มันนี่ ซึ่งเป็นอยู่ภายใต้กลุ่มซีพี ยังมีเครือข่ายค้าปลีกทั่วประเทศ 7-Eleven (เซเว่น อีเลฟเว่น) จำนวนสาขาในประเทศไทย: จำนวน 15,245 สาขา โลตัส ประมาณ 2,451 สาขา และแมคโคร ทั้งยังมีฐานผู้ใช้บริการกลุ่มทรู ทั้งทรูมูฟ เอช 33.8 ล้านเลขหมาย และดีแทค 21.2 ล้านเลขหมาย; พร้อมผู้ใช้งานบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตทรูออนไลน์ 5 ล้านราย และ ผู้ใช้งานโทรทัศน์ทรูวิชั่นส์ 3.2 ล้านราย

ขณะที่เต็งหนึ่งที่ได้รับการคัดเลือกให้บริการ Virtual Bank  อย่างกลุ่ม “กรุงไทย-เอไอเอส-กลุ่มกัลฟ์-โออาร์” โดยธนาคารกรุงไทย (KTB) และ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส และ บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก หรือ OR ได้ผนึกกำลังทางธุรกิจที่เต็มไปด้วยความพร้อมด้านเงินทุน และฐานลูกค้าในมือเกือบ 100 ล้านคน

โดยธนาคารกรุงไทยเป็นทั้งธนาคารพาณิชย์ใหญ่เป็นอันดับต้นของไทย และมีทั้งฐานลูกค้าทั้งผ่านเป๋าตัง ที่มีฐานลูกค้าเกือบ 50 ล้านคน และเชี่ยวชาญด้านการเงินมาก ที่มีทั้งความน่าเชื่อถือ ความพร้อม และเข้าใจความเสี่ยงของแต่ละลูกค้าเป็นอย่างดีส่วน เอไอเอส ผู้ให้บริการการสื่อสารใหญ่ที่สุดในประเทศมีเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ มีความพร้อมด้านบริการดิจิทัลและฐานลูกค้าประมาณ 50 ล้านราย ประกอบด้วย ฐานลูกค้ามือถือกว่า 45.6 ล้านราย กลุ่มใช้บริการเน็ตบ้านอีก 4.5 ล้านราย

ขณะที่ “โออาร์” เป็นพันธมิตรที่สร้างช่องทาง และโอกาสในการเจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากธุรกิจของโออาร์ มีทั้งในส่วนของสถานีบริการน้ำมัน และส่วนของร้านค้าธุรกิจนอนออยล์ต่างๆ อาทิ ร้านกาแฟอเมซอน ที่มีช่องทางเข้าถึงผู้บริโภคทั่วประเทศ มีฐานสมาขิก Blueplus 8 ล้านคน ส่วนกัลฟ์ มีความแข็งแกร่งด้านเงินทุน และธุรกิจพลังงาน รวมไปถึงบริการดาต้าเซ็นเตอร์

ส่วนกลุ่ม SCBX มีจุดแข็งไม่น้อยในการให้บริการ Virtual Bank โดย SCBX เป็นบริษัทแม่ของ “ธนาคารไทยพาณิชย์” ที่เป็นสถาบันการเงินอันดับต้นของไทยมาพร้อมฐานลูกค้า และทรัพยากรที่แข็งแกร่งมาก โดยมีความมั่นคงในการดำเนินธุรกิจธนาคาร และการเงินในประเทศมานาน และได้ปรับองค์กรมาต่อเนื่องสู่โลกดิจิทัล ผ่านการลงทุนด้านเทคโนโลยีมหาศาลเพื่อขับเคลื่อนองค์กรในการตอบสนองความต้องการลูกค้าบนยุคดิจิทัลมากขึ้น

ขณะที่ KaKao Bank ธนาคารดิจิทัลใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ นอกจากเชี่ยวชาญธุรกิจ Virtual Bank แล้ว ยังมีศักยภาพด้านเทคโนโลยีมาช่วยทำให้ธุรกิจมีขีดความสามารถในการเข้าถึงประชาชนมากขึ้น รวมทั้งการให้บริการของ KAKAO Bank ประสบความสำเร็จมากในวงการธนาคารเกาหลีใต้มาแล้ว ด้วยการมีผู้ใช้งานกว่า 1 ล้านราย หลังจากเปิดดำเนินไปได้เพียง 5 วันเท่านั้น ซึ่งเป็นจุดแข็งอย่างมากที่ทำให้ KAKAO Bank ขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งในเกาหลีใต้เช่นปัจจุบัน

WeBank ธนาคารดิจิทัลอันดับหนึ่งในจีน เป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งเช่นกันถือเป็นผู้ประสบความสำเร็จมากจนมีบัญชีผู้ใช้งานมากที่สุดในจีน 362 ล้านบัญชี และคนที่เข้าถึงบริการทางการเงินทั้งหมดของ WeBank คือ กลุ่มชนชั้นแรงงานกว่า 75% ซึ่งส่วนใหญ่ คือ กลุ่ม Unserved และUnderserved โดยการใช้เทคโนโลยีใหม่มาช่วยเข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้น

ดังนั้นด้วยการผสมผสาน “ความน่าเชื่อถือ” ที่มาจาก “SCBX ” บวกฐานลูกค้าและทรัพยากรที่แข็งแกร่ง ผสมผสานกับเทคโนโลยีขั้นสูงจาก Webank และความเชี่ยวชาญในการสร้างประสบการณ์ใช้งานที่เข้าถึงง่ายจาก Kakao Bank ทำให้กลุ่มนี้มีศักยภาพสูงมากในการแข่งขันในตลาด Virtual Bank ครั้งนี้