ยอดกระบะ ร่วง 45% ฉุดสินเชื่อเช่าซื้อซึม

25 พ.ค. 2567 | 07:32 น.

สินเชื่อเช่าซื้อซึม เหตุยอดขายกระบะร่วง 45% สะท้อน กำลังซื้ออ่อนแรง-สถาบันการเงินยอมรับเข้มปล่อยกู้ แหยง! คืนรถจบหนี้เฟ้นลูกค้าที่ต้องการใช้รถจริง ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นประเด็นรอง ยอดปฏิเสธรถใหม่พุ่งเฉลี่ย 20% รถมือสอง 30%

ธนาคารแห่งประเทศ ไทย (ธปท.) รายงานยอดคงค้างสินเชื่อซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไตรมาสแรกปี 2567 พบว่า มียอดคงค้างทั้งสิ้น 1,155,139 ล้านบาทลดลง 35,281 ล้านบาทหรือ 2.96% จากช่วงเดียวกันปีก่อนและลดลง 24,742 ล้านบาทหรือลดลง  2.10% จากไตรมาส 4 ปี 2566 โดยมียอดคงค้าง Gross NPLs ทีี่ 2.14% ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 1.89%

ยอดคงค้างสินเชื่อเช่าซื้อ

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โดยปกติแล้ว ตลาดเช่าซื้อรถยนต์ใหม่หน้าร้อนจะขายดี แต่ปรากฏว่าช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา บรรยากาศตลาดค่อนข้างซึมๆ โดยเฉพาะรถกระบะ ที่ความต้องการซื้อไตรมาสแรกลดลงอย่างเห็นได้ชัด สอดคล้องกับปริมาณยอดขายรถกระบะที่ลดลง 45.27% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยมียอดขายเพียง  16,212 คัน

ส่วนแนวโน้มไตรมาส 2 ซึ่งเข้าสู่หน้าฝน บรรยากาศจะยังคงซึมยาว เพราะปกติหน้าฝนความต้องการซื้อจะชะลอตัวลงอยู่แล้ว ดังนั้นปีนี้ทั้งปีคาดว่า จะมียอดขายรถยนต์ใหม่ประมาณ 725,000 คัน ลดลง 8.22% จากปีที่แล้วอยู่ที่ 790,000 คัน 

ทั้งนี้ ตัวเลขยอดขายรถยนต์ใหม่เดือนมีนาคมมีทั้งสิ้น 56,099 รวมทั้งหมดแล้ว 1.6 แสนคัน เทียบปีที่แล้วลดลง 29.8% คือ รถยนต์นั่งขายได้ 30,894 ลดลง 22.7% โดยเฉพาะรถกระบะ 16,212 ลดลง 45.27% สะท้อนกำลังซื้อของผู้บริโภคที่แผ่วลงมาก

ในแง่การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อเช่าซื้อ ยอมรับว่า ปีนี้สถาบันการเงินทุกแห่งเพิ่มความเข้มงวดในการพิจารณาลูกค้า โดยให้น้ำหนักกับความต้องการซื้อรถยนต์ของลูกค้าเป็นหลัก รองลงมาคือ ความสามารถในการผ่อนชำระค่างวด เนื่องจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังสูง ประกอบกับนโยบายการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม(Responsible Lending) ดังนั้น ยอดการปฎิเสธสินเชื่อจะมีอัตราเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น

กรณีเช่าซื้อรถใหม่เดิมยอดปฏิเสธอยู่ที่ประมาณ 15% เพิ่มเป็น 20% ส่วนเช่าซื้อรถยนต์เก่า (มือสอง) จากเดิม 20% เพิ่มเป็น 30% เหตุผลหลักๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการคืนรถจบหนี้ แต่ปัญหาจากหนี้ครัวเรือน เรื่องลูกค้าไม่มีเงินนั้นเป็นพื้นฐานที่สำคัญกระบวนการพิจารณาของไฟแนนซ์หรือสถาบันการเงินจะเพ่งเล็งความต้องการของลูกค้าว่าตั้งใจจะซื้อรถเพื่อการใช้รถจริงๆ 

ส่วนแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อเกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ภาพรวมสัดส่วนเอ็นพีแอลน่าจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากคนซื้อรถไม่มีเงิน ส่วนหนึ่งมาจากภาวะเศรษฐกิจทำให้รายได้ของคนไม่เพิ่ม แต่สัญญาณการยึดรถยังไม่สูงนัก เพราะลูกค้ายังมีการเลี้ยงค่างวดอยู่ กล่าวคือ ปกติสถาบันการเงินเจ้าหนี้จะยึดรถเมื่อลูกค้าค้างชำระ 3 งวดบวกอีก 30วัน หรือเท่ากับมียอดค้างชำระ 4 งวด แต่ส่วนใหญ่พบว่า เมื่อค้างชำระงวดที่ 4 ลูกค้าจะเข้ามาชำระค่างวด เพื่อหลีกเลี่ยงการยึดรถ หรือเป็นการเลี้ยงงวด สำหรับฝ่ายบริหารความเสี่ยงทุกบริษัท (Risk Management) จะมีการยึดรถเมื่อมียอดค้างชำระติดต่อกัน 6 งวด 

ดังนั้น กรณีที่ลูกค้าไม่เลี้ยงงวด มีโอกาสที่จะเห็นเอ็นพีแอลทะลุ 3 แสนคัน ซึ่งสูงกว่าข้อมูลของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือ (เครดิตบูโร) ปีนี้อยู่ที่ 2.38 แสนคัน สำหรับภาพรวมทั้งปีนี้ภายใต้การเลี้ยงงวดของลูกค้าคาดว่าแนวโน้มการยึดรถน่าจะใกล้เคียงกับปีที่แล้วคือ อยู่ที่ประมาณ 3 แสนคัน 

“การเข้มข้นในการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สาเหตุหลักเพราะกลัวลูกค้าผ่อนไม่ไหวแล้วเอารถมาคืน ซึ่งเป็นประเด็นหลัก ผลจากกระแสคืนรถจบหนี้ ทำให้ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ เพราะกรณีคืนรถจบหนี้ หากนำรถออกประมูลจะขายขาดทุนแน่นอน ดังนั้น เราต้องดูลูกค้าว่า มีความตั้งใจจะใช้จริงจริงและพร้อมจะสู้ในการผ่อนรถไปนานๆ”

นายอนุชาติ ดีประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอพเพิล ออโต้ ออคชั่น (ประเทศไทย) จำกัดกล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มรถยึดปี 2567 น่า จะทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 2.5-2.8 แสนคัน จากปีที่แล้วอยู่ที่ประมาณ 3 แสนคัน โดยสัญญาณในไตรมาส 3-4 น่าจะทรงตัวเช่นเดียวกับ 1-2 ไตรมาส ส่วนหนึ่ง อาจเพราะตัวเลขรถยึดผ่านจุดพีคจากปลายปีที่แล้ว ราว 2.7-2.8 หมื่นคันไปแล้ว ซึ่งปีนี้ตัวเลขรถยึดเข้าสู่ลานประมูลต่อเดือน 2.5-2.8 หมื่นคัน (เฉลี่ยค้างชำระยังอยู่ที่ 3 งวด) สัดส่วนประเภทรถเก๋งกับกระบะ 50:50

นายอนุชาติ ดีประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอพเพิล ออโต้ ออคชั่น (ประเทศไทย) จำกั

ปัจจุบันสถาบันการเงินเจ้าหนี้ยังคงเปิดให้ลูกหนี้ปรับโครงสร้างหนี้รถเช่าซื้ออยู่ ขณะที่ราคาตลาดกรณีรถไซซ์เล็ก (อีโคคาร์) ราคาปรับลดลงเล็กน้อย ส่วนกระบะยังเป็นที่ต้องการของตลาด ในส่วนของบริษัทฯ ส่วนใหญ่ 80% จะเป็นรถยนต์ ที่เหลือเพียง 20% จะเป็นมอเตอร์ไซด์ ปัจจุบันมีรถยึดเข้ามาประมาณ 4,000-5,000 คันต่อเดือนและเปิดประมูลเกือบทุกวัน

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการยึดรถยนต์ไฟฟ้ายังเข้ามาน้อย จึงไม่ห่วงด้านราคา ขณะที่สัญญาณความต้องการซื้อกระบะมือสองมากขึ้นส่วนหนึ่งเพราะลูกค้าใช้ในการทำมาหากิน และราคารถกระบะยังไม่ปรับลดลง ดังนั้น บรรยากาศการขายรถยึดยังคงทยอยขายออกได้เรื่อยๆ โดยมูลค่าตลาดรถยึดปีที่แล้วอยู่ที่ประมาณ 3 แสนคันเฉลี่ยราคา 3 สามแสนบาทต่อคัน

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,995 วันที่ 26 - 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2567