ธปท.รื้อเกณฑ์ปล่อยกู้รายใหญ่ เปิดทางนับประกันภัยรวม SLL

20 เม.ย. 2567 | 04:55 น.

ธปท.จัดระเบียบ เกณฑ์ปล่อยกู้ลูกหนี้รายใหญ่ เปิดรับฟังความคิดเห็นถึง 24 เม.ย.นี้ หวังลดลดต้นทุนสถาบันการเงิน เปิดทางนับบริษัทประกันภัยเป็นลูกหนี้ในการคำนวณ SLL ได้เท่าประกันส่งออก รวมถึงลดหรือยกเลิกวงเงินปล่อยกู้ผู้มีส่วนได้เสีย ไม่ต้องขอสัตยาบัน

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อประเด็นปรับปรุงหลักเกณฑ์ด้านสินเชื่อ เพื่อสนับสนุนให้สถาบันการเงินประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยยังคงหลักการกำกับดูแลที่ดี ภายใต้กรอบความเสี่ยงที่ยอมรับได้ใน 2 ประเด็นคือ

  • ปรับปรุงหลักเกณฑ์การนับลูกหนี้รายใหญ่สำหรับธุรกรรมสินเชื่อเพื่อการค้าและแฟ็กเตอริง (factoring) การประกอบธุรกิจรับซื้อหรือรับโอนลูกหนี้เงินให้กู้ยืม และธุรกรรมถ่ายโอนหรือรับโอนความเสี่ยงด้านเครดิต (Risk Participation)
  • ปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับการทำธุรกรรมกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือกิจการที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง (Related Lending) เพื่อลดต้นทุนการดำเนินงานของสถาบันการเงิน

การนับลูกหนี้รายใหญ่ สำหรับธุรกรรมสินเชื่อ factoring กรณีธุรกรรม factoring ภายในประเทศ หากธนาคารพาณิชย์ได้รับการประกันความเสี่ยงด้านเครดิตโดยบริษัทประกันภัย ธนาคารพาณิชย์ยังไม่สามารถนับบริษัทประกันภัยดังกล่าวเป็นลูกหนี้แทนผู้ซื้อสินค้าหรือผู้ขายสินค้าแล้วแต่กรณี ในการคำนวณอัตราส่วนการกำกับลูกหนี้รายใหญ่ (SLL) ได้ ทำให้ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้ขายสินค้าอาจมีข้อจำกัดในการทำธุรกรรมกับธนาคารพาณิชย์

ขณะที่หากเป็นธุรกรรมสินเชื่อเพื่อการค้าที่มีการประกันการส่งออก(export credit insurance) ซึ่งธนาคารพาณิชย์เป็นผู้รับผลประโยชน์ตามกรมธรรม์หรือเป็นผู้รับโอนสิทธิจากผู้รับผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ หลักเกณฑ์อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์สามารถนับบริษัทประกันภัยเป็นลูกหนี้ในการคำนวณ SLL ได้

ดังนั้นธปท.จึงเสนอปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการนับ SLL ของลูกหนี้ธุรกรรมสินเชื่อเพื่อการค้ารวมถึง factoring กรณีที่มีการประกันความเสี่ยงด้านเครดิตหรือประกันภัยสินเชื่อทางการค้า (trade credit insurance -TCI) ให้สอดคล้องกันทุกกรณี โดยให้ธนาคารพาณิชย์นับบริษัทประกันภัยทั้งในและต่างประเทศที่ให้บริการ TCI เป็นลูกหนี้ ในการคำนวณ SLL ตามมูลค่าที่บริษัทประกันภัยนั้นรับประกันความเสี่ยงภายใต้เงื่อนไขเดียวกับลูกหนี้ธุรกรรมสินเชื่อเพื่อการค้าที่มีการประกันการส่งออก (export credit insurance)

ส่วนการประกอบธุรกิจรับซื้อหรือรับโอนลูกหนี้เงินให้กู้ยืม ปัจจุบันธปท.อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ประกอบธุรกิจรับซื้อหรือรับโอนลูกหนี้เงินให้กู้ยืมทั้งที่เป็นเงินบาทและเงินตราต่างประเทศได้จากธนาคารพาณิชย์และนิติบุคคลอื่นในประเทศเท่านั้น  ทำให้ธนาคารพาณิชย์มีภาระในการขออนุญาตรายกรณี หากต้องการจะรับซื้อหรือรับโอนลูกหนี้เงินให้กู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ในต่างประเทศ

ดังนั้นธปท.จึงเสนอปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์สามารถรับซื้อหรือรับโอนลูกหนี้เงินให้กู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ในต่างประเทศได้เป็นการทั่วไป สำหรับกรณีเป็นลูกหนี้ syndicated loan ที่คุณภาพดีและสามารถก่อให้เกิดรายได้ในอนาคต เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์สามารถบริหารจัดการพอร์ตสินเชื่อและบริหารความเสี่ยงได้ยืดหยุ่นขึ้นภายใต้ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

ขณะที่การทำธุรกรรมการถ่ายโอนหรือรับโอนความเสี่ยงด้านเครดิต (Risk participation) ปัจจุบันขอบเขตของการประกอบธุรกิจ Risk participation ในส่วนของสินทรัพย์อ้างอิงและคู่สัญญาอาจไม่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติและบริบทของการทำธุรกรรมดังกล่าวในตลาด ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์มีภาระในการขออนุญาตรายกรณี

ดังนั้นธปท.จึงเสนอปรับปรุงให้มีความยืดหยุ่นในการบริหารความเสี่ยงด้านเครดิตและสอดคล้องกับแนวปฏิบัติในตลาดยิ่งขึ้นโดยขยายขอบเขตสินทรัพย์อ้างอิงให้ครอบคลุมถึงธุรกรรมแฟ็กเตอริงและการค้ำประกัน และขยายขอบเขตคู่สัญญาให้ครอบคลุมบริษัทประกันภัยในต่างประเทศที่มีหน่วยงานกำกับดูแลและได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับ investment grade

 ส่วนการปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับการทำธุรกรรมกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือกิจการที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง (Related Lending) ซึ่งเคยได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการสถาบันการเงินด้วยมติเอกฉันท์แล้ว หากในการเปลี่ยน แปลงเงื่อนไขของธุรกรรมดังกล่าวเป็นกรณีที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการสินเชื่อหรือคณะกรรมการบริหารที่คณะกรรมการสถาบันการเงินได้มอบอำนาจไว้

หลักเกณฑ์ปัจจุบันกำหนดให้สถาบันการเงินนำการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของธุรกรรมดังกล่าวเข้าขอรับสัตยาบันจากคณะกรรมการสถาบันการเงินในการประชุมครั้งถัดไปและต้องได้รับมติเอกฉันท์ในทุกกรณี ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของธุรกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงเพิ่มขึ้นทำ ทำให้สถาบันการเงินมีภาระในการดำเนินการ

ดังนั้นธปท.จึงเสนอปรับปรุงประกาศธปท. เพื่อลดภาระในการดำเนินการของสถาบันการเงิน สำหรับกรณีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของธุรกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงเพิ่มขึ้น โดยปรับเพิ่มข้อยกเว้นในกรณีการลดหรือยกเลิกวงเงินเดิมไม่ต้องขอรับสัตยาบันจากคณะกรรมการสถาบันการเงินอีก

ส่วนธุรกรรมที่สถาบันการเงินทำกับบุคคลใดบุคคลหนึ่งก่อนและต่อมาเข้าลักษณะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือกิจการที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องตามมาตรา 49 แห่งกฎหมายว่า ด้วยธุรกิจสถาบันการเงินไม่ได้รับการผ่อนผัน การคำนวณอัตราส่วน Related Lending เป็น

การทั่วไป ส่งผลกระทบต่อความต่อเนื่องในการทำธุรกรรมและการดำเนินงานของลูกหนี้ รวมถึงทำให้สถาบันการเงินมีภาระในการขออนุญาตผ่อนผันรายกรณี

ดังนั้นธปท. จึงเสนอปรับปรุงประกาศธปท.เพื่อให้เกิดความชัดเจนและลดภาระในการดำเนินการของสถาบันการเงิน โดยผ่อนผันเป็นการชั่วคราวให้ สถาบันการเงินสามารถทำธุรกรรมกับบุคคลที่เข้าลักษณะข้างต้นตามสัญญาที่ผูกพันไว้เดิมต่อไปได้และต้องดำเนินการ เพื่อทำให้การทำธุรกรรมดังกล่าวเป็นไปตามมาตรา 49 โดยเร็ว

 

 

หน้า 1  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,985 วันที่ 21 - 24 เมษายน พ.ศ. 2567