เบื้องหลัง วงครม. ถกเครียด แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท

29 เม.ย. 2567 | 05:27 น.

เปิดเบื้องหลัง วงในครม. หารือเครียดโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ตามนโยบายรัฐบาล หลังรมช.คลัง ชี้แจงเพิ่มหลายประเด็น ก่อนสมทบด้วยกฤษฎีกา สุดท้ายนายกฯ ขอให้เช็คถามความถูกต้องทุกประเด็น

โครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ยังต้องลุ้นฝ่าอีกหลายด่าน แม้ว่าจะผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เป็นที่เรียบร้อย และได้เสนอเข้ามาให้กับที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการของโครงการแล้ว แต่ก็ยังต้องจัดทำรายละเอียดอีกหลายเรื่องเข้ามาเสนอครม.พิจารณา

ล่าสุดในการประชุมครม. ครั้งล่าสุด แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า ที่ประชุมได้หารือเรื่องนี้กันเคร่งเครียด โดย นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะกรรมการนโยบายเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ตฯ ได้ชี้แจงในที่ประชุมว่า เรื่องที่กระทรวงการคลังเสนอในครั้งนี้เป็นการเสนอให้ครม.พิจารณา ให้ความเห็นชอบหลักการของกรอบหลักการโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ตฯ เท่านั้น

หลังจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ตฯ เพื่อพิจารณาจัดทำรายละเอียดในส่วนที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจนและครบถ้วน โดยนำความเห็นของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้เสนอมาประกอบการพิจารณาด้วย และนำเสนอครม.พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

พร้อมทั้งชี้แจงแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในการดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ตฯ จะมาจาก 3 แหล่งหลัก ๆ นั่นคือ

ส่วนที่ 1 การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท

ส่วนที่ 2 เงินงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท

ส่วนที่ 3 ถือเป็นการดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกร ซึ่งเป็นนโยบายกึ่งการคลังของรัฐ ที่มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามนัยมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 จำนวน 172,300 ล้านบาท

สำหรับการใช้เงินในส่วนที่ 3 นั้น รมช.จุลพันธ์ ระบุว่า กระทรวงการคลัง จะได้มีหนังสือหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินส่วนที่ 3 ให้เกิดความถูกต้อง รอบคอบ ชัดเจน ก่อนดำเนินการต่อไป

หลังจากนายจุลพันธ์ ชี้แจงเสร็จ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เสนอความเห็นเพิ่มเติมว่า เรื่องนี้เป็นการดำเนินการ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 262/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายฯ ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2566 เพื่อเสนอครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบหลักการของกรอบหลักการโครงการฯ เท่านั้น 

สำหรับรายละเอียดต่าง ๆ ของการดำเนินโครงการ เช่น นิติสัมพันธ์ ในการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประชาชนและร้านค้า หรือระหว่างร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ รวมทั้ง การออกแบบระบบให้เหมาะสมและเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นเรื่องที่ครม. สามารถจะมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องได้ตามหน้าที่และอำนาจ ของแต่ละหน่วยงาน แล้วนำเสนอต่อครม.เพื่อพิจารณาตามขั้นตอนอีกครั้งหนึ่งต่อไป

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี ได้เสนอว่า ในการจัดทำรายละเอียดโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ตฯ นั้น หากมีประเด็นข้อสงสัย หรือความไม่ชัดเจนในเรื่องใด ๆ ก็ขอให้กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการหารือไปยังสำนักงาน คณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ได้ข้อยุติที่ถูกต้อง ชัดเจน ครบถ้วนทุกประเด็น ก่อนดำเนินการต่อไปด้วย

สุดท้ายที่ประชุมครม. จึงได้ลงมติว่า รับทราบตามที่นายจุลพันธ์ชี้แจงเพิ่มเติม และที่เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอความเห็นเพิ่มเติม พร้อมทั้งเห็นชอบให้กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติตามที่นายกรัฐมนตรีเสนออย่างเคร่งครัด รวมทั้งยังรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอและที่มีความเห็นเพิ่มเติม 

ทั้งนี้ได้มอบหมายให้คณะกรรมการนโยบายฯ กระทรวงการคลัง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม กระทรวงพาณิชย์ สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นและข้อสังเกตของหน่วยงานต่าง ๆ ประกอบด้วย

กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่อไป