สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ 5 ปีโตติดจรวด 232%

13 ธ.ค. 2566 | 08:37 น.

สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ 5 ปี โตพุ่ง 2.07 แสนล้านบาท แม้ตลาดแข่งขันสูงแถมมีรายใหม่เข้าตลาด สมาคมผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถจ่อหารือธปท. ขยายเพดานดอกเบี้ย รับกลุ่มที่สกอริ่งไม่ผ่าน หวังดึงจากหนี้นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบ

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานตัวเลขสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับประเภทสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน หรือ สินเชื่อจำนำทะเบียนรถเดือนตุลาคม ปี 2566 มีจำนวน 3.23 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.07 แสนล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 232.37% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน 5 ปีก่อน ที่มีการนำสินเชื่อจำนำทะเบียนรถเข้ามาอยู่ภายใต้การกำกับเมื่อปี 2561

ทั้งนี้ยอดสินเชื่อคงค้างดังกล่าว มาจากธนาคารพาณิชย์ 1.11 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 34.21% และมาจากผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) อีก 2.80 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 1.96 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 232.47%

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเฉพาะเดือนตุลาคมปีนี้เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ยอดคงค้างสินเชื่อจำนำทะเบียนขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า 90,167 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 38.56% โดยมาจากธนาคารพาณิชย์ 19.80% และมาจากนอนแบงก์ 42.01% แต่ไม่ระบุยอดค้างชำระเกิน 3 เดือนขึ้นไป

ขณะที่เดือนกันยายนที่ผ่านมา มียอดคงค้างสินเชื่อจำนำทะเบียนอยู่ที่ 3.17 แสนล้านบาท โดยมาจากธนาคารพาณิชย์ 43,107 ล้านบาทและนอนแบงก์อีก 274,506 ล้านบาท ขณะที่ยอดค้างชำระเกิน 3 เดือนขึ้นไปอยู่ที่ 6,745 ล้านบาท แบ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ 1,065 ล้านบาท และนอนแบงก์ 5,680 ล้านบาท

สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน

นายสุธัช เรืองสุทธิภาพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เงินเทอร์โบ จำกัดและในฐานะนายกสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ (VTLA) ระบุว่า ตลาดจำนำทะเบียนรถมีการแข่งขันสูงมาตลอด 5 ปีที่ผ่านมา และยังมีผู้ประกอบการหน้าใหม่เข้ามาทำตลาดเพิ่มขึ้น ในรูปแบบการแข่งขันที่หลากหลาย บางรายเน้นรีไฟแนนซ์ โดยเสนออัตราดอกเบี้ยพิเศษ เพื่อดึงลูกค้า 

นายสุธัช เรืองสุทธิภาพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เงินเทอร์โบ จำกัดและในฐานะนายกสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ

ขณะนี้ผู้ประกอบการแข่งขันกันในตลาดกลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงระดับดี ซึ่งช้ำไปหมดแล้ว เนื่องจากสินเชื่อจำนำทะเบียนจะมีความแตกต่างจากทุกประเภทสินเชื่อภายใต้กำกับคือ สินเชื่อจำนำทะเบียนกว่า 90% ตอนนี้อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าเพดานหลายปอร์เซ็นต์ ซึ่งผู้ประกอบการแต่ละราย ก็จะมีความเชี่ยวชาญแตกต่างกันในการรับความเสี่ยง  

“ส่วนใหญ่กลุ่มลูกค้าจำนำทะเบียนจะคิดดอกเบี้ยในอัตรา 16-17% หรือเฉลี่ยต่ำกว่า 5-7% จากเพดานดอกเบี้ยที่กำหนด 24% ต่อปี ขณะเดียวกันคุณสมบัติลูกค้ากลุ่มนี้ที่มีประวัติการรักษาวินัยทางการเงิน โดยผ่อนชำระเงินที่ดีและมีรถเป็นหลักประกันแล้ว ทำให้สินเชื่อจำนำทะเบียนเป็นสินเชื่อที่ลูกค้าสามารถเข้าถึงได้ง่าย และหากเป็นลูกค้าดี จะได้รับข้อเสนอด้วยดอกเบี้ยต่ำสุดตั้งแต่ 9.99% เพดานที่กำหนดคือ 24% ต่อปี ขณะที่คุณภาพสินเชื่อยังอยู่ในการควบคุมได้” นายสุธัชกล่าว

ทั้งนี้ สินเชื่อจำนำทะเบียนเกินกว่าครึ่งจะเป็นผู้ประกอบธุรกิจค้าขายหรือเป็นสินเชื่อเอสเอ็มอีรายย่อยที่มีความต้องการใช้เงินเพียง 2 วัตถุประสงค์เท่านั้นคือ ต้องการใช้เงินในกรณีฉุกเฉิน และเพื่อใช้เป็นเงินหมุนเวียนในกิจการหรือจ่ายค่าจ้างพนักงาน  โดยมักเบิกใช้สินเชื่อเฉพาะวงเงินที่จำเป็น 1-3 แสนบาท แม้ว่าจะมีการเสนอวงเงินสูงก็ตาม

อย่างไรก็ตาม สินเชื่อจำนำทะเบียนเป็นสินเชื่อภายใต้กำกับของธปท. แต่ไม่ใช่สินเชื่อที่จะนำหลักประกันกู้เงินเพื่อใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เพราะเกินกว่าครึ่งของลูกค้าที่ใช้บริการสินเชื่อจำนำทะเบียนจะเป็นผู้ประกอบธุรกิจค้าขายหรือเป็นสินเชื่อเอสเอ็มอีรายย่อยที่มีความต้องการใช้เงินเพียง 2 วัตถุประสงค์เท่านั้น คือ ความต้องการใช้เงินในกรณีฉุกเฉิน และเพื่อใช้เป็นเงินหมุนเวียนในกิจการหรือจ่ายค่าจ้างพนักงานหรือ ค่าโฆษณาในการทำตลาด

"กลุ่มผู้ใช้บริการมักเบิกใช้สินเชื่อเฉพาะวงเงินที่จำเป็น 1-3แสนบาท โดยลูกค้ากลุ่มนี้ไม่ต้องการวงเงินกู้เต็มจำนวน แม้ว่าในตลาดมีการเสนอวงเงินสูงก็ตาม"

นายสุธัช กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” เพิ่มเติมว่า ภาพรวมความต้องการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยังคงมีต่อเนื่อง แต่มีลูกค้าส่วนหนึ่งที่เครดิตสกอริ่ง ไม่ผ่าน จึงเป็นกลุ่มที่สมาชิกในสมาคมไม่ได้ปล่อยสินเชื่อ ซึ่งสมาคมจะพยายามหารือกับธปท. ขอเพิ่มเพดานอัตราดอกเบี้ย เพื่อจะได้ขยายตลาดไปยังกลุ่มลูกค้าดังกล่าวได้

อีกทั้งปัจจุบัน รัฐบาลและทางการพยายามแก้ไขหนี้ครัวเรือน ทำให้ผู้ใช้บริการสินเชื่อนอกระบบที่เคยจ่ายดอกเบี้ย 100-200% เริ่มตระหนักมากขึ้น หากผู้ให้บริการในระบบสามารถชาร์ทดอกเบี้ยได้ 28% ต่อปีหรืออัตราสูงกว่า 30% ต่อปีอีกเล็กน้อย เชื่อว่า จะสามารถดึงลูกหนี้นอกระบบกลับเข้าสู่ระบบได้

ขณะเดียวกัน หากสามารถขยายเพดานอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อดึงลูกหนี้นอกระบบหรือลูกค้าที่ไม่ผ่านเครดิตสกอริ่งเข้ามาอยู่ในระบบ ส่วนตัวมองว่า ทุกคนจะได้ประโยชน์ คือ ประเทศในภาพรวมลดการพึ่งพาหนี้นอกระบบ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาทางสังคม อีกทั้งกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่สามารถเข้าสู่ระบบสินเชื่อที่มีมาตรฐาน และมีอัตราดอกเบี้ยที่จ่ายต่ำลง จะทำให้ลดภาระและมีเงินเหลือ ขณะที่ภาคธุรกิจก็สามารถขยายตลาดไปปล่อยสินเชื่อไปยังตลาดดังกล่าว 

สำหรับโจทย์ธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนปี 2567 นายสุธัชกล่าวว่า แนวทางการดำเนินธุรกิจยังยึดนโยบายภายใต้การกำกับของธปท. นอกจากให้ความสำคัญเรื่องมาร์เก็ตคอนดักส์แล้ว แนวทางยังคงให้น้ำหนักกับความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ไม่ทั่วถึง ซึ่งจะส่งผลต่อรายได้ภาคประชาชนรายย่อย  โดยจะเห็นว่า ภาคส่งออกบางเช็กเตอร์ได้ลดชั่วโมงทำงานหรือโอทีของโรงงาน ซ่ึ่งกระทบกับรายได้ของพนักงานประมาณ 30%

อย่างไรก็ดี จากแนวโน้มของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่อาจจะหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรืออาจจะขึ้นดอกเบี้ยเต็มที่อีก 1 ครั้งในปีหน้า และหากปลายปีกนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ย ก็จะลดแรงกดดันด้านต้นทุนทางการเงินทำให้ผู้ประกอบการและลูกหนี้ตัวเบาขึ้นบ้าง

"หนี้ครัวเรือนที่ทรงตัวในระดับสูง เป็นความกังวลของทางการที่พยายามจะดึงลงมาให้อยู่ในระดับสากล   อีกทั้งยังมีหนี้นอกระบบ ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญ เพราะยังไม่มีตัวเลขที่แน่ชัด  แต่อย่างน้อยการหาทางแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ทำให้คนเริ่มตระหนักและเกิดการเปรียบเทียบในการตัดสินใจเข้าสู่ระบบ โดยเฉพาะกรณีแย่ที่สุดสำหรับการกู้ยืมในระบบนั้น คือ การเข้าสู่กระบวนการฟ้องดำเนินคดีเพื่อเรียกเก็บหนี้ หรือผ่อนจ่าย และบังคับหลักประกัน หรือเต็มที่สุดฟ้องล้มละลาย  แต่หนี้นอกระบบหากมองในมุมของประเทศอาจนำไปสู่ความกดดัน ก่อให้เกิดอาชญากรรมและเป็นปัญหาสังคมในที่สุด"

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,948 วันที่ 14 - 16 ธันวาคม พ.ศ. 2566