ธปท.แบกต้นทุนหลังแอ่น แบงก์‘พุงปลิ้น’กินสองต่อ

10 ก.พ. 2567 | 08:25 น.

ตลาดจับตา ดอกเบี้ยนโยบายทรงตัวสูง เอื้อกำไรแบงก์ เข้มปล่อยสินเชื่อ ใช้สภาพคล่องส่วนเกิน กินดอกเบี้ยอาร์พี 2.5% ด้านธปท.แบกต้นทุนหลังแอ่น จากการดูดซับสภาพคล่องส่วนเกิน ชี้ขึ้น 0.25% ธปท.จ่ายดอกเบี้ยขึ้นราว 5,500 ล้านบาท

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 7 กุมภาพันธ์ มีมติ 5:2 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% โดยกนง. เห็นว่า อุปสงค์ในประเทศมีแรงส่งต่อเนื่องและอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มทยอยเพิ่มขึ้นโดยส่วนใหญ่มองว่า อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังสอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจรวมทั้งเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาวขณะที่กนง. 2 เสียงเห็นว่า ควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง

ทั้งนี้ กนง.เริ่มปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.25% มาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 รวม 2.00% ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายปรับเพิ่มขึ้นจาก 0.50% เป็น 2.50% ในเดือนกันยายน 2566 ก่อนจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 2.50% ในการประชุม 2 ครั้งถัดมา ท่ามกลางแรงกดดันจากภาคการเมืองที่มองว่า ดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ไม่เอื้อต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

ดอกเบี้ยนโยบายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะส่งผ่านให้ดอกเบี้ยในตลาดปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้ โดยล่าสุด ณ เดือนมกราคม 2567 อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) อยู่ที่ระดับ 8.2% อัตราดอกเบี้้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) อยู่ที่ระดับ 7.8% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ใหม่ (New loan rate: NLR) อยู่ที่ระดับ 4.6% ณ เดือนพฤศจิกายน 2566

ดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มขึ้นยังส่งผลต่อผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ อีกด้วย โดยพบว่ากำไรสุทธิงวดปี 2566 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ทั้ง 10 แห่งมีกำไรสุทธิรวม 232,107.08 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.69% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิรวม 200,542.75 ล้านบาท ส่วนใหญ่มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจากยอดสินเชื่อเติบโตแข็งแกร่ง รวมถึงรายได้จากค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นเช่นกัน ขณะที่หลายธนาคารมีการตั้งสำรองหนี้ลดลง

แหล่งข่าวจากตลาดเงินกล่าวว่า ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและรักษาเสถียรภาพระบบการเงินนั้น ทำให้ธปท.มีภาระต้นทุนในการดูดซับสภาพคล่องในระบบอีกด้วยโดยจะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ยอดคงค้างพันธบัตรที่ธปท.ออก และ 2.ยอดคงค้างเงินฝากของธนาคารพาณิชย์(Bilateral Repo) ที่ธนาคารพาณิชย์นำมาฝากไว้ที่ธปท.

ทั้งนี้ภายใต้สมมติฐานว่า พันธบัตรส่วนใหญ่จะมีผลตอบแทนใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยยอดคงค้างพันธบัตร ธปท. สิ้นปีงบประมาณ 2566 (ณ เดือนกันยายน 2566) อยู่ที่ประมาณ 2.45 ล้านล้านบาท กรณีการขึ้นดอกเบี้ยต่อครั้ง 0.25%จะทำให้ต้นทุนธปท.เพิ่มขึ้นราว 6,125 ล้านบาท โดยหักพันธบัตรประเภท Fixed rate bond อายุมากกว่า 1 ปี ที่ต้นทุนสะท้อนการขึ้นดอกเบี้ยไปก่อนหน้าการขึ้นดอกเบี้ยจริงแล้ว 320,000 ล้านบาท

“ประเมินว่า ธปท.จ่ายดอกเบี้ยขึ้นราว 5,500 ล้านบาทต่อการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% หรือหากจะคิดรวม 8 ครั้งของการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ภาระจะสูงถึง 44,000ล้านบาท ซึ่งเป็นแค่ตัวเลขทางบัญชี จะไม่มีผลต่ออะไรทั้งสิ้นและไม่เป็นส่วนหนึ่งของหนี้สาธารณะ”แหล่งข่าวระบุ

ธปท.แบกต้นทุนหลังแอ่น แบงก์‘พุงปลิ้น’กินสองต่อ

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 3 ปี 2566 พบว่าหดตัวเล็กน้อยที่ 0.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการทยอยชำระคืนหนี้ของภาคธุรกิจหลังเร่งขยายตัวต่อเนื่อง เพื่อเสริมสภาพคล่องในช่วงโควิด โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ธุรกิจขนาดใหญ่กลุ่มส่งออกและภาครัฐ ประกอบกับมีการบริหารจัดการคุณภาพหนี้ของธนาคารพาณิชย์

 ทั้งนี้ไตรมาส 3 ปี 2566 สินเชื่อธุรกิจหดตัว 2.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยสินเชื่อธุรกิจวงเงินมากกว่า 500 ล้านบาท หดตัว 0.2% และสินเชื่อวงเงินไม่เกิน 500 ล้านบาทหดตัว 5.7% ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัว 1.2% โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัย ขยายตัว 2.4% สินเชื่อบุคคลขยายตัว 2.8% และสินเชื่อรถยนต์ ขยายตัว 0.8% ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิต หดตัว 16.2%

นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เปิดเผยว่าภาวะการเงินโดยรวมทรงตัวโดยสินเชื่อธุรกิจในภาพรวมชะลอลงส่วนหนึ่งมาจากการชำระคืนหนี้ที่กู้ยืมจากมาตรการช่วยเหลือพิเศษในช่วงโควิดเห็นได้จาก ช่วงก่อนโควิด (เทียบไตรมาส 1 ปี 2560 ถึงไตรมาส 1 ปี 2563)ยอดปล่อยสินเชื่อขยายตัว 4.2%

นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)  ธปท.

 ขณะที่การชำระคืนอยู่ที่ 3.8% หรือในช่วงโควิด (เทียบไตรมาส 2 ปี 2563 ถึงไตรมาส 2 ปี 2565) การให้สินเชื่อขยายตัว 4% มีการชำระคืนหนี้ 3.7% และหลังโควิด (เทียบตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2565 ถึงไตรมาส 3 ปี 2566) มีการให้สินเชื่อเติบโต 4.4% ขณะที่การชำระคืนหนี้สูงถึง 4.2%

 สอดคล้องกับแหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์ระบุว่า ธนาคารพาณิชย์ยังคงมีการปล่อยสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงของโควิดนั้น ธนาคารมีการปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบ ทั้งการเติมสภาพคล่องผ่านสินเชื่อฟื้นฟูและซอฟต์โลน ทำให้ทั้งในส่วนของสินเชื่อและเงินฝากมีความสมดุล เห็นได้จากสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (L2D) ประเมินจากธ.พ.1.1 ณ สิ้นปี 2566 อยู่ที่ 92.4% หลังจากเดือนธันวาคมปีเดียวกันอยู่ที่ 92.5% ส่วนสิ้นปี 2565 อยู่ที่ 92.5% และปี 2564 อยู่ที่ 93.8% เป็นต้น

 นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทยกล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บทบาทของนโยบายการเงินคือ สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการลงทุนคือ ทำให้ประเทศมีสภาพคล่องเพียงพอ ค่าเงินและเงินเฟ้อมีเสถียรภาพ ซึ่งถือว่า นโยบายการเงินถือเป็นจุดแข็งที่มีเสถียรภาพของไทยเมื่อเทียบกับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (EM)และไม่ได้หนีจากประเทศเพื่อนบ้านและประเทศแถบอาเซียน คือ นโยบายการเงินของไทยเป็นนักเรียนเกรด A หรือ A- ยกเว้นเมียนมา

 อย่างไรก็ตามสิ่งที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถก้าวขึ้นมาได้ คงจะต้องกลับไปดูเรื่องปัจจัยเชิงโครงสร้าง คือ การปรับปรุงขีดความสามารถในการแข่งขัน แม้ผลสำรวจจาก World Economic Forum พบว่า ความสามารถในการแข่งขันของไทยด้านดิจิทัลดีขึ้น 5 อันดับ แต่ไทยต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพราะประเทศอื่นที่ก้าวขึ้นมาก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

 หรือเรื่องอันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจ(Ease of doing business) ซึ่งที่ผ่านมา ภาคเอกชนเคยส่งสัญญาณถึงภาครัฐ เรื่องลดข้อจำกัดในการทำธุรกิจ สำหรับธุรกิจขนาดเล็กรวมถึงธุรกิจเอสเอ็มอี เช่น มีต้นทุนในการเข้ามาในระบบเอสเอ็มอีน้อยลงและจะได้ประโยชน์ในแง่ การเข้าถึงบริการทางการเงินและแรงจูงใจจากภาครัฐ

 สำหรับภาคการท่องเที่ยวนั้น ยังมี Short Term Solution และระยะสั้นสามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวหรือจัดกิจกรรมดึงความสนใจให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวในไทยได้ จริงๆด้านการท่องเที่ยวมีอะไรให้ทำอีกมากช่วง Short Term เพราะปีนี้มีโอกาสฟื้นตัวได้ดีกว่าจากปีก่อน และภาครัฐได้ดำเนินการเรื่อง ฟรีวีซ่า

 ขณะที่ “ไทยเที่ยวไทย” ซึ่งจะเป็นอีกจุดที่จะช่วยเศรษฐกิจระยะสั้นได้ เพราะค่าใช้จ่ายต่อหัวของคนไทยยังต่ำกว่าเดิมประมาณ 20% ถ้าภาครัฐมีแรงจูงใจ (Incentive)ให้เกิดการใช้จ่ายอาจจะช่วยได้ จึงไม่ต่างอะไรจากภาคการส่งออก เพราะประเทศอื่นเก่งขึ้นและมีความแปลกใหม่ จึงจำเป็นที่ไทยต้องพัฒนาเมืองรอง สร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องการลงทุนระยะยาว

 นอกจากนี้สถิติตัวเลขขอรับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สะท้อนภาพอนาคตที่ดีขึ้น ทั้งธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ๆ ที่เข้ามา และธุรกิจยานยนต์ แต่เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ซึ่งต้องเร่งสะสมกำลังใน 4-5 ปีข้างหน้าเพื่อส่งออกสินค้าที่ตลาดต้องการ

 “ตอนนี้เราเห็นภาพเศรษฐกิจอาจจะเติบโตได้ไม่ได้มากนักและเงินเฟ้อลดลง ซึ่งเราอยากฟังว่ากนง.มอง 2 มิติอย่างไร ถ้าเป็นในต่างประเทศ เงินเฟ้ออยู่ภายใต้การควบคุมและอาจจะนำไปสู่การลดดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า เช่น นักวิเคราะห์มีมุมมองต่อการดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐฯ”นายพชรพจน์ กล่าว

หน้า 1  ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,965 วันที่ 11 - 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567