ตลาดปรับมุมมอง คาดกนง. เริ่มลดดอกเบี้ยเม.ย.

10 ก.พ. 2567 | 07:47 น.

นักวิเคราะห์ปรับมุมมอง หลังกนง.เสียงแตก 5:2 คงดอกเบี้ย 2.5% คาดเริ่มลดดอกเบี้ยในการประชุมรอบหน้า ทั้งปีอาจละลง 2 ครั้ง กนง.จับตาการกระจายตัวของเงินเฟ้อและรายได้นักท่องเที่ยว ชี้งมีความไม่แน่นอนทั้งด้านบวกลบ

แม้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ที่มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 5:2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.50% แต่ Krungthai Compass มองว่า กนง.ส่งสัญญาณท่าทีที่ผ่อนคลายมากขึ้น แต่จะยังไม่ปรับทิศทางของการดำเนินนโยบายการเงินในระยะอันใกล้ เนื่องจากเศรษฐกิจยังอยู่ในทิศทางขยายตัวและ กนง. จำเป็นต้องรอความชัดเจนของข้อมูลต่างๆในระยะต่อไป 

อย่างไรก็ตาม ผลการประชุม กนง. ทำให้บรรดานักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะนักวิเคราะห์ต่างชาติ ต่างปรับมุมมองว่า กนง.อาจเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยได้ตั้งแต่การประชุมเดือนเมษายน อาจเป็นปัจจัยกดดันให้ช่วงนี้ เงินบาทอาจผันผวนอ่อนค่าลงได้ และตลาดยังคงคาดหวังกนง.จะลดดอกเบี้ยราว 2 ครั้งในปีนี้

นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลไตรมาส 4 ปีที่แล้วที่น่าจะอยู่ในระดับต่ำกว่าที่คาดพอสมควร ทำให้ตัวเลขประมาณการจีดีพีปีนี้ น่าจะอยู่ในช่วง 2.5-3.0% โดยไม่รวมมาตรการดิจิทัล วอลเลต ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยเชิงเทคนิคด้วย

นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน ธปท.

ทั้งนี้ หากดูไส้ในจะเห็นว่า การบริโภคภาคเอกชนและอุปสงค์ในประเทศยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อไป โดย กนง.คาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 34.5 ล้านคนในปีนี้จะยังเป็นแรงส่งเพิ่มขึ้น การส่งออกสินค้า 2.6% ยังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปเช่นกัน

ในแง่ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจด้านบวกนั้น เป็นไปได้ว่าอุปสงค์ภายในประเทศอาจขยายตัวดีกว่าที่คาดไว้ เพราะจุดตั้งต้นฐานต่ำในไตรมาส 4 ปีที่แล้วและมาตรการภาครัฐเข้ามาเสริมอีกด้วย และเป็นไปได้ว่า ภาคส่งออกอาจจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่คาดไว้เช่นกัน

ตลาดปรับมุมมอง คาดกนง. เริ่มลดดอกเบี้ยเม.ย.

ส่วนความไม่แน่นอนในทางลบคือ เศรษฐกิจจีนอาจจะฟื้นตัวล่าช้า ซึ่งได้รับผลกระทบซ้ำเติมจากความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกชะลอลงด้วย ทำให้การส่งออกไทยอาจจะช้าลงและปัญหาเชิงโครงสร้างอาจทำให้ไทยได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกน้อยกว่าที่คาด

 อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากวิกฤติโควิดในรอบนี้ช้าและใกล้เคียงช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ซึ่งมีทั้งปัจจัยภายนอก ปัจจัยพิเศษเฉพาะและปัจจัยเชิงโครงสร้าง ขณะนี้ี้เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ปัจจัยเชิงวัฎจักรเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจฟื้นได้ต่อเนื่อง แต่ฟื้นตัวในอัตราที่ช้ากว่ามองไว้ เพราะมีปัจจัยเชิงโครงสร้างฉุดรั้งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

 ยกตัวอย่าง ปีที่แล้วนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 17 ล้านคนจากปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นแรงส่งจากปัจจัยเชิงวัฎจักร แต่ภายใต้โครงสร้างที่ไม่แข็งแรงเช่นเดียวกับการส่งออก แรงส่งเชิงวัฎจักรอาจมาช้าหรือไม่มา ตอนนี้ความสามารถในการขยายตัวช้ากว่าต่างประเทศส่วนหนึ่งเป็นเรื่องสถานะของงบดุลของหนี้ที่สูงด้วย

 “มีความไม่แน่นอนที่ถกเกียงกันในแง่จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามา 28 ล้านคนตามที่ได้ประเมินไว้ แต่ทำไมไม่มีเม็ดเงินที่ควรจะเป็น ซึ่งไม่แน่ในว่า เป็นการเปลี่ยนองค์ประกอบของนักท่องเที่ยวชั่วคราวเฉพาะไตรมาส 4 ปีที่แล้วหรือถาวร ถ้าถ้าเป็นปัจจัยที่ถาวรต้องมองระยะยาวแล้วว่า อัตราดอกเบี้ยจุดยืนที่เหมาะสมที่เป็นกลาง ควรจะเป็นระดับเท่าไรหรือเป็นอย่างไร ถ้าเศรษฐกิจศักยภาพแผ่วลงจริงๆ ถ้าเป็นปัจจัยเฉพาะระยะสั้นซึ่งอาจจะกลับมาต้องรอดูไปก่อน”นายปิติกล่าว

 ส่วนความเห็นที่ตรงกัน2 ประเด็นได้แก่ 1.ประเทศไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้างมายาวนานแล้ว ศักยภาพในการขยายตัวของเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง จำเป็นจะต้องมีนโยบายเชิงโครงสร้างที่จะมาช่วยปฎิรูปเศรษฐกิจให้มีศักยภาพสูงขึ้น และ 2.ความสำคัญเสถียรภาพทางการเงิน การสะสางหนี้ที่กำลังเกิดขึ้นต้องดำเนินการต่อไป ไม่ควรจะลดอัตราดอกเบี้ยเยอะๆ เพื่อฉุดกระบวนการดังกล่าว

 ด้านเงินเฟ้อ ถ้าดูตะกร้าเงินเฟ้อกว่า 400 รายการประมาณ 75% ยังมีรายการที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น มีแค่ 25% ที่ราคาปรับลดลง ซึ่งไม่ใช่เป็นการปรับลดลงอย่างถ้วนหน้าของราคาสินค้าในประเทศ ไม่ได้สะท้อนอุปสงค์ที่อ่อนแอ

และไม่ได้เป็นภาวะเงินฝืด หากหักผลของมาตรการด้านพลังงานหรือไม่รวมมาตรการรัฐในปีที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังเป็นบวก

นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน  ธปท.

 ถ้ามองไปข้างหน้าทั้งเงินเฟ้อพื้นฐานและเงินเฟ้อทั่วไปน่าจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น จากผลของฐานที่เริ่มหมดไปหรือราคาอาหารสดที่ปรับเพิ่มจากแอลนิโญที่กระทบต่ออุปทาน เช่น ราคาไข่ไก่ที่ยังสูงโดยเพิ่มขึ้น 20% เมื่อ 2 ปีก่อน และราคาน้ำมันสูงขึ้น 30% ซึ่งกรรมการจับตาการ กระจายตัวของแรงกดดันของราคา ไม่ใช่แค่ตัวเลขรวมของ PCI อย่างเดียว เพราะอยากให้แน่ใจว่า เงินเฟ้อจะไม่กลับมาเป็นภาระซ้ำเติมค่าครองชีพของประชาชน

 “ขณะนี้อุปสงค์ในประเทศขยายตัวค่อนข้างดี การจะใช้นโยบายการเงินไปขยายตัวอุปสงค์ในประเทศที่ขยายตัวดีอยู่แล้ว อาจมีข้อจำกัดในการดูแลการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่มาจากปัจจัยภายนอกและปัจจัยเชิงโครงสร้าง ซึ่งนโยบายอัตราดอกเบี้ยไม่สามารถแก้ไขปัญหาความสามารถในการส่งออกและการผลิตได้ตรงจุด และในแง่ค่าเงินไม่ได้เป็นกลไกที่จะมาช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของการส่งออกได้แบบยั่งยืน” นายปิติิ กล่าวทิ้งท้าย

 

ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,965 วันที่ 11 - 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567