ธุรกิจเช่าซื้อแข่งเดือด หนี้ครัวเรือนพุ่ง ยอดยึดรถทะยาน 2.5 แสนคัน

06 ก.พ. 2567 | 10:45 น.

สมาคมเช่าซื้อไทยชี้ สินเชื่อเช่าชื้อยังแข่งเดือด ความต้องการซื้อ ทั้งรถสันดาป-EV จับตาเศรษฐกิจ หนี้ครัวเรือน กดดันรถยึดปี 66 เพิ่ม 20% แตะ 2.5 แสนคัน จากสิ้นปี 65 อยู่ที่ 2 แสนคัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า แนวโน้มความต้องการสินเชื่อเช่าซื้อในระบบธนาคารพาณิชย์ปี 2567 จะเติบโตในอัตรา 1-2% ยอดคงค้างสินเชื่อจำนวน 1.202-1.214 ล้านล้านบาทจากปี 2566 อยู่ที่ 1.190 ล้านล้านบาทเติบโตที่ 0.5% และปี 2565 อยู่ที่ 1.155 ล้านล้านบาทเติบโต 0.4%

ขณะที่สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ไทยคาดว่า จะเติบโตในกรอบ 2.5-3.5% โดยในส่วนของสินเชื่อรายย่อย จะยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยเรื่องรายได้ของภาคครัวเรือนและกำลังซื้อที่ยังไม่กลับมาเป็นปกติ ประกอบกับสถาบันการเงินยังระมัดระวังความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกหนี้และอยู่ระหว่างแก้ไขปัญหาคุณภาพหนี้ของสินเชื่อรายย่อยบางประเภท เช่น สินเชื่อในกลุ่มเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน

ธุรกิจเช่าซื้อแข่งเดือด หนี้ครัวเรือนพุ่ง ยอดยึดรถทะยาน 2.5 แสนคัน

นายศรัณย์ ทองธรรมชาติ นายกสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยปี 2567 จะกลับคืนสู่สภาวะปกติอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยสินเชื่อเช่าซื้อมีปริมาณ 90% ของยอดขายรถยนต์อีก 10% จะเป็นอัตราการซื้อสด ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าบริษัทขนาดใหญ่ หรือหน่วยงานภาครัฐที่ซื้อด้วยเงินสดจากงบประมาณรัฐ ซึ่งปีนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์ ตั้งเป้ายอดขายรถยนต์ประมาณ 7.5 แสนคัน มากกว่ายอดขายจริงเล็กน้อย

นายศรัณย์ ทองธรรมชาติ นายกสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย

“ช่วงต้นปีตลาดเช่าซื้อรถยนต์จะยังทรงตัว เพราะมีอานิสงส์จากงานมอเตอร์โชว์เมื่อปลายปีก่อนที่ทำยอดขายทะลุ 5 หมื่นคัน สูงสุดในรอบหลายๆปี ตั้งแต่จัดงานมา ซึ่งช่วยกระตุ้นตลาดได้ใน 2-3 เดือน ส่วนปีนี้ คาดว่าสินเชื่อเช่าซื้อจะเติบโตในกรอบ 5-10%” นายศรันย์กล่าว

ส่วนภาพรวมของตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ทั้งสถาบันการเงินและไฟแนนซ์แข่งขันกันปล่อยสินเชื่อ แม้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ( EV) จะเข้ามาทำตลาดมากขึ้น แต่ความต้องการซื้อรถสันดาปหรือรถน้ำมันจะยังคงมีอยู่ ทำให้แนวโน้มรถ EV น่าจะมีส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ไม่เกิน 30%

ขณะที่อัตราการปฏิเสธการปล่อยสินเชื่อ (Rejecttion Rate) แนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในส่วนของรถยนต์ใหม่อยู่ที่ 15-20% จากเดิมอยู่ที่ 5% และรถเก่าอยู่ที่ 30% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากกระแสคืนรถจบหนี้ ทำให้สถาบันการเงินระมัดระวังในการให้สินเชื่อ ถ้าผู้ซื้อรายใหม่ ไม่มีเจตนาซื้อใช้จริงๆ หรือมีเงินดาวน์ไม่ครบถ้วนตามข้อเสนอของสถาบันการเงินแล้ว การอนุมัติสินเชื่อจะค่อนข้างยาก

ส่วนแนวโน้มการขาดทุนจากรถยึดนั้น ส่วนตัวยังมองว่า สถาบันการเงินและไฟแนนซ์ สามารถบริหารจัดการได้ โดยรวมธุรกิจเช่าซื้อยังกำไรดีอยู่ เพียงแต่กำไรน้อยลงเท่านั้น

แหล่งข่าวในวงการตลาดเช่าซื้อรถยนต์กล่าวว่า ตลาดรถยนต์มือสองปีนี้ จะเป็นโอกาสของผู้ซื้อที่สามารถซื้อรถยุโรปได้ในราคารถญี่ปุ่น ส่วนรถเล็ก กลุ่ม ECO ยังขายดี รถไฟฟ้ายังมีน้อยในกลุ่มนี้และไม่มีผลกระทบมากนัก เพราะรถ ECO ใช้น้ำมันน้อย 

ด้านปริมาณรถยึดปี 2566 สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทยอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลจากสมาชิกเบื้องต้นคาดว่า มีรถเข้าสู่ลานประมูล 2.5 แสนคันเพิ่มขึ้น 20% จากปี 2565 อยู่ที่ 84,693 คันคิดเป็น 12.58% ของยอดขายรถยนต์ โดยในจำนวนนี้ยังไม่รวมรถที่ลูกค้าคืนหรือค้างอยู่ในคดีมูลฐานความผิดตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และ ปปส.อีกราว 4 หมื่นคัน ซึ่งโดยรวมรถที่เข้าสู่ลานประมูลน่าจะอยู่ที่ 1.4-1.5 แสนคัน แต่ถ้ารวมรถที่ผ่านบริษัทประมูลจะมีประมาณ 2 แสนคันในปี 2565

“สัญญาณเศรษฐกิจไม่ค่อยดีและปัญหาหนี้ครัวเรือนยังสูง ส่วนหนึ่งลูกค้าที่ผ่อนไม่ไหวเลือกจะคืนรถ ส่งผลให้รถเข้าสู่ลานประมูลสูง ผลกระทบปีนี้ไฟแนนซ์หรือแบงก์ขาดทุนจากการรถยึด ทำให้กำไรน้อยลง แต่เมื่อเทียบปริมาณรถที่ให้สินเชื่อถือว่า ปริมาณรถยึดไม่สูงมากราว 3% ซึ่งในอดีตที่หนี้เสียสูงมากกว่า 10%” แหล่งข่าวกล่าว

“ฐานเศรษฐกิจ” พิจารณาจากยอดคงค้างสินเชื่อ การซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์เฉพาะ 5 ธนาคารพาณิชย์ จดทะเบียน ณ สิ้นปี 2566 พบว่า มีจำนวน 1,308,051 ล้านบาทลดลง 1,496 ล้านบาทหรือ คิดเป็นหดตัว -0.11% จาก 1,309,547 ล้านบาท เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปี 2565 นำโดยธนาคารกรุงศรีอยุธยา ยอดปล่อยสินเชื่อเพิ่ม 4.2% เกียรตินาคินภัทร 0.9% ทีทีบี 0.19% ไทยพาณิชย์หดตัว -8.6% และทิสโก้หดตัว -3.1%

เมื่อพิจารณาในรายละเอียดพบว่า ธนาคารทิสโก้ ในส่วนของสินเชื่อเช่าซื้อ ณ สิ้นปี 2566 มียอดคงค้าง 106,851.35 ล้านบาทลดลง 3.1% จากปีก่อนหน้า จากสินเชื่อเช่าซื้อรถใหม่ ซึ่งลดลง 5.9% ตามนโยบายการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง ในภาวะที่ตลาดมีการมีความแข่งขันรุนแรง แต่จำนำทะเบียน 41,719.93 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.8% จาก 36,348.09 ล้านบาท

ขณะที่สินเชื่อจำนำทะเบียนหรือ Auto Cash มีจำนวน 41,719.93 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.8% จากปีก่อน ตามแผนการขยายสินเชื่อที่มีผลตอบแทนในระดับสูง และการขยายเครือข่ายสาขา โดยเฉพาะการขยายตัวของสินเชื่อจำนำทะเบียนผ่านช่องทางสาขา “สมหวังเงินสั่งได้” ซึ่งเติบโตถึง 25.7% จากปีก่อนหน้า รวมมีจำนวน 28,387.78 ล้านบาทคิดเป็น 68%ของสินเชื่อจำนำทะเบียนทั้งหมด โดยบริษัทขยายสาขา สำนักอำนวยสินเชื่อ “สมหวังเงินสั่งได้” เพิ่มขึ้น 195 สาขา รวมทั้งสิ้น 645 สาขาทั่วประเทศ

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,963 วันที่ 4 - 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567