แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท รัฐบาลต้องแลกกับอะไรบ้าง

18 ม.ค. 2567 | 09:18 น.

จับตา การจัดทำพ.ร.บ.งบฯ 2568 หลังครม.ไฟเขียว กรอบงบรายจ่าย 3.6 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.2 แสนล้านบาท จะดึงเงินมาใช้ในโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาทได้หรือไม่ เพราะเกือบ 80% เป็นงบประจำและอีก 20% เป็นงบลงทุน

KEY

POINTS

  • หนังสือตอบกลับกฤษฎีกา ระบุ ออกพ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท “ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของพ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ ต้องจำเป็นเร่งด่วน แก้ไขวิกฤตประเทศ
  • มีกระแสข่าว รัฐบาลอาจต้องพับแผนการออกพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)เงินกู้ 5 แสนล้านบาท แล้วหันมาใช้เงินในงบประมาณ ประจำปี 2568 พร้อมลดวงเงินเหลือ 3 แสนล้านบาท 
  • ครม.อนุมัติกรอบงบประมาณประจำปี 2568 ภายใต้วงเงินงบประมาณรายจ่าย 3.6 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.6% จากวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่ 3.48 ล้านล้านบาท 

การนำเสนอกรอบงบประมาณประจำปี 2568 ต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2566 ภายใต้วงเงินงบประมาณรายจ่าย 3.6 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.6% จากวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่ 3.48 ล้านล้านบาท กำลังเป็นที่จับตาว่า รัฐบาลจะสามารถบริหารจัดการเงินงบมาประมาณมาใช้ในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ได้หรือไม่

หลังเกิดกระแสข่าวว่า ในที่สุดรัฐบาลอาจต้องพับแผนการออกพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)เงินกู้ 5 แสนล้านบาท หลังจากได้รับหนังสือตอบกลับของคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 12  เพราะหนังสือตอบกลับของคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ไม่ได้เปิดไฟเขียวให้กู้เงินได้ หรือปิดไฟแดง ล้มแผนการกู้เงินไปเลย แต่ก็มีโจทย์ให้รัฐบาลต้องไปแก้ และกลายเป็นตัวล็อกสำคัญที่จะทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องถอย 

ทั้งนี้ ในวรรคสุดท้ายของหนังสือคือ “ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 เช่น ต้องจำเป็นเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง แก้ไขวิกฤตของประเทศ หรือต้องเป็นไปตาม มาตรา 53 มาตรา 57 มาตรา 6 มาตรา 7 และมาตรา 9 ของพ.ร.บ.วินนัยการเงินการคลังของรัฐ

สำหรับมาตรา 6 บัญญัติว่า รัฐต้องดำเนินนโยบายการคลัง การจัดทำงบประมาณ การจัดหารายได้ การใช้จ่าย การบริหารการเงินการคลัง และการก่อหนี้ อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใสและตรวจสอบได้

แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท  รัฐบาลต้องแลกกับอะไรบ้าง

ขณะที่มาตรา 7 บัญญัติว่า การกู้เงิน การลงทุน การตรากฎหมาย การออกกฎ หรือการดำเนินการใดๆ ของรัฐที่มีผลผูกพันทรัพย์สินหรือก่อให้เกิดภาระทางการเงินการคลังแก่รัฐ ต้องพิจารณาความคุ้มค่า ต้นทุน และผลประโยชน์ เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐด้วย

ส่วนมาตรา 9 บัญญัติว่า คณะรัฐมนตรีต้องรักษาวินัยในกิจการที่เกี่ยวกับเงินแผ่นดินตามพระราชบัญญัตินี้อย่างเคร่งครัด ในการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายการคลัง การจัดทำงบประมาณ การจัดหารายได้ การใช้จ่าย การบริหารการเงินการคลัง และการก่อหนี้

รวมถึงความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐอย่างรอบคอบ คณะรัฐมนตรีต้องไม่บริหารราชการแผ่นดินโดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจจองประเทศและประชาชนในระยะยาว

มาตรา 53 ระบุว่า การกู้เงินของรัฐบาลนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะและเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน

กฎหมายที่ตราขึ้นตามวรรคหนึ่ง ต้องระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลาในการกู้เงิน แผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ และหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้นั้น เงินที่ได้รับจากการกู้เงินตามวรรคหนึ่ง ให้กระทรวงการคลังเก็บรักษาไว้เพื่อให้หน่วยงาจของรัฐเบิกไปใช้จ่ายตามแผนงานหรือโครงการตามที่กฎหมายกำหนดได้โดยไม่ต้องนำส่งคลัง เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น 

ส่วนมาตรา 57 บัญญัติว่า การกู้เงินตามมาตรา 53 และมาตรา 56 จะกระทำได้แต่เฉพาะเพื่อใช้จ่ายตามแผนงานหรือโครงการที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจหรือสังคม และเมื่อหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นเจ้าของแผนงานหรือโครงการมีความพร้อมที่จะดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการมีความพร้อมที่จะดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการที่จะใช้จ่ายเงินกู้นั้นแล้ว

“หากสามารถตอบเงื่อนทั้งหมดได้ ก็สามารถออกเป็น พ.ร.บ.ได้ แต่ถ้าไม่ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายก็ไม่สามารถดำเนินการได้” แม้รัฐบาลจะสามารถตอบเงื่อนไขได้ทั้งหมด ก็ยังเหลืออีกหลายด่านที่ต้องเจอ ทั้งคณะกรรมการป้องกันและปราปรามการทุจจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และศาลรัฐธรรมนูญ

รัฐบาลจึงต้องก้มหน้ากลับมาหางบประมาณปกติที่นำเสนอคณะรัฐมนตรี และจะเข้าสู่กระบวนการจัดทำในเดือนพฤษภาคม พร้อมจะปรับลดวงเงินเหลือ 3 แสนล้านบาท แต่ก็ถือว่า ยังเป็นวงเงินที่สูงมากทีเดียว ขณะที่เม็ดเงินงบประมาณที่เพิ่มขึ้นเพียง 1.2 แสนล้านบาทเท่านั้น ขณะที่กรอบงบประมาณเกือบ 80% เป็นงบประจำ และอีก 20% เป็นงบลงทุน 

หากจะต้องใช้ถึง 3 แสนล้านบาท รัฐบาลจะต้องแลกกับงบลงทุน ก็จะต้องถูกเบียดบังไป หรือที่สุด ต้องหันมาตัดงบประจำหรือไม่ เป็นต้องที่ต้องติดตาม

หน้า 8  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,957 วันที่ 14 - 17 มกราคม พ.ศ. 2567