"กกร."จ่อถกปมร้อนดอกเบี้ยแพง-กำไรแบงก์พุ่งกว่า 2.2 แสนล้าน

09 ม.ค. 2567 | 00:39 น.

"กกร."จ่อถกปมร้อนดอกเบี้ยแพง-กำไรแบงก์พุ่งกว่า 2.2 แสนล้าน ประธานส.อ.ท.ชี้ต้องมอง 2 มุมทั้งของธปท. และสถาบันการเงิน เชื่อไม่มีทางลดดอกเบี้ยก่อนสหรัฐ ระบุเอกชนหวังต้นทุนทางการเงินถูกลงปีนี้

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงประเด็นเรื่องของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย และกำไรของสถาบันการเงินที่อยู่ในระดับสูง ว่า จะมีการหารือเรื่องดังกล่าวในการประชุมคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน หรือกกร. ซึ่งประกอบด้วยส.อ.ท. ,สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทยวันที่ 10 ม.ค. 67 นี้ 

อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องอัตราดอกเบี้ยต้องการให้มอง 2 มุมมากว่า โดยในมุมของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มีหน้าที่กำกับดูแลอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 2.5% ก็คงจะมีเหตุผลในการปรับขึ้น เนื่องจากขณะนั้นรัฐบาลสหรัฐมีการใช้มาตรการ QE หรือการพิมพ์ธนบัตรออกมา เพื่ออัดฉีดเข้าสู่ระบบ

รวมถึงมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายแนวทาง จนทำให้ประชาชนชาวสหรัฐแม้ไม่ได้ทำงาน แต่ยังมีเงินอย่างเหลือเฟือ ทำให้มีการใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก เงินเฟ้อของสหรัฐสูง และต้องสู้กับเงินเฟ้อของไทยด้วย

ส่วนประเด็นที่มีการระบุถึงกำไรของสถาบันการเงินที่สูงกว่า 2.2 แสนล้านบาทนั้น เป็นผลมาจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งเป็นรายได้ค่อนข้างสูง แต่อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก เป็นต้นทุนค่อนข้างต่ำ จึงส่งผลทำให้มองว่า มีกำไรมาก 

ถ้ามองในมุมเอกชน  หรือผู้ประกอบการต้องการให้ต้นทุนทางการเงินลดลงอยู่แล้ว โดยหวังว่าปี 67 ไทยจะมีแนวโน้มดอกเบี้ยในทิศทางขาลง เพราะสหรัฐเองก็ระบุชัดเจนว่า หมดยุคของดอกเบี้ยขาขึ้น และจะมีการลดลง 3 ครั้งปีนี้ แต่ไม่ได้ระบุเวลา เพราะเงินเฟ้อสหรัฐฯอยู่ที่ 3% กว่า ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องการคือ 2% แต่ก็จะมีการชะลอลดดอกเบี้ยลง

"เชื่อว่า ธปท. คงไม่ลดดอกเบี้ยก่อนสหรัฐ เพราะช่วงเวลาที่ปรับขึ้น ธปท.เองมีการอดูท่าทีก่อนค่อยปรับตาม โดยธปท.หรือผู้ที่เกี่ยวข้องคงรอดูสถานการณ์ก่อนว่า เมื่อสหรัฐลดแล้วสถานการณ์จะเป็นอย่างไร"

 

นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า ปี 67 ผู้ประกอบการต้องการให้ต้นทุนลดลง ซึ่งจะรวมไปถึงราคาน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติที่ไทยต้องนำเข้าราคาจะไม่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงกลุ่มที่นำเข้าวัตถุดิบจะไม่ได้รับผลกระทบจากกรณีข้อพิพามจากอิสราเอลกับฮามาส และยังมีประเด็นเรื่องของทะเลแดงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย หากไม่เกิดปัญหาต้นทุนก็เชื่อว่ายังพอไปได้

แต่หากเกิดมีสงครามในภูมิภาคก็จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น โดยดอกเบี้ยก็เป็นต้นทุนทางการเงิน หากลดลงได้ผู้ประกอบการก็จะผ่อนคลายลง โดยเฉพาะผู้กู้ นอกจากนี้ ในปีนี้ไทยยังต้องเจอสถานการณ์เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะปรับขึ้นแน่ แต่ยังไม่รู้ว่าจะเท่าไหร่ โดยถือว่าเป็นต้นทุน

สุดท้ายเรื่องของค่าไฟที่ปัจจุบันอยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย แต่จะมีการปรับขึ้นแน่นอน แม้ว่าจะไม่เกิน 4.20 บาทต่อหน่วย ประเด็นเหล่านี้แม้จะเล็กน้อย แต่เมื่อนำมารวมกันก็จะส่งผลทำให้ต้นทุนผู้ประกอการเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน