ส่องผลประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ขุมทรัพย์มูลค่าหลายล้านล้านบาท

08 ม.ค. 2567 | 08:12 น.
อัพเดตล่าสุด :08 ม.ค. 2567 | 08:54 น.

ส่องผลประโยชน์พื้นที่"OCA" ที่ไทยจะได้ ขุมทรัพย์มูลค่าหลายล้านล้านบาท หลังไทยเตรียมหารือกับฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่มีกำหนดการจะเดินทางเยือนประเทศไทยวันที่ 7 ก.พ.67

พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา (overlapping claims areas – OCA) เป็นหนึ่งประเด็นสำคัญที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจะหารือกับนายฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่มีกำหนดการจะเดินทางเยือนประเทศไทย ในวันที่ 7 ก.พ.67

นายเศรษฐา ระบุว่า ขณะนี้เรานั่งบนขุมทรัพย์มูลค่าหลายล้านล้านบาท ควรจะพูดคุยตกลงกันได้ เพราะจะช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั้ง 2 ประเทศ ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชนได้ 

ต่อเรื่องดังกล่าวดร.คุรุจิต นาครทรรพ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นการเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชากับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เห็นด้วยที่ไทยจะดำเนินการเจรจาเรื่องดังกล่าวให้เกิดความชัดเจน

ทั้งนี้ มองว่าการเจรจาดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์กับไทยหลายด้าน ประกอบด้วย
 

  • มีโอกาสที่จะดำเนินงานสำรวจ และแสวงหาแหล่งปิโตรเลียมเพื่อเป็นแหล่งเชื้อเพลิงพลังงานที่สำคัญของประเทศชาติต่อไป
  • ทำให้ไทยไม่ต้องพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ เนื่องจากมีทรัพยากรอยู่ใกล้ตัว
  • มีโอกาสพบแหล่งก๊าซธรรมชาติที่จะมาตเมเต็มปริมาณก๊าซฯสำรองของประเทศที่ลดลง
  • ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในอาเซียนดีขึ้น มีการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน

ส่องผลประโยชน์พื้นที่"OCA" ที่ไทยจะได้ ขุมทรัพย์มูลค่าหลายล้านล้านบาท

ศาสตราจารย์พรายพล  คุ้มทรัพย์  นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ระบุว่า หากมีทรัพยากรทางด้านปิโตรเลียมอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ไทยก็จะได้ส่วนแบ่งอย่างน้อยครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศอย่างแน่นอน เหมือนข้อตกลงที่ไทยเคยทำกับประเทศมาเลเซีนกรณีมีพื้นที่ทับซ้อน 

ทั้งนี้ เชื่อว่าพื้นที่ดังกล่าวจะมีก๊าซธรรมชาติที่จะถูกนำมาใช้ได้ โดยหากถามถึงมูลค่าของผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น คงยังสามารถระบุ หรือประเมินได้อย่างชัดเจน เพราะยังไม่ได้มีการสำรวจอย่างเป็นทางการ 

แต่จากลักษณะทางธรรีวิทยาที่รับทราบในเขตทะเลอ่าวไทยของประเทศไทย เชื่อว่าจะต้องพบก๊าซธรรมชาติบ้างไม่มากก็น้อย แต่จะปริมาณเท่าไหร่คงไม่มีใครตอบได้เวลานี้

"ส่วนคำถามว่ามีก๊าซธรรมชาติไหม ตอบได้เลยว่ามี และน่าจะเป็นเชิงพาณิชย์ แต่จะใหญ่โตมากน้อยแค่ไหนไม่มีผู้ใดทราบจนกว่าจะได้สำรวจ"

อย่างไรก็ตาม หากสามารถนำก๊าซธรรมชาติจากแหล่งดังกล่าวมาใช้ได้ เชื่อว่าจะส่งผลทำให้ค่าไฟในประเทศถูกลงอย่างแน่นอน เพราะราคาย่อมถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศ นอกจากนี้ ไทยยังจะได้รับค่าภาคหลวง ภาษีปิโตรเลียม ซึ่งจะนำมาสู่รายได้ของรัฐ โดยมีแต่ผลดีถ้าสำรวจแล้วพบก๊าซธรรมชาติอย่างที่หวัง

"ตนให้การสนับสนุนให้มีการเจรจาให้ชัดเจนมากว่า 10 ปีแล้ว แต่ที่ผ่านมาก็เจรจาไม่ได้ โดยมีปัจจัยอุปสรรคส่วนใหญ่มาจากเรื่องการเมือง และผลประโยชน์ เป็นต้น แต่เขื่อว่าเวลานี้กัมพาเองก็ต้องการก๊าซธรรชาติ หากเจรจากันได้ก็ถือว่าเป็นผลประโยชน์ร่วมกันทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และพลังงาน" 

แหล่งข่าวระบุว่า พื้นที่ที่ OCA ดีงกล่าวเป็นพื้นที่กว่า 26,000 ตารางกิโลเมตร ที่เชื่อกันโดยทั่วไปว่าใต้พื้นพิภพใต้บาดาลนั้นจะมีก๊าซธรรมชาติอยู่ในปริมาณ 11 ล้านล้านคิวบิกฟุตหรือคิดเป็นมูลค่าในราคาปัจจุบัน 3.5 ล้านล้านบาท และน้ำมันอีก 500 ล้านบาเรล คิดเป็นมูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท 

ที่ผ่านมาการเจรจา OCA ไทย- กัมพูชา ดำเนินการภายใต้กรอบเอ็มโอยู 2544 ผ่านคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ไทย-กัมพูชา  ซึ่งคณะกรรมการฝ่ายไทย ปัจจุบันมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล ทำให้ต้องมีการตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ เพื่อเป็นตัวแทนฝ่ายไทยไปเจรจากับฝ่ายกัมพูชา

โดยปัญหาของพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชานั้น เกิดขึ้นจากการที่กัมพูชาชิงประกาศเขตไหล่ทวีปในอ่าวไทย เมื่อปี 2515 ก่อนที่ไทยจะประกาศในปี 2516 ซึ่งต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ   โดยต่างขีดเส้นล้ำเข้ามาทับเส้นของอีกฝ่าย ทำให้เกิดเป็นพื้นที่ทับซ้อนกันกว่า 26,000 ตร.กม. ซึ่งเมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้น สิทธิสัมปทานที่ทั้งไทยกับกัมพูชาให้กับบริษัทเอกชนด้านสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จึงยังไม่มีใครสามารถเข้าไปดำเนินกิจกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้

ทั้งนี้พื้นที่ OCA ไทย-กัมพูชา มีความสำคัญเพราะลักษณะโครงสร้างทางธรณีวิทยาเป็นแอ่งที่เรียกว่า Pattani Basin ซึ่งเชื่อว่ามีศักยภาพที่จะสำรวจพบแหล่งก๊าซธรรมชาติ และแหล่งน้ำมันดิบในปริมาณสำรองไม่น้อยไปกว่าที่สำรวจพบมาแล้วในเขตทางทะเลฝั่งไทย โดยพื้นที่ในส่วนทางใต้ของ OCA นั้น ติดกับแหล่งเอราวัณ ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติแห่งแรกของไทย ที่ปัจจุบันแม้จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานแล้ว ก็ยังคงมีปริมาณสำรองเหลือพอผลิตต่อไปได้อีก 10 ปีภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิต

สำหรับบันทึกความเข้าใจว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยกับกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ที่ลงนามโดย ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย กับนาย ซก อัน รัฐมนตรีอาวุโสประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ในขณะนั้นเรียกว่า เอ็มโอยู 2544 ( MOU 2001 ) มีสาระสำคัญ 5 ประเด็น โดยสรุปได้ว่า ให้มีการกำหนดพื้นที่ที่จะมีการพัฒนาทรัพยากรปิโตรเลียมร่วมกัน การกำหนดพื้นที่ที่จะมีการแบ่งเขตพื้นที่ไหล่ทวีปและเขตเศรษฐกิจจำเพาะทางทะเล โดยทั้งการกำหนดเขตแดนและการพัฒนาพื้นที่ร่วมกันนั้นจะต้องดำเนินการทำข้อตกลงไปด้วยกันไม่สามารถแบ่งแยกได้ ( Indivisible package )และ มีการตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค ( Joint Technical Committee -JTC ) ไทย-กัมพูชา เป็นกลไกในการเจรจา

สำหรับกลไกในการเจรจาแก้ไขปัญหา OCA ภายใต้ JTC ไทย-กัมพูชา จะมีคณะอนุกรรมการร่วมด้านเทคนิค (Sub-JTC) ฝ่ายไทย ที่มีรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งมีคณะทำงานย่อยอีก 2 คณะ คือ คณะทำงานว่าด้วยการกำหนดพื้นที่พัฒนาร่วมทางทะเล มีอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายเป็นหัวหน้าคณะ และคณะทำงานเกี่ยวกับระบอบพัฒนาร่วม มีอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเป็นหัวหน้าคณะ

โดยสถานะการเจรจานับตั้งแต่ที่ลงนามใน MOU 2544 คณะกรรมการร่วม JTC มีการจัดประชุมไป 2 ครั้ง  หารืออย่างไม่เป็นทางการของประธานJTC ฝ่ายไทยและกัมพูชา 4 ครั้ง Sub-JTC ประชุม 2 ครั้ง

การประชุมคณะทำงานชุดที่มีอธิบดีกรมสนธิสัญญาฯ เป็นหัวหน้าคณะ 1 ครั้ง และชุดที่มีอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเป็นหัวหน้าคณะ ประชุม 6 ครั้ง