หนี้โลกทุบสถิติใหม่ที่ 307 ล้านล้านดอลลาร์! 80% เป็นของชาติมหาอำนาจ

26 ก.ย. 2566 | 23:58 น.

สถาบันการเงินระหว่างประเทศ (IIF) เปิดเผยว่าปริมาณหนี้สินทั่วโลกทำสถิติใหม่ที่ 307 ล้านล้านดอลลาร์ ในไตรมาส 2 ของปีนี้ และคาดว่าสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีโลกจะพุ่งทะลุ 337% ภายในช่วงสิ้นปี

 

รายงานของ สถาบันการเงินระหว่างประเทศ หรือ IIF ที่เผยแพร่ล่าสุดเดือนกันยายนนี้ ระบุว่า หนี้ทั่วโลก ที่ปรับสูงขึ้น ได้ทำให้ สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพี เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกันที่ระดับ 336% จากที่ก่อนหน้านี้ระดับหนี้ต่อจีดีพีลดลงมา 7 ไตรมาสรวด

ทั้งนี้ IIF คาดว่าระดับหนี้ต่อจีดีพีจะทะยานทะลุ 337% ภายในช่วงปลายปี 2566 

และเมื่อมองเป็นรายประเทศ จะพบว่า มากกว่า 80% ของหนี้โลก มาจากประเทศพัฒนาแล้ว อย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อังกฤษ และฝรั่งเศส ที่มีระดับหนี้เพิ่มขึ้นสูงสุด ส่วนจีน อินเดีย และบราซิล นำทีมประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่มีก่อหนี้เพิ่มขึ้นสูงสุด

ในรายงานของ IIF ยังไม่ได้คำนวณผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของระบบธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในกรอบ 5.25%-5.5% ต่อไปอย่างน้อยจนถึงเดือนพฤษภาคมปีหน้า (2567) และอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปอีกนานสำหรับสหรัฐอเมริกา

ยูเอ็นเตือนหนี้สาธารณะประเทศกำลังพัฒนาเข้าขั้นวิกฤต

กลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สหประชาชาติ (ยูเอ็น)ได้ออกโรงเตือนว่า เกือบ 40% ของประเทศกำลังพัฒนาอยู่ในภาวะหนี้ขั้นวิกฤต ซึ่งที่กล่าวมานี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ระดับหนี้สาธารณะทั่วโลกแตะระดับสูงสุดทำสถิติที่ 92 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อปี 2565 (แต่ปัจจุบัน หนี้สาธารณะทั่วโลกได้ทุบสถิติใหม่ ที่ระดับ 307 ล้านล้านดอลลาร์เรียบร้อยแล้ว)

นายอันโตนิโอ กูเทอเรซ เลขาธิการใหญ่ยูเอ็น กล่าวกับผู้สื่อข่าวในระหว่างการเปิดตัวรายงาน A World of Debt เมื่อเดือนก.ค.ว่า “ประชากรราว 3.3 ล้านล้านคน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของมวลมนุษยชาติ อาศัยอยู่ในประเทศที่ใช้ชำระหนี้กู้ยืมขนานใหญ่มากกว่าทุ่มงบประมาณไปกับการศึกษาหรือสาธารณสุข”

รายงานของยูเอ็นฉบับนี้ ชี้ว่า ประเทศกำลังพัฒนา 59 ประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับระดับหนี้ต่อจีดีพีที่ 60% หรือสูงกว่านั้น เพิ่มจาก 22 ประเทศเมื่อปี 2554 ซึ่งเลขาฯ ยูเอ็นระบุว่า ประเทศกำลังพัฒนามีระดับหนี้สาธารณะน้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้วก็จริง แต่กลับมีต้นทุนที่ต้องจ่ายชำระคืนในสัดส่วนที่สูงกว่า “โดยเฉลี่ยแล้วประเทศในแอฟริกาต้องชำระหนี้มากกว่าสหรัฐถึง 4 เท่า และมากกว่ากลุ่มประเทศร่ำรวยในยุโรปถึง 8 เท่าตัว”

กูเทอเรซ กล่าวด้วยว่าระดับหนี้ภาครัฐเป็นเครื่องมือด้านการเงินที่สำคัญ ที่จะสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาและช่วยรัฐบาลในการปกป้องและลงทุนกับประชาชนของพวกเขาได้ “แต่เมื่อประเทศทั้งหลายถูกบีบให้ต้องกู้ยืมเพื่อความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ ภาระหนี้กลายเป็นกับดักที่สร้างหนี้ขึ้นมาเพิ่มอีกเรื่อย ๆ ”

เลขาธิการใหญ่ยูเอ็น ยังได้แนะนำให้นานาประเทศสร้างเครื่องมือบริหารจัดการหนี้ที่สนับสนุนระบบการพักชำระ เงื่อนไขการกู้ยืมที่นานขึ้น และอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมต่ำ ให้กับกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางที่เปราะบาง