การลงทุนเอกชน ผลสะท้อนเสถียรภาพรัฐบาล

06 ส.ค. 2566 | 05:41 น.

การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า ไม่เพียงกระทบงบประมาณ โดยเฉพาะงบลงทุน แต่ยังมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่น โดยเฉพาะเม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ที่จะซ้ำเติมการลงทุนเอกชน ที่ขยายตัวต่ำอยู่แล้ว และต่ำลงอีก

ความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาล หลายคนอาจจะโฟกัสไปที่เรื่องงบประมาณ โดยเฉพาะงบลงทุนเกือบ 7 แสนล้านบาท ที่อาจจะชะลอออกไป ซึ่งจะกระทบต่อเม็ดเงินลงทุนรัฐวิสาหกิจ ดังนั้นสิ่งที่หลายฝ่ายต้องการเห็นในขณะนี้ การจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็ว เพื่อรักษาการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ระดับ 3-3.5% ไว้ให้ได้และขยายตัวต่อเนื่องที่ 3.5-4% ในปี 2567

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)คาดการณ์ว่า หากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า 6 เดือน จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ 0.05% แต่หากล่าช้าออกไป 9 เดือน มีผลต่อเศรษฐกิจเพียง 0.07% และผลกระทบจากการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ล่าช้า จะทำให้การบริโภคภาครัฐปี 2566 หดตัวที่ -2.1% จ ากปีก่อนที่ขยายตัว 0.2% ขณะที่การลงทุนภาครัฐคาดว่า จะขยายตัวที่ 2.2% จากปีก่อนติดลบ 4.9%

เพราะแม้เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวขึ้นมาได้ หลังได้รับแรงหนุนจากการบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยว แต่ถ้ามองในระยะต่อไปแล้ว ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจาก ประเทศหลักๆอย่าง จีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ และรัสเซีย 

นอกจากนั้นยังมีเรื่อง สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ส่งผลต่อทิศทางเงินเฟ้อในประเทศ  สถานการณ์เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและเศรษฐกิจจีน และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่างๆ เช่น ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน การแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลกและการค้าระหว่างประเทศ

การลงทุนเอกชน ผลสะท้อนเสถียรภาพรัฐบาล

หากปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ถูกผสมโรงจากปัจจัยการเมืองในประเทศ ที่ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้โดยเร็ว สิ่งสำคัญคือ นอกจากจะดึงเม็ดเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจไปจากระบบแล้ว ก็อาจจะทำให้เม็ดเงินลงทุนของต่างชาติหายไปด้วย หากประเทศไม่มีเสถียรภาพจนกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งการลงทุนของภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นจะเป็นตัวกำหนดโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยในอนาคต ซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยและยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยสามารถก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางไปได้ 

อย่างไรก็ตาม หลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 การลงทุนภาคเอกชนของไทยอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง และยังไม่สามารถกลับไปสู่ระดับก่อนวิกฤติได้ ทั้งการขาดแรงดึงดูดในประเทศที่มากพอจะดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติเข้ามาลงทุน แถมมาเจอกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ที่มีแรงดึงดูดเม็ดเงินจากต่างชาติ นอกปัจจัยที่เอื้อแล้วยังมีการเมืองที่มีเสถียรภาพอีกด้วย 

การลงทุนภาคเอกชนที่แท้จริงมีสัดส่วนต่อจีดีพีของประเทศเกือบ 20% แต่ภาพที่ออกมาช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 แม้เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่สำคัญ เดือนพฤษภาคม 2566 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่ขยายตัว และยังขยายตัวทุกตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าแต่หากพิจารณาจาก 5 เดือนปี 2566 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จะเห็นว่าหดตัวทุกตัว ไม่ว่าจะเป็น ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน ดัชนีการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างในประเทศ ยอดจดทะเบียนยานยนต์ใหม่ การนำเข้าสินค้าทุน และพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้าง

ล่าสุดเดือนมิถุนายน 2566 เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนยังชะลอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนเช่นกัน โดยหมวดเครื่องมือเครื่องจักร ซึ่งสะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -17.1% 

ขณะที่การลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ แม้จะเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 3.1% แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ -1.8% และภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 9.4% แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ -2.8%

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,910 วันที่ 3 - 5 สิงหาคม พ.ศ. 2566