แบงก์ไขก๊อก เทหนี้เสียเพิ่มเท่าตัว 1.5 แสนล้านบาท

12 มิ.ย. 2566 | 05:20 น.

AMC ตั้งรับซื้อเอ็นพีแอล 1.5 แสนล้าน เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปีก่อน หลัง 5 เดือนเจ้าหนี้เรียกประมูลแล้ว 8 หมื่นล้านบาท SAM ตั้งเป้าซื้อ 8,000 ล้าน ค่ายลีดเดอร์ กรุ๊ปคาดรายได้ปีนี้แตะ 1,000 ล้าน ฟากสหการประมูลขยายคลังสินค้าสู่ภูมิภาค รับปริมาณรถยึดเพิ่ม

ภาพรวมสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 1 ปี 2566 ที่มียอดคงค้าง 497,952 ล้านบาท ลดลง 33,942 ล้านบาทหรือ 6.38% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มียอดคงค้างทั้งสิ้น 531,894 ล้านบาท สะท้อนการบริหารจัดการทั้งการปรับปรุงโครงสร้างหนี้หรือการขายหนี้ออกไปบางส่วน

นายธรัฐพร เตชะกิจขจร กรรมการผู้จัดการ บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สัญญาณการนำเอ็นพีแอลออกประมูลขายช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 พบว่า สถาบันการเงินเจ้าหนี้เริ่มไขก๊อกออกมามาก เห็นได้จากที่ SAM ได้รับเชิญร่วมประมูลแล้ว 8 หมื่นล้านบาทเท่ากับปีก่อนทั้งปี คาดว่าทั้งปี จะมีเอ็นพีแอลออกประมูลเพิ่มขึ้นเท่าตัวประมาณ 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อเอสเอ็มอี

นายธรัฐพร เตชะกิจขจร กรรมการผู้จัดการ บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.)

 

“เราไม่รับซื้อเพราะมองว่า จะมีออกมาอีก โดยสิ้นเดือนพฤษภาคมเราซื้อไป 1,800 ล้านบาทและทั้งปีตั้งเป้าซื้อ 7,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้มีมูลหนี้คงค้างที่ 3.5 แสนล้านบาทจากปีที่แล้วซื้อไป 5,000 ล้านบาทจากยอดประมูลทั้งปีที่ 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งขณะนี้เศรษฐกิจเริ่มนิ่งและฟื้นตัวได้ เงินเฟ้อแนวโน้มทะยอยปรับลดและภาคธนาคารพาณิชยไทยแข็งแรง ปัจจัยเสี่ยงมีเพียงเรื่องการเมืองเท่านั้น” นายธรัฐพรกล่าว

ส่วนเป้าการขายทรัพย์สินรอการขาย (NPA) อยู่ที่  2,500-3,000 ล้านบาทต่อปีจากมูลค่า NPA 2.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งแนวโน้มโอกาสการขายดีขึ้นจากภาคตะวันออกและภูเก็ตขายได้เพิ่มขึ้น ส่วนครึ่งปีหลังยังมีแคมเปญดอกเบี้ยคงที่ถึงกลางปีหน้า

แบงก์ไขก๊อก เทหนี้เสียเพิ่มเท่าตัว 1.5 แสนล้านบาท

นายเมธ์ ปุ่มเป้า กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีดเดอร์ กรุ๊ป จำกัดในฐานะนายกสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจทวงหนี้ไทยกล่าวว่า ช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ บริษัทมีลูกหนี้ 583,000 ราย มูลหนี้ 57,700 ล้านบาท หากเทียบช่วงเดียวกันปีที่แล้วมีลูกหนี้ 520,000 ราย มูลหนี้อยู่ที่ 49,000 ล้านบาท โดยลูกหนี้เพิ่มขึ้น  63,000 รายหรือ 12.11% มูลหนี้เพิ่มขึ้น 8,700 ล้านบาทคิดเป็น 17.75% 

นายเมธ์ ปุ่มเป้า กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีดเดอร์ กรุ๊ป จำกัด

สำหรับจำนวนรายลูกหนี้ส่วนใหญ่ค้างชำระตั้งแต่ 1 เดือนจนถึงตัดเป็นหนี้สูญ หลักๆเป็นสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ส่วนกลุ่มรถยนต์ทรงตัว ส่วนหนึ่งเพราะข้อจำกัดพนักงาน 1 คน จะดูแลลูกหนี้กลุ่มรถยนต์ 300 รายเท่านั้น ขณะที่สินเชื่อบัตรกับสินเชื่อส่วนบุคคลพนักงานดูแลได้ตั้งแต่ 300-700 บัญชี ปัจจุบันบริษัทจะมีพอร์ตรถยนต์ 36% น้อยกว่าบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีอยู่ 63%

“ภาพรวมการเรียกเก็บหนี้ปีนี้น่าจะโต 15%ต่อปี แบ่งเป็นพอร์ตรับจ้างทวงถามหนี้โต 5% และพอร์ตที่รับซื้อหนี้มาบริหารเองจะเติบโตกว่า 30% ซึ่งเรามีลูกค้ารายใหม่เข้ามาว่าจ้างเพิ่ม โดยตั้งเป้ารายได้ปีนี้ 1,000 ล้านบาทจากปีที่แล้ว 840 ล้านบาท คาดว่า จะมาจากการเรียกเก็บหนี้พอร์ตที่ซื้อมาได้มากขึ้น”

นายเมธ์กล่าวต่อว่า พอร์ตลูกหนี้ที่รับจ้างติดตามทวงถามหนี้นั้น บริษัทจะสนองนโยบายเจ้าหนี้หรือธนาคารผู้ว่าจ้าง ส่วนใหญ่เจ้าหนี้จะมีค่าใช้จ่ายให้บริษัทช่วยปรับโครงสร้างหนี้ช่วยลูกค้าที่ค้างชำระเกิน 3 งวดเพื่อไม่ให้ไหลเป็นเอ็นพีแอล แต่พบว่า กลุ่มรถยนต์เริ่มผิดนัดชำระหลังปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว 6 เดือน ซึ่งส่วนตัวมองว่า เอ็นพีแอลยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการเรียกเก็บหนี้ในส่วนของกลุ่มรถยนต์ การผ่อนชำระไม่ต่อเนื่องเหมือนปีก่อน

นายวรัญญู ศิลา กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท สหการประมูล จำกัด (มหาชน) ระบุว่า การขยายตัวของสินเชื่อรถยนต์ชะลอตัวลงสอดคล้องกับยอดขายรถยนตใหม่ที่ลดลง 6.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2565 แต่โดยรวมในปี 2566 ประมาณการการขยายตัวสินเชื่อและยอดขายรถใหม่ยังมีทิศทางเป็นบวก

ขณะที่สัญญาณเอ็นพีแอลของสินเชื่อรถยนต์มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น หลังจากสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้และปรับโครงสร้างหนี้ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณรถยึดไหลเข้าสู่ธุรกิจประมูลเพิ่มมากขึ้น โดยบริษัทฯยังคงเดินหน้าขยายแผนการประมูลสู่ภูมิภาคและเพิ่มสถานที่เก็บรักษารถ (คลังสินค้า) เพื่อรองรับปริมาณรถที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ไตรมาส 1 ปี 2566 บริษัทฯ มีรายได้จากการให้บริการ 307.38 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 100.10 ล้านบาทหรือ 48.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแบ่งเป็นรายได้จากการประมูลเพิ่มขึ้นจาก 165.50 ล้านเป็น 240.04 ล้านบาทหรือ 45.0% และรายได้ค่าขนย้ายและบริการเสริมเพิ่มจาก 41.78 ล้านบาทเป็น 67.34 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 61.2%

“ปริมาณรถจบประมูลเพิ่มมากขึ้นจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบนัการเงินที่สิ้นสุดลง ทำให้ปริมาณรถเข้าสู่ลานประมูลเพิ่มขึ้น ประกอบกับบริษัทได้ปรับค่าดดำเนินการรถยนต์เป็น 10,000 บาทตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 และปรับค่าดำเนินการของจักรยานยนต์ประเภทบิ๊กไบค์เป็น 3,000 บาท ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 รวมถึงรายได้จากบริการขนย้ายหลังการขายให้กับลูกค้าที่ประมูลรถที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน” นายวรัญญูระบุ

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,895 วันที่ 11 - 14 มิถุนายน พ.ศ. 2566