แบงก์โละหนี้เน่า 2 แสนล้าน ดึงสำรองปล่อยสินเชื่อใหม่

30 เม.ย. 2566 | 04:59 น.

แบงก์ตัดใจโละหนี้เน่า 1-2 แสนล้านบาท หวังดึงเงินสำรอง ลุยปล่อยสินเชื่อสร้างพอร์ตใหม่ รับเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว ธุรกิจรับซื้อหนี้ตีปีก เผยไตรมาสแรกเปิดประมูลแล้ว 6 หมื่นล้านบาท

หลังการประกาศผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2566 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ พบตัวเลขที่เป็นนัยสำคัญคือ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs)หรือ เอ็นพีแอล ของธนาคารพาณิชย์ 10 แห่งมียอดรวมทั้งสิ้น 5.11 แสนล้านบาท ลดลง 2.69 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 5.01% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 5.38 แสนล้านบาทและหากเทียบกับไตรมาส 4 ปีก่อนอยู่ที่ 5.12 แสนล้านบาท ปรับลดลง 1,325 ล้านบาทหรือ 0.26%

 

คุณภาพสินทรัพย์ธนาคารพาณิชย์

 

ส่วนสาเหตุที่เอ็นพีแอลปรับลดลงส่วนใหญ่มาจากการปรับโครงสร้างหนี้เป็นหลักและบางธนาคารขายหนี้ออกตามยุทธศาสตร์หรือเป้าหมายแต่ละธนาคาร โดยทุกธนาคารมีความเข้มแข็งฐานะการเงิน มีกำลังกันสำรองอย่างเพียงพอได้ จากปัญหาความไม่แน่นอนภายในประเทศที่ภาคธุรกิจฟื้นตัวแบบกระจุกตัวในกลุ่มโรงแรมและภาคบริการ

นอกจากนั้นยังพบว่า สินทรัพย์รอการขายNPA) ของธนาคารพาณิชย์ทั้ง 10 กลับเพิ่มขึ้น โดยมียอดรวมทั้งสิ้น 1.62 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น  30,457 ล้านบาทเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีทั้งสิ้น 1.32 แสนล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น  23.15%

  • เร่งเทหลังพ้นพักหนี้

นายเมธ์ ปุ่มเป้า กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีดเดอร์ กรุ๊ป จำกัด ในฐานะนายกสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมปี 2566 ทั้งสถาบันการเงินคือ ธนาคารและบริษัทเช่าซื้อเปิดประมูลขายหนี้เอ็นพีแอลมากกว่าปีที่แล้ว เห็นได้จากไตรมาสแรกปีนี้ที่สถาบันการเงินเจ้าหนี้นำหนี้เก่าออกประมูลขายมากกว่าปีที่แล้ว

 

นายเมธ์ ปุ่มเป้า กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีดเดอร์ กรุ๊ป จำกัด

ทั้งนี้เชื่อว่า เป็นช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัว ลูกหนี้บางส่วนกลับมาชำระหนี้ไม่ไหว หลังครบกำหนดการพักชำระหนี้้ ทำให้มีการล้างพอร์ตหนี้เก่าที่ค้างสะสมช่วงการระบาดของโควิด-19 และบางส่วนสถาบันการเงินจ้าหนี้ตัดสินใจขายออก เพื่อเอาเงินกันสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น(ECL)กลับมาลงทุนต่อ เช่น การปล่อยสินเชื่อใหม่

สำหรับไตรมาส 1 ปีนี้มีมูลหนี้มาเสนอขายลีดเดอร์กรุ๊ปราว 40,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทลีดเดอร์กรุ๊ปรับซื้อลูกหนี้เข้ามาแล้วประมาณ 1,200 ล้านบาท  และอยู่ในขั้นตอนอีก 2 รายคาดว่าทั้งปีน่าจะมีมูลหนี้ออกประมูลมากกว่า 1 แสนล้านบาทขึ้นไป ซึ่งอาจเป็นช่วงฟื้นธุรกิจหลังพักชำระหนี้ แต่พอเปิดมาชำระหนี้ ลูกหนี้จ่ายไม่ไหว

“ปีนี้เรามีเงินลงทุน 200 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 40 ล้านบาท โดยพอร์ตคงค้างหนี้รับซื้ออยู่ที่ 9,000 ล้านบาทส่วนใหญ่ 80-90% เป็นสินเชื่อรถยนต์ที่เหลือเป็นบัตรเครดิต ซึ่งไตรมาสแรก สัญญาณการชำระดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 5% แต่จะแย่ไตรมาส2” นายเมธ์กล่าว

  • พอร์ตคงค้าง 3 แสนล้าน

ส่วนพอร์ตลูกหนี้ที่รับบริหารนั้น มียอดคงค้างกว่า 3 แสนล้านบาทเมื่อสิ้นปีที่แล้ว ซึ่งเป็นหนี้ที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน คือหนี้มีหลักประกันเป็นสินเชื่อรถยนต์เป็นหลัก ที่เหลือเป็นหนี้บัตรเครดิต หนี้มือถือและเครื่องกรองนํ้า ดังนั้น ลูกค้าของบริษัทจะมีหลากหลายเช่น กลุ่มธนาคาร กลุ่มเช่าซื้อ บริษัทรถยนต์ และค่ายมือถือ ส่วนมูลหนี้ขึ้นอยู่กับประเภทลูกหนี้เช่น กลุ่มลูกหนี้ธนาคาร จะมีมูลหนี้ 60,000-80,000บาทต่อราย ส่วนค่ายมือถือจะมีตั้งแต่ 1,000-5,000 บาท ซึ่งมูลหนี้ต่อรายน้อย แต่ลูกค้าเป็นแสนราย

นายเมธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ลีดเดอร์กรุ๊ปได้รับความวางใจ เพราะมีศักยภาพในการเรียกเก็บหนี้มาเป็นเวลา 18ปี ซึ่งก่อตั้งบริษัทเมื่อปี2548 โดยมีผลตอบแทนจาก Susccess Fee ปีนี้เปิดรับพนักงานเพิ่ม 100 คนเพื่อเสริมทีมที่มีอยู่แล้ว 936 คน โดยจะกระจายประจำตามสาขา 15% ที่เหลืออยู่ในกรุงเทพ ปัจจุบันมี 5 สาขาที่หาดใหญ่ สุราษฎรธานี โคราช ชลบุรี และเชียงใหม่

ปัจจุบันบริษัทมีพนักงานรับซื้อหนี้ 50 คน โดยปีนี้จะเพิ่มเป็น 100 คนจากที่เปิดรับสมัคร 100 คนในแง่พอร์ตรับบริหารหนี้นั้น มูลหนี้ปรับลดลง เนื่องจากกลุ่มเจ้าหนี้หันมาทำเอง แต่หนี้เก่าที่ประมูลขายมากกว่าปีก่อน บางส่วนเป็นหนี้ส่วนขาดที่เจ้าหนี้ขายรถออกไปแล้ว

  • ชโยรับซื้อ 2 พันล้าน

นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ชโย กรุ๊ป (CHAYO) กล่าวว่า ผลเรียกเก็บหนี้ไตรมาสแรก ปีนี้ดีกว่าปีก่อน โดยทั้งปีตั้งเป้าเติบโต 25%หรือมูลค่ารายได้ 1,200 ล้านบาทจากปีที่แล้ว 900 ล้านบาท ซึ่ง 3เดือนแรกลูกค้าชำระหนี้ได้ดี ทั้งหนี้มีหลักประกัน ไม่มีหลักประกัน รวมทั้งเอ็นพีแอลและทรัพย์สินรอการขาย รวมทั้งสิ้น 86,000 ล้านบาท อีก 3 ไตรมาสจะพยายามรับซื้อให้ได้ 14,000 ล้านบาท จากงบประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งไตรมาสแรกใช้ไปไม่กี่ร้อยล้านบาท

 

นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ชโย กรุ๊ป (CHAYO)

 

“ปีนี้สถาบันการเงินเร่งขายเอ็นพีแอล เห็นได้จากสถาบันการเงินทำหน้าที่ทั้งเปิดประมูลขายเอง ซึ่งเป็นการลดเอ็นพีแอลได้เร็วกว่าจัดตั้งบริษัทร่วมลงทุน JVAMC แต่ก็จะมีการประมูลขายผ่าน JV AMC ด้วย”นายสุขสันต์กล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้เอ็นพีแอลจะถูกนำออกมาประมูลมากกว่าปีที่แล้ว แต่ยังไม่ได้ราคาที่เหมาะสม ทำให้สถาบันการเงินบาทแห่งถอนการประมูลไปก่อน ส่วนมูลค่าทรัพย์ที่จะนำออกประมูลน่าจะมากเป็นเท่าตัวคือ มูลค่ามาเสนอชโยประมาณ 60,000 ล้านบาทแล้วในไตรมาสแรกปีนี้จากปีที่แล้วราว 30,000 ล้านบาท

โดยมีทั้งลูกค้ามีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน ส่วนประเภทสินเชื่อรายย่อย ตํ่ากว่า 20 ล้านบาท สินเชื่อคอร์ปอเรทจะมีมูลค่าตั้งแต่ 1,000-2,000 ล้านบาทขึ้นไป 10-200 ล้านบาทเป็นหนี้เอสเอ็มอี ส่วนใหญ่เป็นหนี้ค้างชำระเกิน 91 วัน

“ไตรมาสแรกมีเข้ามาเสนอขายเราแล้ว  60,000 ล้านบาทจากปีที่แล้วเข้ามาราว 30,000 ล้านบาท โดยปีนี้ประกาศผลแล้ว 40,000 ล้านบาท ซึ่งทางชโยรับซื้อหนี้เข้ามากว่า 2,000 ล้านบาท เพราะแบงก์ถอนการขายและเราเสนอราคาตามดีมานด์-ซัพพลายและหักค่าเสื่อมที่จะเกิดขึ้นจริงๆด้วย ทั้งปีคาดว่า น่าจะมีเอ็นพีแอลออกประมูลขายไม่ตํ่ากว่า 1.5 แสนล้านบาทจากปีที่แล้ว 80,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการหลักที่รับซื้อหนี้ไม่เกิน 10 ราย”

นายสุขสันต์กล่าวต่อว่า การบริหารพอร์ตสินเชื่อค่อนข้างระมัดระวัง ปีนี้คาดว่า ยอดคงค้างสินเชื่อจะเพิ่มเป็น 1,200 ล้านบาทจากปีที่แล้ว 700 ล้านบาท

  • คาดทั้งปี 1-2 แสนล้าน

ด้านแหล่งข่าวบริษัทติดตามทวงถามหนี้ (Outsource Agent :OA) กล่าวว่า ไตรมาสแรกมีสถาบันการเงินเจ้าหนี้เปิดประมูลเอ็นพีแอลแล้ว 60,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้เสียของสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล รวมทั้งหนี้บริษัทรายใหญ่ และประเภทสินเชื่อดิจิทัล จึงคาดว่าทั้งปี 2566 น่าจะมีเอ็นพีแอลออกขาย 1-2 แสนล้านบาท

ปัจจัยหลักมาจากหมดอายุมาตรการพักชำระหนี้และเนื่องจากเป็นหนี้สะสมจากการระบาดโควิด-19 ทำให้คนมีหนี้เริ่มผิดนัดชำระ และยกระดับการผิดนัดชำระ 100% จนกลายเป็นเอ็นพีแอลและส่วนใหญ่เข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้แล้วพอเปิดประเทศสถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว แต่ยังไม่ทั่วถึง จึงทำให้ลูกหนี้บางรายกลับมาชำระหนี้ไม่ได้

ทั้งนี้ บางธนาคารเจ้าหนี้และบริษัทเช่าซื้อที่เคยส่งงานให้ Outsource ที่เป็นบริษัท OA และธุรกิจบริหารสินทรัพย์หรือ AMC มีการดึงงานกลับไปทำเองบ้าง เพราะต้องการลดค่าใช้จ่ายและหลีกเลี่ยงผลกระทบจากพ.ร.บ.ทวงถามหนี้ 2558 ขณะเดียวกัน OA/AMC พิจารณาเลือกรับงานที่ให้ผลตอบแทนสมเหตุสมผลเพื่อความอยู่รอดของตัวเอง เพราะหากบริหารไม่ดีมีโอกาสขาดทุนและมีตัวอย่างจากบริษัทที่ปิดกิจการไปแล้ว

“ไตรมาส 1-2 แบงก์นำหนี้ออกขายเยอะ เยอะกว่าปกติจากปีก่อนๆและคาดว่า ทั้งปีน่าจะเห็นหนี้นำออกขาย 1-2 แสนล้านบาท ซึ่งเยอะกว่าก่อนโควิดแล้ว แต่ขึ้นอยู่กับแบงก์เจ้าหนี้ว่า จะบริหารจัดการเองหรือขายออกมาทั้งจำนวน แต่ในแง่ของ AMC พร้อมลุยซื้อหนี้เสียมาบริหารอยู่แล้ว แม้จะมีสัญญาณคอขวดบ้าง แต่ยังมีโอกาสทำกำไรและหนี้บางรายสามารถเก็บได้แต่อย่างน้อย 5-7 ปี AMC และบริษัทบริหารหนี้ก็มีรายได้จากการเรียกเก็บได้”แหล่งข่าวกล่าว

อย่างไรก็ดี ช่วงนี้ภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังกระจุกตัวในบางธุรกิจ จึงยังมีลูกหนี้ตกงานหรือรายได้ลดลง ค่าใช้จ่ายมากขึ้น ประกอบกับกฎหมายคุ้มครองลูกหนี ก็มีช่องโหว่ ทำให้ลูกหนี้ขาดวินัย หลีกเลี่ยงการชำระหนี้ ทำให้ธนาคารเจ้าหนี้บ้างแห่งเน้นการฟ้องคดี มากขึ้นเพื่อให้พ้นจากพ.ร.บ.ทวงหนี้ โดยยึดทรัพย์ตามกระบวนการของคดีแล้วนำหนี้ออกขายเพื่อให้ AMC ซื้อออกไป เพราะสามารถเรียกเก็บ “หนี้ส่วนขาด” รวมถึงการขายหนี้ที่ไม่เห็นอนาคตด้วย

 

:  หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,883 วันที่ 30 เมษายน - 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2566