หนี้เสีย 10 แบงก์ไทยลด 2.7 หมื่นล้านบาท

29 เม.ย. 2566 | 11:01 น.

เปิดหนี้เสีย 10 แบงก์ไทย ไตรมาสแรก ปรับลด 5.01% เหลือ 5.11 แสนล้านบาท เหตุหลักปรับโครงสร้างหนี้-พักทรัพย์พักหนี้ ดันยอดเอ็นพีเอเพิ่ม 3 หมื่นล้านบาท เจ้าหนี้ชี้อย่าวางใจ เหตุมีสัญญาณ Stage2 ป่วยกู่ไม่กลับ จ่อตกชั้นอีก

ธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) 10 แห่งรายงานผลประกอบการไตรมาสแรกปี 2566 มีกำไรสุทธิรวม 6.02 หมื่นล้านบาทเพิ่มขึ้น 13.33% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 5.31 หมื่นล้านบาท โดยหลักๆมาจากกำไรดอกเบี้ยสุทธิ 1.67 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.39 หมื่นล้านบาทหรือ 16.81%จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 1.42 แสนล้านบาท ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการปรับลดลง 1,121 ล้านบาท หรือ 2.78% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 4.03 หมื่นล้านบาทลดเหลือ 3.91 หมื่นล้านบาท

ด้านคุณภาพสินเชื่อพบว่า ธนาคารพาณิชย์ทั้ง 10แห่งมียอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ เอ็นพีแอล   (NPLs / Stage3) ทั้งสิ้น 5.11 แสนล้านบาทปรับลดลง 2.69 หมื่นล้านบาทหรือคิดเป็น 5.01% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 5.38 แสนล้านบาท และหากเทียบกับไตรมาส 4 ปีก่อนอยู่ที่ 5.12 แสนล้านบาท ปรับลดลง 1,325 ล้านบาทหรือ 0.26%

 อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมเอ็นพีแอลปรับลดลง แต่พบว่า มีธนาคารพาณิชย์ ที่่มีเอ็นพีแอลขยับเพิ่มได้แก่ ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา (BAY) ธนาคารทิสโก้ (TISCO) ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) และ ธนาคาร แลนด์แอนด์เฮ้าส์ (LHFG) นอกจากนั้นยังพบว่า สินทรัพย์รอการขาย (เอ็นพีเอ) ธนาคารพาณิชย์ทั้ง 10 แห่งมีทั้งสิ้น 162,036 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 30,457 ล้านบาท หรือ 23.15% จากไตรมาสแรกปี 2565 ที่มีเอ็นพีเอทั้งสิ้น 131,579 ล้านบาท

หนี้เสีย 10 แบงก์ไทยลด 2.7 หมื่นล้านบาท

แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า แม้เอ็นพีแอลจะปรับลดลง แต่เมื่อเทียบกับยอดสินเชื่อคงค้างหลักแสนล้านบาทแล้วถือว่าไม่มาก ซึ่งปัจจัยที่มีผลกระทบมาจากภาพรวมเศรษฐกิจที่ยังไม่ชัดเจนทั้งภายในและต่างประเทศ โดยในประเทศนั้น การฟื้นตัวยังกระจุกอยู่ในบางอุตสาหกรรมเท่านั้นเช่น กลุ่มท่องเที่ยวหรือบริการ แต่ผู้ประกอบการรายย่อย บุคคลที่มีอาชีพอิสระยังอ่อนไหวอยู่มาก ขณะที่ต่างประเทศเองก็ยังมีความไม่แน่นอนสูงมาก

ส่วนสาเหตุที่เอ็นพีแอลปรับลดลงส่วนใหญ่มาจากการปรับโครงสร้างหนี้เป็นหลักและบางธนาคารขายหนี้ออกตามสมควรขึ้นกับยุทธศาสตร์หรือเป้าหมายแต่ละธนาคาร ซึ่งปีนี้ไม่มีนโยบายจากภาครัฐเร่งรัดเรื่องให้ลดหนี้ โดยที่ทุกธนาคารมีความเข้มแข็งฐานะการเงิน มีกำลังกันสำรองอย่างเพียงพอได้ เพราะปัญหามาจากพอร์ตลูกหนี้และความไม่แน่นอนภายในประเทศที่ภาคธุรกิจฟื้นตัวแบบกระจุกตัวในกลุ่มโรงแรมและภาคบริการ

“ประเด็นตอนนี้อยู่ที่ลูกหนี้รายย่อยทั้งผู้ประกอบการและอาชีพอิสระ ซึ่งทุกธนาคารจะทางออกให้ลูกหนี้ที่มีปัญหาให้เข้ามาร่วมกันหาทางออก แต่ยอมรับว่า รายที่ป่วยหนัก กู้กลับยากมีโอกาสไหลเป็นเอ็นพีแอลตลอด ขณะที่กลุ่มความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหรือ Stage2 มีทั้งบริหารจัดการให้กลับมาเป็นหนี้ปกติ (Stage1) และ Stage2 ยังไหลเป็นเอ็นพีแอลเพิ่ม เช่นเดียวกับลูกหนี้ที่ปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้วพบว่า บางรายไหลกลับเป็นเอ็นพีแอล อีก (re-entry) เพราะไม่สามารถชำระหนี้ตามแผน” แหล่งข่าวกล่าว

สอดคล้องกับนางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยกล่าวว่า ไตรมาสแรกปีนี้ธนาคารบริหารหนี้เชิงรุกทั้งปรับโครงสร้างหนี้และตัดขายหนี้ทำให้ยอดคงค้างเอ็นพีแอลขยับลง ซึ่งเอ็นพีแอลทั้งระบบน่าจะลดลงอยู่ล่างที่ 2.70% จากเดิมมองไว้ 2.70-2.75% ส่วนไตรมาส 2 แนวโน้มยังขยับเพิ่มอาจเห็นค่ากลางที่ 2.75% จากกรอบ 2.72-2.78%

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

“ทิศทางปัญหาหนี้ยังไม่จบ มีโอกาสขยับเพิ่มขึ้นจากโมเมนตัมเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนบวกกับเทรนด์ดอกเบี้ยขาขึ้นจะกดดันลูกหนี้กลุ่มที่เปราะบาง ส่วนเอ็นพีเอที่เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆนั้น มาจากการโอนทรัพย์ชำระหนี้ ซึ่งพบว่า ทรัพย์ที่ธนาคารได้จากการโอนทรัพย์ชำระหนี้ประมาณ  96% เป็นอสังหาริมทรัพย์” นางสาวกาญจนากล่าว

ขณะที่เจ้าหนี้อีกธนาคารพาณิชย์กล่าวว่า ถ้าสังเกตุไตรมาสแรกปีนี้จะพบว่า เอ็นพีเอเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากโครงการพักทรัพย์พักหนี้ (Asset warehousing) โดยนำสินทรัพย์หลักประกันไว้กับธนาคาร ส่วนใหญ่เป็นสถานประกอบการ เช่น โรงแรมและสถานที่ท่องเที่ยว ทำให้เอ็นพีแอล หายไป แต่โผล่เป็นเอ็นพีเอขึ้นมา จากการบันทึกของธนาคารตามมาตรการดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ภายใต้มาตรการพักทรัพย์พักหนี้จะให้สิทธิลูกหนี้ซื้อทรัพย์คืนภายใน 5ปี เมื่อถึงเวลาดังกล่าว ถ้าลูกหนี้ไม่ใช้สิทธิซื้อทรัพย์สินคืนเท่ากับทรัพย์สินดังกล่าวจะกลายเป็นผิดนัดชำระหรือ Default ซึ่งธนาคารจะเริ่มนับทรัพย์หลักประกันเป็นเอ็นพีเอของธนาคารได้อย่างเป็นทางการและธนาคารเจ้าหนี้จะสามารถนำทรัพย์ออกขายได้

อย่างไรก็ตาม ลูกหนี้ภายใต้มาตรการของธปท.ล่าสุดพบว่า แก้หนี้เดิม ณ 31 ตุลาคม 2565 มีลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 3.95 ล้านบัญชี ยอดหนี้รวม 2.98 ล้านล้านบาท ให้สินเชื่อใหม่ ณ 17 เมษายน 2566 มีผู้ได้รับความช่วยเหลือ 140,627 ราย ยอดอนุมัติสินเชื่อ 371,476 ล้านบาท

 โครงการพักทรัพย์พักหนี้ หลังปิดรับคำขอ ณ 9 เมษายน 2566 มีจำนวน 500 ราย รวม 74,114ล้านบาท และสินเชื่อฟื้นฟู ณ 17 เมษายน 2566 มีผู้ได้รับความช่วยเหลือ 62,840 ราย รวมเป็นวงเงิน 233,376 ล้านบาท

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,882 วันที่ 27 - 29 เมษายน พ.ศ. 2566