ธปท. เกาะติดราคาสินค้า หวั่นซ้ำเติมเงินเฟ้อ

10 มิ.ย. 2566 | 05:42 น.

ธปท.ไม่ปิดโอกาสขึ้นดอกเบี้ย พร้อมเกาะติดการตั้งราคาของผู้ประกอบการ หวั่นซ้ำเติมเงินเฟ้อที่ยังค้างในอัตราสูง ค่ายกรุงไทยจับตาความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ สะท้อนผ่านตลาดทุน ลุ้นผลจัดตั้งรัฐบาล

ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 แม้คณะกรรมการจะมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 1.75% สู่ระดับ 2.00%ต่อปี แต่ก็พร้อมจะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของนโยบาย หากเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้

นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ กนง. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เปิดเผยว่า คณะกรรมการมองว่า ยังมีความเสี่ยงด้านสูง ที่จะต้องติดตามเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ทิศทางนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐ แม้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวไตรมาสแรก ที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากกว่าธปท.ประมาณไว้ จึงเพิ่มประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวปีนี้เป็น 29 ล้านคนและ 35.5 ล้านคนในปีหน้า

นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ กนง.

 

อย่างไรก็ตาม วันนี้ยังมีความไม่แน่นอนพอสมควร ซึ่งถ้าดูเครื่องชี้เงินเฟ้อ นอกจากเงินเฟ้อพื้นฐานที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่องแล้ว ต้องเฝ้าระวังพฤติกรรมการตั้งราคาของผู้ประกอบการในระยะต่อไป แรงกดดันด้านอุปสงค์ก็ที่มาพร้อมกับเศรษฐกิจ และนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ที่ยังไม่แน่นอน ซึ่งต้องดูจะกระทบต่อภาวะเงินเฟ้ออย่างไร

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร กรุงไทย (KTB)กล่าวว่า ถ้าดูตามแถลงการณ์ของธปท.และการตอบรับของตลาดจะเห็นว่า เศรษฐกิจไทยยังมีความกังวลในเรื่องของเงินเฟ้อ โดยเฉพาะเงินเฟ้อพื้นฐานและตลาดเองรับข่าวการประชุมกนง.ครั้งหน้าว่า จะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ถึง 40% และตลาดก็ตอบรับว่า อาจจะถึงจุดสมดุลได้ในไม่ช้าตามดัชนีชี้วัดในตลาด

ธปท. เกาะติดราคาสินค้า  หวั่นซ้ำเติมเงินเฟ้อ

ด้านนายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยกล่าวว่า ประมาณการเงินเฟ้อของธปท.ที่อยู่ในระดับสูงนั้นเป็นสมมติฐานถ้าเศรษฐกิจฟื้นตัวดีผู้ประกอบการจะผลักภาระสู่ผู้บริโภคได้ สะท้อนว่า ธปท.ไม่ปิดโอกาสที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก ถ้าตัวเลขเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเปลี่ยนแปลงและอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่ยังติดลบอยู่ -0.7 หรือ- 0.8% ซึ่งปกติเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับศักยภาพอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงควรจะเป็นบวก

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย

“หลังรับรู้ผลประชุมกนง.ก็ไม่มีผลต่อตลาดหรืออัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) จะปรับขึ้นหรือลดลงนัก เพราะก่อนประชุมตลาดคาดหวังว่า จะขึ้นดอกเบี้ยต่อไปถึง 2.25% ซึ่งตลาดรับรู้ไปแล้วประมาณ 50-60%”นายพูนกล่าว

ส่วนคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะข้างหน้าถ้าดูจากอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงหรือ THOR 2ปีที่ตลาดรับรู้จะขึ้นดอกเบี้ย 2.15% แต่มุมมองนักวิเคราะห์ต่างประเทศมอง 2.25-2.50% แต่ธปท.ให้น้ำหนักกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจและนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ว่าจะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้ออย่างไรด้วย

อย่างไรก็ตาม หากมองไปข้างหน้า Bond Yield ขึ้นมาในระดับหนึ่งแล้ว ถ้าภาพของตลาดโลก Bond Yield มีการปรับลดลง อาจส่งผลต่อ Bond Yield ระยะกลางและยาวของไทย เช่น อายุ 5-10ปี จะแกว่งมาก ถ้าเทียบ Bond Yield ระยะสั้นอายุ 2ปีลงมาที่จะถูกตรึงด้วยมุมมองว่า ธปท.จะคงหรือจะขึ้นดอกเบี้ยต่อ จึงเป็นกลยุทธ์แนะนำลูกค้าทยอยซื้อเมื่อเห็นยีลด์ขึ้น และทยอยขายทำกำไรเมื่อเห็นยีลด์ลง โดยเฉพาะบอนด์อายุ 10-30ปีสามารถทยอยถือได้

ขณะที่การส่งผ่านต้นทุนมีความน่ากังวล เห็นได้จากรายงานภาวะสินเชื่อพบว่า เริ่มเห็นภาวะสินเชื่อมีความตึงตัวในแง่ของการปล่อยสินเชื่อแต่ยังไม่รุนแรง หรือสินเชื่อบางส่วนมีความต้องการน้อยลง ความเข้มงวดการเปล่อยสูงขึ้นและแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ก็เพิ่มขึ้น เช่น อสังหาริมทรัพย์

ส่วนปัจจัยการเมืองมีแนวโน้มฉุดความเชื่อมั่น เนื่องจากมุมมองของนักธุรกิจ ซึ่งนักลงทุนจริงๆ อยากเห็นความชัดเจนก่อน ซึ่งอาจรอดูจนถึงเดือนสิงหาคม เมื่อรู้นโยบายเศรษฐกิจข้างหน้าชัดแล้วจะกำหนดแผนธุรกิจได้ถูก

“นักลงทุนหรือภาคธุรกิจมีความกังวล ต่อปัจจัยทางการเมือง เห็นได้จากตลาดทุนนักลงทุนไม่กล้าเข้ามาซื้อและฝรั่งก็ทยอยขายพอร์ตไปที่อื่น ขณะที่ธุรกิจในประเทศก็มีความกังวลโดยออกมาแสดงความเห็นผ่านสื่อบ้างแล้ว”

ธปท. เกาะติดราคาสินค้า  หวั่นซ้ำเติมเงินเฟ้อ

อย่างไรก็ตาม เดิมทีนั้นคนส่วนใหญ่คิดว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้ง ซึ่งโอกาสจับมือพรรคอื่นมีความง่ายและนโยบายเศรษฐกิจของเพื่อไทยจะเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นก่อน ซึ่งเป็นมุมมองที่ตลาดทุนชอบ แต่เมื่อเป็นพรรคก้าวไกลมีคะแนนเสียงนำ จึงบอกยากว่าจะจบในภาพไหน แต่ภาพรวมยังหวังว่า จะจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้

ส่วนนโยบายเศรษฐกิจของพรรคก้าวไกลนั้น ต้องเข้าใจแนวคิดนโยบายเศรษฐกิจที่เน้นเรื่องรัฐสวัสดิการ พยายามกระจายความมั่งคั่งกระจายโอกาสให้การทำธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อมหรือ เอสเอ็มอี ซึ่งเรื่องพวกนี้เป็นสิ่งควรทำคือ แบ่งเค็กให้มีประสิทธิภาพเพื่อให้เอสเอ็มอีสู้ได้ แต่ยังขาดแนวนโยบายที่จะพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนอย่างไร

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,893 วันที่ 4 - 7 มิถุนายน พ.ศ. 2566