EXIM BANK จับมือ Amazon หนุนสินค้าไทยขายออนไลน์ข้ามพรมแดน

17 พ.ค. 2566 | 08:52 น.

EXIM BANK จับมือ “Amazon-กระทรวงพาณิชย์” อบรมผู้ประกอบการ หนุนสินค้าไทยขายออนไลน์ข้ามพรมแดน เริ่ม 23 พ.ค.- 18 ก.ค.66 หลังพบสัญญาณตลาดออนไลน์โต พุ่ง 10% มูลค่ากว่า 6.1 ล้านดอลลาร์

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า EXIM BANK ร่วมมือกับ อเมซอน โกลบอล เซลลิ่ง ประเทศไทย (Amazon Global Selling Thailand) และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จัดโครงการอบรม “ติดปีกสินค้าไทย ขายออนไลน์ข้ามพรมแดนกับ Amazon” ระหว่างวันที่ 23 พฤษภาคม-18 กรกฎาคม 2566 ณ EXIM BANK สำนักงานใหญ่ และอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาศักยภาพ SMEs ไทยให้มีความพร้อมในการพัฒนาธุรกิจสู่ตลาดการค้าออนไลน์อย่างมั่นใจ ผ่านการฝึกอบรม จับคู่ทางธุรกิจ ให้คำปรึกษาด้านการเงิน แนะนำเครื่องมือบริหารความเสี่ยง และ Workshop การค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน (Cross Border E-commerce: CBEC) ไปยังตลาดสหรัฐฯ ยุโรป และเอเชีย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการได้รับประโยชน์ในการเข้าถึงเครือข่ายลูกค้าของ Amazon.com กว่า 300 ล้านคนทั่วโลก

โดยเนื้อหาการอบรม อาทิ

  • การเปิดบัญชีกับ Amazon การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและใบรับรององค์การอาหารและยาสหรัฐฯ
  • การสร้างการบริหารจัดการคลังสินค้าและจัดส่งโดย Amazon (Fulfilment by Amazon : FBA)
  • การเปิดหน้าร้านค้าบน Amazon.com ผู้ประกอบการที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการได้ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย

EXIM BANK จับมือ Amazon หนุนสินค้าไทยขายออนไลน์ข้ามพรมแดน

ทั้งนี้ ในปี 2566 เศรษฐกิจและการค้าโลกต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน ทั้งภาวะเงินเฟ้อ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ความยืดเยื้อของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ประกอบกับวิกฤตสถาบันการเงินในสหรัฐฯ และยุโรปส่งผลกดดันเศรษฐกิจโลก ทำให้ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกลงเหลือ 2.8% และการค้าโลกมีแนวโน้มขยายตัวเพียง 1.7%

อย่างไรก็ตาม พบว่าภาพรวมตลาดการค้าออนไลน์ (E-commerce) ของโลกยังมีแนวโน้มสดใส โดยคาดว่าจะขยายตัวกว่า 10% จาก 5.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 เป็น 6.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 และมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นเป็น 6.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2567 และ 7.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568

นอกจากนี้ ผลสำรวจผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ที่ดำเนินธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนในปี 2565 พบว่า 90% มีความสนใจค้าขายข้ามพรมแดนผ่าน E-commerce แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ประสบปัญหาขาดความเข้าใจวิธีการ ขาดความรู้เกี่ยวกับตลาดต่างประเทศ มีข้อจำกัดด้านศักยภาพ ทรัพยากร และความสามารถในการแข่งขันในตลาด E-commerce ดังนั้น การจัดโครงการดังกล่าวนี้จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสนับสนุนผู้ประกอบการ