“แพคเวสต์" ยังไม่พ้นปากเหว  หุ้นดิ่งหนักหลังมีข่าวเงินฝากวูบ 10%

11 พ.ค. 2566 | 17:10 น.

ยังคงถูกจับตาว่าอาจเป็นโดมิโนแบงก์สหรัฐที่จะล้มตัวต่อไป หุ้น"แพคเวสต์" บริษัทแม่แปซิฟิก เวสเทิร์น แบงก์ ดิ่งหนักหลังข่าวสะพัดเงินฝากวูบเกือบ 10% ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

แวดวงธนาคารสหรัฐ ยังคงฝ่าคลื่นลมแรง เป็นที่หวั่นวิตกว่า วิกฤตธนาคารล้มละลาย ยังไม่สิ้นสุดลง ล่าสุดราคาหุ้น แพคเวสต์ แบงคอร์ป (PacWest Bancorp) บริษัทแม่ของ ธนาคารแปซิฟิก เวสเทิร์น แบงก์ ซึ่งเป็นธนาคารประจำภูมิภาคของสหรัฐ ดิ่งลงอย่างหนักในการซื้อขายก่อนเปิดตลาดหุ้นวอลล์สตรีทเมื่อวันพฤหัสฯ (11 พ.ค.) ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของทางธนาคาร

โดย ณ เวลา 19.04 น.ตามเวลาไทยวานนี้ (11 พ.ค.) ราคาหุ้นแพคเวสต์ดิ่งลง 24.01% สู่ระดับ 4.62 ดอลลาร์

ทั้งนี้ แพคเวสต์ระบุในเอกสารแจ้งต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ (SEC) ว่า เงินฝากของธนาคารลดลง 9.5% ในสัปดาห์ที่แล้ว

ถอดรหัสการส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ

เอกสารระบุว่า เงินฝากส่วนใหญ่ไหลออกหลังจากที่สื่อรายงานว่า ทางธนาคารกำลัง "สำรวจทางเลือกด้านกลยุทธ์ทั้งหมด" ซึ่งเกี่ยวกับนิยามการใช้คำดังกล่าวนั้น ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า คำว่า "สำรวจทางเลือกด้านกลยุทธ์ทั้งหมด" ถือเป็นการส่งสัญญาณ "ช่วยด้วย!" นั่นเอง

ซึ่งธนาคารล่าสุดที่ได้ประกาศว่า กำลัง "สำรวจทางเลือกด้านกลยุทธ์ทั้งหมด" ก็คือ ธนาคารเฟิร์สท์ รีพับลิก แบงก์ (FRB) ก่อนที่จะถูกบรรษัทค้ำประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FDIC) เข้าพิทักษ์ทรัพย์ และเจพีมอร์แกน เชส เข้าซื้อกิจการในที่สุด

นอกจากนี้ แพคเวสต์ยังระบุว่า ธนาคารมีสภาพคล่อง 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ปริมาณเงินฝากที่ไม่ได้รับการคุ้มครองจาก FDIC อยู่ที่ระดับ 5,200 ล้านดอลลาร์

เงินฝากของแพคเวสต์ดิ่งลง 16.9% ในช่วงไตรมาส 1/2566

เอกสารดังกล่าวจากแพคเวสต์ที่มีการเปิดเผยเมื่อวานนี้ (11 พ.ค.) สวนทางกับแถลงการณ์ของทางธนาคารเมื่อวันที่ 4 พ.ค. ที่ระบุว่า ธนาคารไม่พบการไหลออกของเงินฝากที่ผิดปกติ และเงินฝากได้เพิ่มขึ้นนับตั้งแต่สิ้นเดือนมี.ค.2566

แต่ในความเป็นจริงก็คือ เงินฝากของแพคเวสต์ดิ่งลง 16.9% ในช่วงไตรมาส 1/2566

นายพอล เทย์เลอร์ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของแพคเวสต์ กล่าวยืนยันว่า ธนาคารยังคงมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง นอกจากนี้ เขายังประกาศลดการจ่ายเงินปันผลสู่ระดับ 0.01 ดอลลาร์ต่อ 1 หุ้นสามัญ จากเดิมที่ระดับ 0.25 ดอลลาร์ ซึ่งจะช่วยทำให้อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (CET1) เพิ่มขึ้นมากกว่า 10%

"เมื่อพิจารณาถึงความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ความผันผวนของภาคธนาคาร และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบด้านทุน เรามองว่าการปรับลดการจ่ายเงินปันผลถือเป็นมาตรการเหมาะสมต่อแผนของเราในการเพิ่มอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (CET1) ขึ้นมากกว่า 10% ขณะที่ธุรกิจของเรายังคงมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และเราจะยังคงยึดมั่นรูปแบบธนาคารที่มีความสัมพันธ์ในระดับชุมชนต่อไป" แถลงการณ์ระบุ

สถานการณ์ที่ยังคงมีความเปราะบางของแพคเวสต์ แบงคอร์ป ทำให้หลายฝ่ายมองความเป็นไปได้ว่านี่อาจเป็นธนาคารสหรัฐรายต่อไปที่อาจล้มละลาย ความไม่มั่นใจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นจากราคาหุ้นธนาคารทั้งในระดับภูมิภาคและธนาคารรายใหญ่ที่ร่วงลงอย่างหนักตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนและประชาชนผู้ฝากเงิน ต่างขาดความเชื่อมั่น และเรื่องนี้ก็สะท้อนปัญหาการกำกับดูแลภาคธนาคารในสหรัฐที่ยังคงอ่อนแอ วิกฤตภาคธนาคารของสหรัฐยังดูยืดเยื้อและส่อจะลุกลามได้เป็นวงกว้าง

ก่อนหน้านี้ มีธนาคารสหรัฐ 3 แห่งปิดตัวลงเนื่องจากปัญหาการขาดสภาพคล่อง และล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็เป็นคิวของธนาคารเฟิร์สท์ รีพับลิก แบงก์ (FRB) ที่มีธนาคารเจพี มอร์แกน มาซื้อกิจการไป