5 เรื่องน่ารู้ หลัง “เจพีมอร์แกน” ปิดดีลซื้อกิจการ “เฟิร์สท์ รีพับลิก แบงก์”

01 พ.ค. 2566 | 19:11 น.

บทสรุปหลัง "เจพีมอร์แกน เชส" กลายเป็นผู้ชนะในการประมูลซื้อกิจการธนาคารเฟิร์สท์ รีพับลิก แบงก์ (FRB) ทำให้ธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดของสหรัฐรายนี้ ยิ่งใหญ่ขึ้นไปกว่าเดิม

 

ในที่สุด ความพยายามในการป้องกัน วิกฤตธนาคารล้ม ในสหรัฐอเมริกากรณีของ ธนาคารเฟิร์สท์ รีพับลิก แบงก์ (First Republic Bank หรือ FRB) ซึ่งเป็นที่หวั่นเกรงว่าอาจส่งผลกระทบลุกลาม ก็ได้อัศวินม้าขาว ธนาคารเจพีมอร์แกน เชส (JPMorgan Chase & Co) ซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดของสหรัฐ เข้ามาช่วยกู้สถานการณ์ โดยเจพีมอร์แกนเป็นผู้ชนะในการประมูลซื้อกิจการ FRB ทำให้ธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดอยู่แล้ว ยิ่งมีขนาดใหญ่ขึ้นไปอีก

และต่อไปนี้เป็น “บทสรุป” ของเหตุการณ์ที่ประมวลโดยสำนักข่าวรอยเตอร์ เผยแพร่วานนี้ (1 พ.ค.)

1) ธนาคารเจพีมอร์แกน เชส จะจ่ายเงินมูลค่า 10,600 ล้านดอลลาร์ให้แก่บรรษัทรับประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ หรือ FDIC (Federal Deposit Insurance Corp) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงการซื้อกิจการของธนาคารธนาคารเฟิร์สท์ รีพับลิก แบงก์ (FRB)

ทั้งนี้ FRB ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นครซานฟรานซิสโก ถือเป็นธนาคารแห่งที่ 3 ของสหรัฐที่ล้มลงเพราะปัญหาการเงินในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ต่อจากธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ (Silicon Valley Bank) และธนาคารซิกเนเจอร์ (Signature Bank)

2) FDIC นำทรัพย์สินของ FRB ออกประมูลเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีผู้เข้าร่วมประมูลหลายราย รวมทั้ง พีเอ็นซี ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (PNC Financial Services Group) และซิติเซน ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (Citizens Financial Group) ก่อนที่ธนาคารเจพีมอร์แกนจะกลายเป็นผู้ชนะการประมูล และจะเป็นผู้ถือครองทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมดของ FRB รวมทั้งเงินฝากของลูกค้าที่ส่วนใหญ่เป็นบุคคลและนิติบุคคลที่ร่ำรวย

3) จากการประเมินของเจ้าหน้าที่ควบคุมการเงิน คาดว่า FDIC ขาดทุนในข้อตกลงนี้ราว 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

เจพีมอร์แกนจะได้ถือครองทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมดของ FRB รวมทั้งเงินฝากของลูกค้าที่ส่วนใหญ่เป็นบุคคลและนิติบุคคลที่ร่ำรวย

4) นักวิเคราะห์ชี้ว่า แม้การประมูลครั้งนี้จะช่วยทำให้ความวุ่นวายในตลาดการเงินสหรัฐสงบลงได้บ้าง แต่การที่เจพีมอร์แกน ซึ่งเป็นธนาคารใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ชนะการประมูล ก็ไม่เป็นผลดีเมื่อมองในแง่การแข่งขัน

เพราะการครอบครอง FRB จะยิ่งทำให้ธนาคารแห่งนี้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น และเป็นเรื่องยากที่ธนาคารขนาดเล็กจะแข่งขันในตลาดการเงินสหรัฐ

เดนนิส เคลเลเฮอร์ ซีอีโอของบริษัทเบตเทอร์ มาร์เก็ตส์ (Better Markets) ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ผลการประมูลครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงการควบรวมกิจการที่ไม่เป็นผลดี การแข่งขันที่ไม่ยุติธรรม การเพิ่มขึ้นอย่างอันตรายของธนาคารที่ “ใหญ่เกินไปที่จะปล่อยให้ล้มลง” ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นผลเสียต่อธนาคารขนาดเล็ก อย่างธนาคารชุมชน หรือสถาบันผู้ให้กู้รายย่อย และการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวม

ธนาคาร FRB ทั้ง 84 แห่งใน 8 รัฐ จะเปิดให้บริการอีกครั้ง ในฐานะสาขาของธนาคารเจพีมอร์แกน เชส ตั้งแต่วันจันทร์ (1 พ.ค.) เป็นต้นไป

5) ปัจจุบัน ธนาคารเจพีมอร์แกนถือครองเงินฝากมากกว่า 10% ของปริมาณเงินฝากในธนาคารทั้งหมดในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งนักวิเคราะห์เชื่อว่าตัวเลขนี้อาจเพิ่มเป็น 13% หลังการควบรวมกิจการครั้งล่าสุด ทั้งนี้ เจพีมอร์แกนจะเปิดให้บริการสาขาของธนาคาร FRB ทั้ง 84 แห่งใน 8 รัฐอีกครั้ง ในฐานะสาขาของธนาคารเจพีมอร์แกน เชส ตั้งแต่วันจันทร์ (1 พ.ค.) เป็นต้นไป

เกี่ยวกับเฟิร์สท์ รีพับลิก แบงก์ (FRB)

เฟิร์สท์ รีพับลิก แบงก์ เป็นธนาคารที่มุ่งเน้นการให้บริการไพรเวทแบงกิ้งแก่ผู้ที่มีฐานะร่ำรวย ก่อตั้งขึ้นในปี 2528 โดยนายจิม เฮอร์เบิร์ต ประธานบริษัท ด้วยพนักงานไม่ถึง 10 คน ต่อมาในเดือนก.ค. 2563 FRB ได้รับการจัดอันดับให้เป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดอันดับที่ 14 ในสหรัฐ โดยมีสำนักงาน 84 แห่งใน 8 รัฐ และเมื่อปลายปีที่แล้วก็มีการจ้างงานมากกว่า 7,200 คน

เช่นเดียวกับธนาคารอื่น ๆ ในระดับภูมิภาค FRB มีช่วงเวลาที่ยากลำบากเมื่อธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งส่งผลกระทบต่อมูลค่าของพันธบัตรและเงินกู้ยืมที่ FRB ได้ซื้อไปก่อนหน้านี้ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยยังต่ำ ขณะเดียวกัน ลูกค้าก็แห่ถอนเงินออกจากธนาคาร ส่วนหนึ่งเป็นเพราะลูกค้าต้องการได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าจากที่อื่น และอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะกังวลเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของธนาคาร

ผลก็คือ FRB ประสบปัญหาใหญ่เนื่องจากไม่มีเงินเพียงพอที่จะดำเนินกิจการต่อไปได้ แต่ก็ไม่มีใครอยากเข้ามาช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ความกังวลเริ่มก่อตัวมากขึ้นในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาเมื่อ FRB รายงานผลประกอบการไตรมาสแรกและมีข่าวว่ากำลังพยายามขายสินทรัพย์บางส่วน ตลอดจนประกาศแผนการลดพนักงานมากถึง 25% ลดสินเชื่อคงค้าง และตัดกิจกรรมที่ไม่จำเป็นออก

ไทม์ไลน์การให้ความช่วยเหลือ

วันที่ 16 มี.ค.2566 ธนาคาร 11 แห่งในสหรัฐอเมริกาพยายามช่วย FRB โดยอัดฉีดเงินฝากใหม่จำนวน 30,000 ล้านดอลลาร์ โดยเจพีมอร์แกน, แบงก์ ออฟ อเมริกา, ซิตี้กรุ๊ป และเวลส์ ฟาร์โก ต่างก็ทุ่มเงินรายละ 5,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนธนาคารอื่น ๆ เช่น โกลด์แมน แซคส์ และมอร์แกน สแตนลีย์ ให้เงินจำนวนน้อยกว่า โดยทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการที่จัดทำขึ้นร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐ ยิ่งไปกว่านั้น FRB ยังได้รับความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องจากคณะกรรมการธนาคารกลางสินเชื่อที่อยู่อาศัย (FHLB) และจากเฟดอีกด้วย

อย่างไรก็ดี ทั้งหมดที่กล่าวมาก็ไม่เพียงพอจะช่วย FRB ได้ โดยราคาหุ้นของธนาคารซึ่งเคยสูงถึง 170 ดอลลาร์ในเดือนมี.ค. ร่วงลงต่ำกว่า 5 ดอลลาร์ในช่วงปลายเดือนเม.ย. การล่มสลายของ FRB จะไม่เพียงส่งผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นสามัญเท่านั้น แต่ยังรวมถึงหุ้นบุริมสิทธิมูลค่า 3.6 พันล้านดอลลาร์ และตั๋วเงินที่ไม่มีหลักประกันอีก 800 ล้านดอลลาร์อีกด้วย

ก่อนหน้านี้ FRB เคยมีการเปลี่ยนมือเจ้าของมาหลายครั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยในปี 2550 เมอร์ริล ลินช์ จ่ายเงิน 1,800 ล้านดอลลาร์เพื่อซื้อกิจการ ต่อมากรรมสิทธิ์ตกเป็นของแบงก์ ออฟ อเมริกา ที่เข้าซื้อเมอร์ริล ลินช์ ในปี 2552 และเปลี่ยนมืออีกครั้งในช่วงกลางปี 2553 เมื่อบริษัทด้านการลงทุนหลักทรัพย์ เช่น เจเนอรัล แอตแลนติก และโคโลนี แคปิตอล เข้าซื้อ FRB ในราคา 1,860 ล้านดอลลาร์แล้วเปลี่ยนให้เป็นบริษัทมหาชน

ข้อมูลอ้างอิง