แบงก์กรุงศรี ฉีด 3 พันล้าน ช่วยเอสเอ็มอีฟื้นตัว

21 เม.ย. 2566 | 09:38 น.

กรุงศรีลั่น ยังประคับประคองลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง พร้อมสินเชื่อปรับตัว 3,000 ล้าน หนุนใช้ไอที-ESG ช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว เผยวิธีบริหารจัดการหนี้ทั้งขายเอ็นพีแอล ส่ง RM1คนประกบลูกค้า 80 บัญชีหวังแก้ปัญหารายตัว

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เห็นควรดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเห็นความสำคัญของการมีมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับฐานะของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ยังเปราะบางและอ่อนไหวต่อค่าครองชีพและภาระหนี้ที่สูงขึ้น

สำหรับภาพรวมการช่วยเหลือลูกหนี้ ณ 31 ตุลาคม 2565 การแก้หนี้เดิมด้วยการให้ความช่วยเหลือผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ มีจำนวนบัญชีที่ได้รับความช่วยเหลือ 3.95 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดหนี้ 2.98 ล้านล้านบาท

ส่วนการให้สินเชื่อใหม่ ผ่านสินเชื่อฟื้นฟูและ โครงการ Soft loan ของธปท. ณ 3 เมษายน 2566 มีผู้ได้รับความช่วยเหลือ 140,377 ราย คิดเป็นยอดอนุมัติสินเชื่อ 369,613 ล้านบาท ขณะที่โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ของธปท.มีจำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือ 504 ราย คิดเป็นมูลค่าสินทรัพย์ที่รับโอน 74,262.86 ล้านบาท

นางสาวดวงกมล ลิมป์พวงทิพย์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จากสถานการณ์ที่ผ่านมากรุงศรีฯ เห็นลูกค้าเอสเอ็มอีแล้วแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มหนึ่งแม้จำนวนน้อยลง แต่ยังเป็นกลุ่มที่ต้องติดตามให้ความช่วยเหลือ ซึ่งเป็นกลุ่มเดิมที่ช่วยเหลือมาตั้งแต่ช่วงโควิด-19 หากไม่มีการติดตามลูกค้าจะไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ โดยกลุ่มนี้มีการกระจายตัวทั้งภาคการผลิต บริการ เทรดดิ้ง

แบงก์กรุงศรี  ฉีด 3 พันล้าน  ช่วยเอสเอ็มอีฟื้นตัว

ส่วนกลุ่มเปราะบางคือ กลุ่มปรับตัวไม่ทัน โดยกลุ่มที่เปราะบางมีอยู่เล็กน้อยตามปกติของธุรกิจเอสเอ็มอี และด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจที่ค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น ลูกค้าเอสเอ็มอีก็ค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งวิธีการบริหารจัดการหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จะมีการขายเอ็นพีแอลออกบางส่วน และให้ทีมบริหารความสัมพันธ์หรือ RM ติดตามและพูดคุยให้คำปรึกษากับลูกค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือ ซึ่งลูกค้าแต่ละรายก็จะมีมาตรการช่วยเหลือแตกต่างกันไปตามความเหมาะสม

อีกกลุ่มเริ่มพลิกฟื้นพร้อมจะลงทุน จากกระแสตลาดและเศรษฐกิจโลกมีการเปลี่ยนตลอดเวลา จึงเป็นทั้งความท้าทายและโอกาส ฉะนั้นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ ใช้ประโยชน์จากดิจิทัลในช่วงที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงฟื้นตัว

“3 เดือนปีนี้ ยังมีลูกหนี้ 8,400 ราย วงเงิน 7.5 หมื่นล้านบาทที่ยังอยู่ในมาตรการช่วยเหลือ โดยยังไม่มีรายใหม่เข้ามา ซึ่งพบว่า แนวโน้มปัญหาน้อยลงน่าจะออกจากความช่วยเหลือน้อยกว่าครึ่ง ที่เหลือแบงก์ยังคงประคองกันต่อไปตามความจำเป็นโดยมีสินเชื่อเพื่อการปรับตัวทั้งปีตั้งเป้าไว้ 3,000 ล้านบาทจากที่เข้ามาในกระบวนการแล้ว 1,600 ล้านบาท”นางสาวดวงกมลกล่าว

ส่วนลูกค้าที่ฟื้นตัวชัดขึ้นเกี่ยวกับธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร สินค้าบริโภคที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ภาคอสังหาริมทรัพย์แนวโน้มดีขึ้น ส่วนการบริหารจัดการ ทาง RM ไม่รอจนลูกค้าไม่สามารถชำระหนี้ โดยจะติดตามใกล้ชิดทั้งพูดคุยทางโทรศัพท์ พบปะช่วยประคับประคอง เพื่อให้ปรับโครงสร้างวงเงินได้ทัน ทำให้ควบคุมเอ็นพีแอลได้ดีและยังคงทำต่อไป

ปัจจุบัน RM 1คน ดูแลลูกค้าไซซ์ S: (ยอดขาย 20-250 ล้านบาท) ประมาณ 70-80 บัญชี ลูกค้าไซซ์ M: (ยอดขาย 250-1,000 ล้านบาท) ประมาณ 35 ราย ไซซ์ BB: Business Banking (ยอดขายน้อยกว่า 20 ล้านบาท) และยอดขายตั้งแต่ 1,000ล้านบาทขึ้นไปจะเป็นกลุ่มลูกค้า Corporate ขณะที่เอสเอ็มอีที่เป็นลูกค้าเทรดไฟแนนซ์ 4.1% ของพอร์ตเอสเอ็มอี

สำหรับลูกค้าเหล่านี้จะดูแลโดยระดับ Portfolio Management ด้วยกลยุทธ์ 3P คือ Portfolio นำเสนอ Solution ตามอุตสาหกรรม, Product เช่น ผลิตภัณฑ์สำหรับธุรกรรมดิจิทัล และ ESG Finance (Transformation Loan, Solar Roof Lending Program ธุรกรรมทางการเงิน KBOL, การทำการยืนยันธุรกรรมซื้อขายเงินตราต่างประเทศ E-FX Confirmation การทำธุรกรรมระหว่างประเทศ Trade Finance หรือการขยายธุรกิจ จับคู่ธุรกิจ Krungsri Business Link, Platform

นางสาวดวงกมล กล่าวต่อว่า ทั้ง 3 กลยุทธ์จะช่วยตอบโจทย์การทำธุรกิจลูกค้าแบบครบวงจร ตอบสนองความต้องการของธุรกิจ ทำให้ลูกค้ามีความเชื่อมั่น และเปอร์เซ็นต์การเลือกใช้ธนาคารกรุงศรีฯ เป็นธนาคารหลักของธุรกิจสูงขึ้นและอยากเห็นลูกค้าใช้บริการผ่านแพลตฟอร์ม KBOL เกินกว่า 1.6 แสนราย ภายในสิ้นปี 2566 จากที่มียอดผู้ใช้อยู่ 9.8 หมื่นราย

ปัจจุบันกรุงศรีฯ มีมีฐานลูกค้ากว่า 400,000 ราย โดยเป็นลูกค้าที่ใช้สินเชื่ออยู่กว่า 40,000 ราย รวมลูกค้าเอสเอ็มอีที่ใช้บริการด้านอื่นๆ อาทิ เงินฝาก, บริหารจัดการเงินสด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยมีกลุ่มเอสเอ็มอีจะมีรายได้หลักจากอัตราดอกเบี้ยเป็นหลัก ที่เหลือเป็นรายได้มิใช่ดอกเบี้ยประมาณ 15% 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,880 วันที่ 20 - 22 เมษายน พ.ศ. 2566