UBS จ่อปลดพนักงาน 20-30% ปรับโครงสร้างหลังซื้อกิจการเครดิตสวิส

03 เม.ย. 2566 | 03:40 น.

ธนาคารยูบีเอส (UBS) อาจจำเป็นต้องปลดพนักงาน 36,000 คนทั่วโลก หรือคิดเป็น 20-30% ของพนักงานทั้งหมดที่มีอยู่ หลังเข้าเทคโอเวอร์กิจการธนาคารเครดิตสวิสที่ประสบปัญหาหลากหลายด้าน

หนังสือพิมพ์ทาเกส-อันไซเกอร์ (Tages-Anzeiger) สื่อท้องถิ่นของสวิตเซอร์แลนด์ รายงานโดยอ้างอิงแหล่งข่าวเมื่อวันอาทิตย์ (2 เม.ย.) ระบุว่า ธนาคารยูบีเอส (UBS) ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่ที่สุดของประเทศ เตรียมเลิกจ้างพนักงานราว 20 - 30% ของทั้งหมด หลังจากที่ได้ตัดสินใจเข้าซื้อกิจการ ธนาคารเครดิตสวิส (Credit Suisse)ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

โดยธนาคารยูบีเอสได้ตกลงเข้าซื้อกิจการธนาคารเครดิตสวิส ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่อันดับสองของสวิตเซอร์แลนด์ ในราคา 3,000 ล้านฟรังก์สวิส หรือประมาณ 3,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในข้อตกลงที่จัดการโดยรัฐบาล ธนาคารกลาง และหน่วยงานกำกับดูแลของสวิตเซอร์แลนด์ (ฟินมา) เพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤตในระบบการเงินของประเทศ

ธนาคารยูบีเอส (UBS) ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่ที่สุดของประเทศ เตรียมเลิกจ้างพนักงานราว 20 - 30% ของทั้งหมด

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ข้อตกลงดังกล่าวกำหนดขึ้นมาเพื่อรับประกันเสถียรภาพด้านการเงินทั่วโลกด้วย แต่ก็ได้สร้างความกังวลเกี่ยวกับขนาดของธนาคารแห่งใหม่ที่มีสินทรัพย์รวมกันราว 1.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีพนักงานในสาขาต่าง ๆ ทั่วโลกมากกว่า 120,000 คน

ทาบอดีต CEO กลับมาช่วยบริหารความเสี่ยง

คณะกรรมการบริหารของยูบีเอส กำลังพิจารณา ลดอัตราพนักงานลง 25,000-36,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้ อยู่ในสวิตเซอร์แลนด์มากถึง 11,000 คน ส่วนตำแหน่งงานในสาขาต่าง ๆ ที่สหรัฐก็คาดว่าจะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ยูบีเอสยังประกาศว่า จะให้ นายแซร์จีโอ แอร์มอตตี ซึ่งเคยเป็นซีอีโอของธนาคารยูบีเอสในช่วงปีพ.ศ. 2554-2563 กลับมาทำหน้าที่อีกครั้ง เพื่อดูแลความเสี่ยงขนาดใหญ่ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการควบรวมกิจการกับเครดิตสวิสที่มีปัญหาหลายด้าน

ข่าวระบุว่า แผนการควบรวมกิจการเข้ากับเครดิตสวิส จะทำให้ยูบีเอสต้องแบกรับภาระหนี้ของเครดิตสวิสถึง 5,400 ล้านดอลลาร์ คาดว่าธนาคารทั้งสองแห่ง จะสามารถดำเนินการเกี่ยวกับกระบวนการควบรวมกิจการครั้งนี้ ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2023 นี้ 

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้มีขึ้นท่ามกลางแรงสนับสนุนจากธนาคารกลางทั่วโลก โดยหลังจากมีข่าวธนาคารยูบีเอสเข้าซื้อธนาคารเครดิตสวิส ทางด้านธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ก็ได้ร่วมกับธนาคารกลางของแคนาดา อังกฤษ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และสวิตเซอร์แลนด์ ประสานความร่วมมือกัน เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องและรักษาเสถียรภาพให้กับตลาดการเงินการธนาคาร  

ด้านธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ก็ได้ให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนธนาคารในเขตยูโรโซนด้วยเงินกู้หากจำเป็น และแนวทางการช่วยเหลือธนาคารเครดิตสวิส ก็ถือเป็นเครื่องมือสำหรับการฟื้นฟูความสงบเรียบร้อยในแวดวงธนาคาร ณ เวลานี้

อนึ่ง เครดิตสวิส (Credit Suisse) เป็นธนาคารเก่าแก่อายุกว่า 167 ปีของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นับเป็นธนาคารรายใหญ่สุดที่สร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดหลังจากเกิดวิกฤตการเงินกับธนาคารซิลิคอนวัลลีย์ (Silicon Valley Bank หรือ SVB) และธนาคารซิกเนเจอร์ แบงก์ (Signature Bank) ซึ่งเป็นธนาคารระดับภูมิภาคของสหรัฐในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้า