ยังไม่พ้นวิกฤต เฟิร์สท์ รีพับลิค ถูกฟิทช์หั่นเครดิต หวั่นก่อปัญหาระยะยาว

23 มี.ค. 2566 | 08:14 น.

“ฟิทช์” หั่นเครดิตธนาคาร เฟิร์สท์ รีพับลิค  (FRB) ในสหรัฐ แม้ 11 แบงก์ใหญ่จะยื่นมือเข้าช่วยเหลือแล้ว เป็นผลจากการระดมทุนครั้งล่าสุดที่มีต้นทุนสูงมาก ซ้ำยังขาดทุนจากการดำเนินงานซึ่งจะกลายเป็นปัญหาระยะยาว

 

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของ ธนาคารเฟิร์สท์ รีพับลิค แบงก์ (FRB) ซึ่งเป็นธนาคารระดับภูมิภาคของสหรัฐอเมริกาเมื่อวันพุธ (22 มี.ค.) แม้ว่าธนาคารขนาดใหญ่ 11 แห่งในวอลล์สตรีทได้พร้อมใจกันอัดฉีดเม็ดเงินรวม 30,000 ล้านดอลลาร์เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับ FRB เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้วก็ตาม

ทั้งนี้ ฟิทช์ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของ FRB ลงสู่ระดับ "B" จากระดับ "BB" โดยระบุว่าการระดมทุนครั้งล่าสุดของ FBR มีต้นทุนที่สูงมาก

เมื่อไม่นานมานี้ ฟิทช์เพิ่งปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของ FRB มาครั้งหนึ่งแล้วก่อนที่กลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ในวอลล์สตรีทจะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ ขณะที่เอสแอนด์พี (S&P) ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของ FRB ลงมาแล้ว 2 ครั้งเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

ธนาคารรายใหญ่ในวอลล์สตรีท 11 แห่ง ซึ่งรวมถึงเจพีมอร์แกน, ซิตี้กรุ๊ป และโกลด์แมน แซคส์ ได้ประกาศอัดฉีดเงินรวมกันมูลค่า 30,000 ล้านดอลลาร์เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับ FRB เมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยเม็ดเงินเหล่านี้จะถูกนำฝากใน FRB เป็นเวลา 120 วัน (อ่านเพิ่มเติม: พ้นขีดอันตราย? แบงก์ใหญ่ระดม 3 หมื่นล้านอุ้ม "เฟิร์สท์ รีพับลิค แบงก์")

อย่างไรก็ดี ทีมนักวิเคราะห์ของฟิทช์ ซึ่งนำโดยนายโยฮานน์ โมลเลอร์ ระบุว่า เม็ดเงินที่ใช้ในการเสริมสภาพคล่องของ FRB ในครั้งนี้ มีมูลค่าสูงมาก และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความน่าเชื่อถือของธนาคารลดลง

“เรามองว่าขณะนี้ FRB ขาดทุนจากการดำเนินงาน และปัญหานี้จะกลายเป็นปัญหาระยะยาวหากไม่มีการปรับโครงสร้างงบดุลบัญชี” รายงานของฟิตช์ระบุ นอกจากนี้ ยังเสนอแนะว่า            

"FRB จะต้องดำเนินการตามข้อกำหนดการชำระคืนเงินจำนวน 30,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเมื่อเวลาที่กำหนดมาถึง FRB จะเผชิญกับความท้าทายเป็นอย่างมาก" นักวิเคราะห์ของฟิทช์ระบุ

ราคาหุ้น FRB ร่วงลง 15% ในการซื้อขายนอกเวลาทำการที่ตลาดหุ้นนิวยอร์กช่วงเช้าวันนี้ (22 มี.ค.)

หุ้นร่วง 15% เช้านี้ หลังมีข่าวจ้างที่ปรึกษาหาทางออกธุรกิจ

ราคาหุ้นธนาคารเฟิร์สท์ รีพับลิคฯ ร่วงลง 15% ในการซื้อขายนอกเวลาทำการที่ตลาดหุ้นนิวยอร์กช่วงเช้าวันนี้ (22 มี.ค.) หลังจากมีรายงานข่าวว่า ทางธนาคารได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อทำการทบทวนทางเลือกต่าง ๆ และจัดการกับวิกฤตที่เกิดขึ้นกับธนาคาร

หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล รายงานอ้างอิงแหล่งข่าวว่า FRB ได้ว่าจ้างบริษัทลาซาร์ด (Lazard) ให้เข้ามาช่วยทบทวนทางเลือกต่าง ๆ และได้ว่าจ้างบริษัทแมคคินซีย์ (McKinsey) เพื่อวางแผนธุรกิจให้กับ FRB หลังผ่านพ้นวิกฤตการณ์ โดยทางเลือกดังกล่าวนั้นครอบคลุมถึงการตัดขายหุ้น การอัดฉีดเงินทุน และการตัดขายสินทรัพย์

ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า FRB จะลดขนาดของธุรกิจลงมา หากล้มเหลวในการระดมเงินทุน และสำนักข่าวบลูมเบิร์กยังรายงานด้วยว่า FRB อาจจะต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐในการทำข้อตกลงเพื่อฟื้นฟูกิจการ

ราคาหุ้น FRB ร่วงลงทันทีหลังมีรายงานข่าวดังกล่าว ขณะที่ฝ่ายบริหารของ FRB ได้ออกหนังสือถึงลูกค้าเพื่อกอบกู้ความเชื่อมั่นว่า "เรายังคงยึดมั่นในคำสัญญาที่จะให้การบริการแก่ลูกค้า และเรายืนยันว่าสถานะทางธุรกิจของเรายังคงอยู่ในขั้นดีพอที่จะบริหารจัดการเงินฝากของท่านในวันนี้ เช่นเดียวกับทุก ๆ วัน เรายังคงเปิดให้มีการทำธุรกรรม การเปิดบัญชี การปล่อยเงินกู้ บริการตอบคำถามของลูกค้า และให้บริการกับลูกค้าทุกภาคส่วนรวมถึงลูกค้าในส่วนของธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง"

ทั้งนี้ ราคาหุ้น FRB ดิ่งลงในช่วงเช้านี้ หลังจากปิดตลาดทะยานขึ้นแข็งแกร่งเกือบ 30% เมื่อวันอังคาร (21 มี.ค.) หลังจากวอลล์สตรีท เจอร์นัล รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า นายเจมี ไดมอน ซีอีโอของธนาคารเจพีมอร์แกน จะเป็นผู้นำการเจรจาร่วมกับผู้บริหารของธนาคารขนาดใหญ่แห่งอื่น ๆ เกี่ยวกับ “มาตรการครั้งใหม่” ในการสร้างเสถียรภาพให้กับ FRB โดยอาจมีการแปลงเงินฝาก 30,000 ล้านดอลลาร์ก่อนหน้านี้ ให้เป็นการเพิ่มทุนในธนาคาร FRB

FRB ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองซานฟรานซิสโก เป็นธนาคารที่ปล่อยกู้ให้กับบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่เป็นหลัก

อาจต้องพึ่งรัฐบาลสหรัฐผลักดันดีลซื้อกิจการ

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานอ้างอิงแหล่งข่าวว่า บรรดาผู้นำธุรกิจในวอลล์สตรีท และเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐกำลังหารือกันเกี่ยวกับการแทรกแซงวิกฤตการณ์ของธนาคาร FRB โดยมีความเป็นไปได้ว่ารัฐบาลสหรัฐจะต้องยื่นมือเข้ามาสนับสนุนข้อตกลงในการซื้อกิจการของ FRB

แหล่งข่าวระบุว่า กลุ่มผู้นำธุรกิจในวอลล์สตรีทและเจ้าหน้าที่สหรัฐได้เสนอทางเลือกต่าง ๆ ที่จะทำให้ FRB สามารถดึงดูดใจนักลงทุนหรือผู้ซื้อที่มีศักยภาพ ซึ่งความพยายามดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการสร้างความเชื่อมั่นว่าจะไม่มีธนาคารในสหรัฐต้องล้มลงอีก หลังจากธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB), ซิกเนเจอร์ แบงก์ และซิลเวอร์เกต แคปิตอล ล่มสลายลงอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่ถึง 1 สัปดาห์

สำหรับทางเลือกดังกล่าวนั้นครอบคลุมถึงความเป็นไปได้ที่รัฐบาลสหรัฐจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการรับซื้อสินทรัพย์ทั้งหมดของ FRB หลังจากมูลค่างบดุลบัญชีของ FRB ลดฮวบลง, การเสนอคุ้มครองหนี้สิน, การยื่นขอผ่อนปรนกฎระเบียบด้านเงินทุนให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น หรือลดเพดานการถือครองหุ้นของบรรดาผู้ถือหุ้น

แหล่งข่าวระบุว่า การหารือดังกล่าวยังคงดำเนินอยู่ในขณะนี้ โดยมีหลายประเด็นที่ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ นอกจากนี้ ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่ารัฐบาลสหรัฐจะให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่ FRB หรือไม่

ในฝั่งของเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังสหรัฐ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และบรรษัทค้ำประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FDIC) ต่างก็ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นใด ๆ เกี่ยวกับรายงานข่าวดังกล่าว

ปัจจุบัน FRB ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองซานฟรานซิสโก เป็นธนาคารที่ปล่อยกู้ให้กับบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ โดยราคาหุ้น FRB ทรุดตัวลงถึง 89% แล้วนับตั้งแต่ต้นปีมานี้ หลังจากนักลงทุนแห่งถอนเงินจำนวนมาก ซึ่งกดดันให้ FRB ต้องตัดขายสินทรัพย์ที่มีมูลค่าลดลง อันเป็นผลกระทบของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)