นักวิชาการ ชี้ “เครดิต สวิส” ไม่บานปลายเป็นวิกฤตการเงินโลก

16 มี.ค. 2566 | 06:05 น.

“สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์” นักวิชาการอิสระ มองกรณีปัญหาธนาคารเครดิต สวิส (Credit Suisse) ไม่น่าบานปลายเป็นวิกฤตการเงินโลก แนะต้องบริหารจิตวิทยาคนให้มั่นใจ

กรณีปัญหาธนาคาร เครดิต สวิส (Credit Suisse) หลังราคาหุ้นร่วงหนัก จนทำให้เกิดความความหวั่นวิตกเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของธนาคารเพื่อการลงทุนและบริการทางการเงินระดับโลกแห่งนี้ อาจกลายเป็นวิกฤตการเงินของโลก

เชื่อไม่บานปลายเป็นวิกฤต

ล่าสุด รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กรณีที่ที่กำลังเกิดขึ้นของธนาคารเครดิต สวิส นั้น คงไม่ส่งผลกระทบเป็นโดมิโน่จนกลายเป็นวิกฤตการเงินโลก แต่ก็ยังต้องติดตามสถานการณ์เอาไว้อย่างใกล้ชิด 

“แท้จริงแล้วเครดิต สวิส มีปัญหาของตัวเองมาก่อนหน้านี้หลายเดือนแล้ว เพียงแค่ตอนนี้มาเจอในระลอกที่สองเท่านั้น เรียกง่าย ๆ ว่า ตัวเองบาดเจ็บมาก่อนหน้าแล้ว ก็มาเจอผลกระทบอีกรอบ แต่ก็เป็นปัญหาแค่จุด ๆ ไม่น่าจะลุกลามอะไร เพียงแต่ตอนนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของจิตวิทยาคน ซึ่งจะต้องสร้างความมั่นใจให้เร็ว” ดร.สมชาย ระบุ

SNB การันตีสถานะ "เครดิต สวิส"

กรณีปัญหาเครดิต สวิส นั้น ล่าสุด ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ (SNB) และ ฟินมา (FINMA) ที่เป็นหน่วยงานผู้ดูแลกฎระเบียบด้านการเงิน ได้ออกแถลงการณ์ร่วมเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา เกี่ยวกับภาวะความไม่แน่นอนในตลาดการเงิน โดยระบุว่า ปัญหาที่ธนาคารบางแห่งในสหรัฐอเมริกาประสบอยู่ในเวลานี้ ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสี่ยงโดยตรงในลักษณะที่ลุกลามมายังตลาดการเงินของสวิตเซอร์แลนด์ 

เนื่องจากในสวิตเซอร์แลนด์นั้น มีกฎเกณ์ที่เข้มงวดกำกับดูแลภาคธนาคารเกี่ยวกับเงินทุนและสภาพคล่อง เพื่อสร้างความมั่นใจเกี่ยวกับเสถียรภาพของบรรดาสถาบันการเงิน ซึ่งในกรณีของ ธนาคารเครดิต สวิส (Credit Suisse) หรือ CS ที่กำลังเป็นข่าวอยู่นั้น ถือว่าผ่านเกณฑ์ทุกอย่างทั้งด้านเงินทุนและสภาพคล่อง 

โดยกฎเกณฑ์ดังกล่าวบังคับใช้กับธนาคารที่มีความสำคัญในเชิงระบบทุกราย และหากถึงคราวจำเป็นจริงๆ SNB ก็พร้อมให้ความช่วยเหลือเพื่อเสริมสภาพคล่องแก่ธนาคารเครดิตสวิส

ปัญหาแบงก์สหรัฐฯ ไม่ซ้ำรอยเดิม

นอกจากนี้ในส่วนของปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสถาบันการเงินชั้นนำของโลกนั้น ดร.สมชาย มองว่า ตอนนี้เริ่มคลี่คลายลงบ้าง แต่ก็ยังไม่จบทีเดียว และยังต้องเฝ้าติดตามกันต่อไป

แต่สิ่งที่เห็นได้ในทันทีคือ การเข้ามาแก้ไขปัญหา เช่น โมเดลการแก้ปัญหาของอังกฤษที่ใช้รูปแบบการเทคโอเวอร์ หรือการหาทางออกด้วยการให้แบงก์ที่มีปัญหาขายพันธบัตรในราคาเดิมได้ โดยแนวทางทั้งหมดน่าจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ฝากเงินได้ดี 

“ปัญหาการเงินโลก คิดว่าไม่น่าลามไปมากไม่เหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมืองปี 2008 ภาคอสังหาริมทรัพย์ตอนนั้นปล่อยกู้มากจนเจ๊ง และแบงก์ได้รับผลกระทบ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ไม่เหมือนกัน และวิธีการแก้ปัญหาก็มีหลายทางเลือก” ดร.สมชาย ทิ้งท้าย