“เครดิตสวิส”หุ้นดิ่ง หวั่นเป็นโดมิโนตัวใหม่ล่าสุดในวิกฤตธนาคาร

16 มี.ค. 2566 | 00:22 น.

แบงก์ยักษ์ใหญ่ “เครดิตสวิส” อาจกลายเป็นโดมิโนตัวใหม่ในวิกฤตธนาคารล้ม หลังราคาหุ้นดำดิ่งแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์วานนี้ (15 มี.ค.) 

 

ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ (SNB) ออกโรงยันเมื่อวันพุธ (15มี.ค.) ว่าระดับเงินทุนและสภาพคล่องของ ธนาคารเครดิตสวิส (Credit Suisse) นั้นยังมีเพียงพอ และหากมีความจำเป็น ธนาคารกลางเองก็พร้อมจัดหาสภาพคล่องเสริมให้ ท่ามกลางความหวั่นวิตกเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของธนาคารเพื่อการลงทุนและบริการทางการเงินระดับโลกแห่งนี้

ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญ ชี้ “เครดิตสวิส” เป็นสถาบันการเงินที่ใหญ่เกินกว่าจะถูกปล่อยให้ล้ม และถ้ามีปัญหาร้ายแรง จะสร้างความเจ็บปวดไปทั่วทั้งโลก

แถลงการณ์ของธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ มีขึ้นหลังจากที่หุ้นของธนาคารเครดิตสวิส ซึ่งเป็นสถาบันการเงินใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของประเทศ ดำดิ่งแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (15มี.ค.) หลังจากผู้ถือหุ้นหลักของธนาคารออกมายืนยันว่า จะไม่เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เครดิตสวิส ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวก่อให้เกิดความสั่นคลอนแก่ตลาดวานนี้ (15 มี.ค.)

ปัญหาของธนาคารเก่าแก่อย่างเครดิตสวิสมีสั่งสมมายาวนานแล้ว

ปัญหาของธนาคารเก่าแก่กว่าร้อยปีอย่างเครดิตสวิสมีสั่งสมมายาวนานแล้ว แม้ธนาคารกลาง (SNB) และ "ฟินมา" ที่เป็นหน่วยงานผู้ดูแลกฎระเบียบด้านการเงินของสวิตเซอร์แลนด์ จะออกมายืนยันว่า เครดิตสวิสผ่านมาตรฐานข้อบังคับด้านเงินทุนและสภาพคล่องระดับสูงที่ปรับใช้อย่างเป็นระบบกับธนาคารต่างๆ แต่ปัญหาเริ่มปรากฏชัดเจนเมื่อเร็วๆนี้เมื่อ มูลค่าตลาดของธนาคารเครดิตสวิส ดำดิ่งลงต่ำกว่า 7,000 ล้านยูโร

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ธนาคารเครดิตสวิส เผชิญเรื่องอื้อฉาวต่างๆนานาที่ทำให้ราคาหุ้นของธนาคารดำดิ่งลง และล่าสุด นายอัมมาร์ อัล คูไดรี ประธานซาอุดี เนชันแนล แบงก์ (Saudi National Bank) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธนาคารเครดิตสวิส ออกมายืนยันว่า เขาจะไม่เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ธนาคารเครดิตสวิสอีก ทำให้มูลค่าตลาดของเครดิตสวิส ซึ่งตกต่ำอยู่ก่อนแล้วในช่วงต้นสัปดาห์ (ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ธนาคารใหญ่ของสหรัฐ 2 แห่งล้มครืน) ถูกกระหน่ำซ้ำเติมเข้าไปอีก โดยหุ้นของธนาคารเครดิตสวิสในตลาดหลักทรัพย์สวิตเซอร์แลนด์ ดิ่งลงอย่างรวดเร็วมากกว่า 30% จนแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.55 ฟรังก์สวิส ก่อนจะแกว่งตัวขึ้นมาเล็กน้อย ปิดการซื้อขายประจำวันที่ 1.679 ฟรังก์สวิส หรือปรับลด 24.24% เมื่อวันพุธ (15 มี.ค.)

ความกังวลเกี่ยวกับธนาคารใหญ่และเก่าแก่แห่งนี้ แผ่ลามออกไปนอกตลาดสวิตเซอร์แลนด์ แต่ตลาดหุ้นสหรัฐฟื้นตัวขึ้นมาปิดในกรอบแคบๆ หลังธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ (SNB)ให้คำรับประกันเกี่ยวกับสถานะของเครดิตสวิส ทั้งนี้ โฆษกกระทรวงการคลังสหรัฐระบุว่า ทางกระทรวงฯกำลังจับตาปัญหาต่างๆที่เกี่ยวเนื่องกับธนาคารดังกล่าว และกำลังอยู่ในการติดต่อประสานงานกับบรรดากระทรวงการคลังทั่วโลก

นายอักเซล เลห์มันน์ ประธานธนาคารเครดิตสวิส

"เรามีอัตราส่วนเงินทุนที่แข็งแกร่งและงบดุลที่เข้มแข็ง"

หลังจากที่ตลาดเกิดความตื่นตระหนก นายอักเซล เลห์มันน์ ประธานธนาคารเครดิตสวิส ได้กล่าวยืนยันในเวทีสัมมนาภาคการเงินที่ซาอุดีอาระเบียว่า ทางธนาคารเครดิตสวิส ไม่จำเป็นต้องขอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาล "เรามีอัตราส่วนเงินทุนที่แข็งแกร่งและงบดุลที่เข้มแข็ง" เขายังกล่าวด้วยว่า "เราได้ใช้ยาไปแล้วด้วย" ซึ่งเขาหมายถึงแผนปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ภายในธนาคารเครดิตสวิสซึ่งเปิดเผยเมื่อเดือนตุลาคมปีก่อน (2565)

สื่อต่างประเทศระบุว่า เครดิตสวิสเป็นหนึ่งใน 30 ธนาคารระดับโลก ที่ถูกมองว่า “ใหญ่เกินไปที่จะล้ม” ซึ่งสถานะดังกล่าวนี้บีบให้พวกเขาต้องกันเงินเพิ่มเติมเพื่อยืนหยัดรับมือกับวิกฤตที่อาจเกิดขึ้น

หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์ส สื่อใหญ่ของอังกฤษรายงานอ้างอิงแหล่งข่าวซึ่งไม่ประสงค์เอ่ยนาม ระบุว่า เครดิตสวิส ร้องขอไปยังธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์และคณะผู้ควบคุมกฎระเบียบด้านการเงิน เพื่อขอให้แสดงจุดยืนสนับสนุนธนาคาร

อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิเคราะห์ออกโรงเตือนว่า เริ่มมีความกังวลเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับความอยู่รอดของธนาคารเครดิตสวิส และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อภาคธนาคารในวงกว้าง ในขณะที่หุ้นของสถาบันการเงินอื่นๆกลับมาดิ่งลงหนักอีกครั้งในวันพุธ(15มี.ค.) "เมื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่งทิ้งไป คนอื่นๆ ก็อาจทำตาม เวลานี้เครดิตสวิส จำเป็นต้องมีแผนเป็นรูปธรรมสำหรับการหยุดกระแสเงินไหลออก และพวกเขาต้องลงมือทำมันอย่างรวดเร็ว" คริส เบาแคมป์ นักวิเคราะห์จากไอจีให้ความเห็น

ขณะที่ นีล วิลสัน หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ตลาดของบริษัทเทรดดิง ฟินัลโต เห็นด้วยกับมุมมองดังกล่าว โดยระบุว่า ถ้าเครดิตสวิสมีปัญหาการอยู่รอดขั้นร้ายแรง ภาคการธนาคารทั้งหมดก็จะรับรู้ได้ถึงความเจ็บปวด “เพราะมันใหญ่เกินไปที่จะล้ม”

ทั้งนี้ ซาอุดี เนชันแนล แบงก์ กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของเครดิตสวิส ในการเพิ่มทุนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 หลังจากนั้น มีการอัดฉีดเงินปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ในเครดิตสวิส โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพของธนคารแห่งนี้อย่างไรก็ตาม นายคูไดรี ประธานซาอุดี เนชันแนล แบงก์ ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ใหญ่ที่สุดของประเทศซาอุดีฯ ประกาศจะไม่ใส่เงินเข้าไปอีกแล้ว นั่นเป็นเหตุล่าสุดที่ทำให้เครดิตสวิสระส่ำหนัก

นายคูไดรี ให้เหตุผลกับบลูมเบิร์กทีวีเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า "ตอนนี้เราถือหุ้นของธนาคารเครดิตสวิส 9.8% ถ้าหากเราถือเกินกว่า 10% กฎระเบียบใหม่ๆทุกรูปแบบจะประดังเข้ามา และเราไม่อยากเข้าสู่ระบบระเบียบใหม่ที่ว่านั้น" ดังนั้น "แน่นอนว่าไม่ เราจะไม่เพิ่มทุนเข้าไปอีก ด้วยหลายๆเหตุผลนอกเหนือจากเหตุผลที่ง่ายที่สุด คือประเด็นด้านกฎระเบียบและกฎหมาย"

ความหมายของเขาก็คือ ธนาคารซาอุดี เนชันแนล แบงก์ ไม่สามารถเพิ่มความช่วยเหลือทางการเงินต่อเครดิตสวิส เนื่องจากการใส่ทุนเพิ่มจะทำให้ซาอุดี เนชันแนล แบงก์ ถือหุ้นในเครดิตสวิสมากกว่า 10% ซึ่งจะเป็นการทำผิดกฎระเบียบการธนาคารของสวิตเซอร์แลนด์

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 หุ้นของเครดิตสวิส มีมูลค่า 12.78 ฟรังก์สวิส แต่หลังจากนั้นธนาคารแห่งนี้ก็ได้เผชิญกับปัญหาต่างๆมากมาย ที่ทำให้มูลค่าตลาดของธนาคารลดลงมาเรื่อย ๆ ซึ่งรวมถึงการที่...

  • เครดิตสวิส ได้รับผลกระทบขาดทุนมหาศาลจากการผิดนัดชำระหนี้และปิดตัวลงของเฮดจ์ฟันด์ Archegos ในสหรัฐ ซึ่งส่งผลกระทบทางการเงินแก่เครดิตสวิสมากกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์
  • นอกจากนี้ แผนกบริหารจัดการทรัพย์สินของธนาคารเครดิตสวิส ยังได้รับผลกระทบจากการล้มละลายของ “กรีนซิล” บริษัทการเงินของสหราชอาณาจักร
  • และปลายปีที่ผ่านมา ลูกค้าเครดิตสวิสแห่ถอนเงินฝากมากกว่า 1.10 แสนล้านฟรังก์สวิสในไตรมาส 4/2565 ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับข่าวอื้อฉาวของธนาคารในการทำผิดกฎระเบียบ และความเสี่ยงในการถูกดำเนินคดี

เครดิตสวิสเปิดเผยว่า ธนาคารขาดทุนสุทธิ 1,400 ล้านฟรังก์สวิสในไตรมาส 4/2565 โดยสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1,320 ล้านฟรังก์สวิส ส่งผลให้ยอดขาดทุนตลอดทั้งปีงบประมาณ 2565 อยู่ที่ 7,300 ล้านฟรังก์สวิส หรือประมาณ 7,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ