ประธาน บลจ.บัวหลวงเตือนจับตาเครดิตสวิส จุดชนวนวิกฤตโลกอีกครั้ง

16 มี.ค. 2566 | 01:13 น.

การที่ “เครดิตสวิส” มีขนาดงบดุลใหญ่กว่า Silicon Valley Bank มากนัก และยังเชื่อมโยงไปทั่วโลก จึงทำให้วิตกกันว่า “นี่คือจุดเริ่มต้นของวิกฤตการณ์ระดับโลกอีกครั้ง ใช่หรือไม่”

 

16 มี.ค. 2566 นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการบริหาร บลจ.บัวหลวง โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ Credit suisse ! แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาของ ธนาคารเครดิตสวิส ที่หุ้นดำดิ่งวานนี้ (15 มี.ค.) ระบุว่า แบงก์ชาติสวิสประกาศช่วยเหลือแล้ว แต่ยังไม่รู้จะเป็นรูปแบบไหน ต้องติดตามเพราะขนาดของเครดิตสวิสอาจส่งผลต่อ วิกฤตโลก

รายละเอียดเนื้อหาระบุว่า วานนี้ (15 มีนาคม 2566) หุ้น CSGN ของธนาคารเครดิตสวิส (Credit Suisse) ในตลาดหลักทรัพย์สวิตเซอร์แลนด์ ร่วงลง 30% แตะระดับต่ำสุดเท่าที่เคยมีมา (all-time low) ที่ราคา 1.56 ฟรังก์สวิสต่อหุ้น ณ เวลาสวิส 14.30 น. แล้วขึ้นไปปิดที่ 1.70 ฟรังก์สวิส หรือลดลง 24.24% ส่งผลให้หุ้นธนาคารต่างๆ ในตลาดหุ้นยุโรปดิ่งลงไปโดยเฉลี่ย 7% ลามไปถึงตลาดหุ้นสหรัฐฯ และของประเทศอื่นๆ

การเทขายหุ้นนี้เป็นผลมาจากการที่แบงก์ชาติซาอุฯ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธนาคารเครดิตสวิสบอกว่าจะไม่เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นเพื่อช่วยเหลือทางการเงินแก่เครดิตสวิสอีกแล้ว

ประธาน บลจ.บัวหลวงระบุว่า “ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรก … หลังจากที่โลกกำลังจับตามองการล้มของ 3 ธนาคารในสหรัฐฯ นำโดย SVB … พอเหตุการณ์จะคลี่คลายขึ้นมาบ้าง ก็เกิดเรื่องกับเครดิตสวิสในยุโรปขึ้นมาซะอีก

ที่จริงนั้นเครดิตสวิสมีปัญหามาตั้งแต่ก่อนหน้านี้ปีมะโว้ และคนในวงการก็รู้ๆ กันอยู่แล้วว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบได้ จึงไม่น่าตกใจนัก

แต่นักลงทุนมองว่าด้วยความใหญ่ของเครดิตสวิส (ที่มีสินทรัพย์กว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ ในขณะที่เลห์แมน บราเธอร์ส ตอนจะล้มในปี 2008 มีขนาดสินทรัพย์เพียง 6 แสนล้านดอลลาร์) จะเป็นปัญหาระดับโลก และคาดว่าธนาคารอื่นๆ จะมีปัญหาตามมาอีก

ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา Credit Suisse ได้เสียหายอย่างหนักถึง 2 ครั้งจากการเข้าลงทุนในบริษัท Greensil 3.8 แสนล้านบาท รวมถึงไปปล่อยกู้ให้กับ Archegos Capital Management สูงถึง 1.1 ล้านล้านบาท แล้วทั้งสองแห่งนี้ต่างก็ล้มละลายทั้งคู่ ทำให้ Credit Suisse ขาดทุนติดต่อกันแล้วหลายไตรมาส ทำให้แบงก์นี้อยู่ในสถานะง่อนแง่น คนจะปล่อยกู้ให้ก็กลัวไม่ได้เงินคืน คนจะเพิ่มทุนให้ก็ไม่อยากทำการกุศลอีกแล้ว

ด้วยความกลัว นักลงทุนจึงสวมใส่ “หลวงพ่อโกย วัดหน้าตั้ง” เผ่นหนีไฟไปตามระเบียบ เทขายหุ้น (ไม่จำกัดเฉพาะหุ้นธนาคารเครดิตสวิส) แล้วหันไปหลบภัยด้วยการซื้อพันธบัตรรัฐบาลแทน ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นยุโรปล่าสุดร่วงลงไป 2% ขณะที่ดัชนี S&P 500 ในสหรัฐร่วง 1.3% และทำให้ราคาพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นของเยอรมนีพุ่งสูงขึ้น (เพราะแย่งกันซื้อเพื่อหลบภัยก่อน) ส่งผลให้ผลตอบแทนลดลงกว่า 0.40%

แต่การที่เครดิตสวิสมีขนาดงบดุลใหญ่กว่า Silicon Valley Bank มากนัก และยังเชื่อมโยงไปทั่วโลก จึงทำให้วิตกกันว่า “นี่คือจุดเริ่มต้นของวิกฤตการณ์ระดับโลกอีกครั้ง ใช่หรือไม่”

ในท้ายที่สุด โพสต์ของประธาน บลจ.บัวหลวง สรุปว่า การจะแก้ปัญหาได้เร็วหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง ที่จะต้องตัดสินวิธีแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว รอบคอบ และเด็ดขาด ล่าสุดในวินาทีนี้ แบงก์ชาติสวิสบอกว่าพร้อมจะให้ความช่วยเหลือ โดยพร้อมอัดฉีดสภาพคล่องให้เครดิตสวิส (Credit Suisse) เมื่อจำเป็น และทางเครดิตสวิสก็ตอบรับคำเสนอนั้นแล้ว