คลังไฟเขียวแบงก์รัฐ ลดเงินนำส่งกองทุน SFIF อุ้มลูกหนี้อีก 1 ปี

10 ม.ค. 2566 | 01:56 น.

คลังอนุมัติ 4 แบงก์รัฐ "ออมสิน-ธ.ก.ส.-ธอส.-ไอแบงก์" ลดเงินนำส่งเงินกองทุน SFIF เหลือ 0.125% ต่ออีก 1 ปี แลกเงื่อนไขดูแลลูกหนี้รับผลกระทบเศรษฐกิจ จ่อชงครม. เร็วๆ นี้

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาปรับลดเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIF) จาก 0.25% เหลือ 0.125% ของยอดเงินฝากที่ได้รับฝากจากประชาชนออกไปอีก  1 ปี จนถึงสิ้นปี 66 เพื่อช่วยบรรเทาภาระรายจ่ายให้แก่ลูกหนี้แบงก์ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ และยังไม่ฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด และในเร็วๆ นี้คลังจะเสนอให้ ครม.เห็นชอบต่อไป

 

“การมีมติดังกล่าวจะทำให้ธนาคารรัฐทั้ง 4 แห่งที่มีการรับฝากเงินจากประชาชน ประกอบด้วย ธนาคารออมสิน  ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย สามารถลดเงินนำส่งได้กึ่งหนึ่ง ซึ่งจะทำให้มีความสามารถในการช่วยเหลือลูกหนี้ได้มากขึ้น และป้องกันไม่ให้เกิดเป็นหนี้เสียอีกด้วย”

 

อย่างไรก็ตาม ในการปรับลดเงินนำส่งเข้ากองทุนฯ รอบนี้ ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้กำหนดเงื่อนไขว่าแบงก์รัฐจะต้องนำภาระเงินนำส่งที่ลดลง ไปช่วยเหลือลูกหนี้เฉพาะกลุ่มที่เดือดร้อนตัวจริง จะไม่หว่านแหช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งหมด เพราะบางส่วนมีความสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ปกติแล้ว  ดังนั้น จึงไม่มีการตรึง หรือลดดอกเบี้ยอ้างอิง เช่น เอ็มแอลอลาร์ เอ็มโออาร์ และเอ็มอาร์อาร์ แต่อาจเห็นมาตรการช่วยเหลือเป็นการเฉพาะมากขึ้น

 

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ในฐานะประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ กล่าวว่า การขยายเวลาลดเงินนำส่งเข้ากองทุนฯ อีก 1 ปีจะช่วยให้ธนาคารรัฐมีความสามารถช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มขึ้นได้แน่นอน แต่หลังจากนี้จะต้องรอดูความชัดเจนเงื่อนที่กระทรวงการคลังกำหนดก่อนว่าเป็นอย่างไร  เพื่อให้แต่ละแบงก์รัฐนำไปบริหารจัดการ  ช่วยลูกหนี้ให้เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ของตนเอง 

 

“แต่ขอให้ลูกค้าของสถาบันการเงินของรัฐเบาใจได้ว่า จะไม่เห็นการขึ้นดอกเบี้ยอ้างอิงทีละ 0.4% เหมือนกับธนาคารพาณิชย์ เพราะขณะนี้คลังได้ขยายเวลาลดเงินนำส่งให้แล้วครึ่งหนึ่ง อย่างไรก็ดีต่อไปแบงก์รัฐก็อาจจะขึ้นดอกเบี้ยได้บ้าง แต่จะขึ้นให้สอดคล้องตามภาวะตลาด รวมถึงจะดูแลประชาชนให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ตามนโยบายของกระทรวงการคลัง”  

 

ส่วนของธนาคารอาคารสงเคราะห์ ล่าสุดได้จัดทำมาตรการ 23 ช่วยเหลือลูกค้าที่เป็นหนี้เสีย หรืออยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคาร ที่ยังได้รับผลกระทบด้านรายได้จากปัญหาโควิดโดยให้ได้รับความช่วยเหลือนานสูงสุด 2 ปี  เลือกได้ 2 แนวทาง ประกอบด้วย เลือกผ่อนชำระเริ่มต้น 1,000 บาท คิดดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 6 เดือน หรือ เลือกผ่อนชำระเริ่มต้น 1,500 บาท อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 9 เดือน ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้ามาตรการผ่านแอพพลิเคชัน GHB ALL BFRIEND ตั้งแต่วันนี้ ถึง 30 มิ.ย.66