แรงเก็งกำไรดันบาทแข็ง หลุด 34 บาทต่อดอลลาร์

07 ม.ค. 2566 | 03:40 น.

ปัจจัยบวกท่วมตลาด หนุนบาทแข็งหลุด 34 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าสุดรอบ 8 เดือน ทั้งจีนเปิดประเทศ แถมเฟดส่งสัญญาณชะลออัตราขึ้นดอกเบี้ยลง ฉุดดอลลาร์อ่อน ดันบาทแข็งนำภูมิภาค

จีนเปิดประเทศ ส่งแรงหนุนต่อค่าเงินบาทไทย ทำให้มีแรงซื้อเก็งกำไรจากการคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะทะลุ 20 ล้านคน แถมได้แรงหนุนจากเฟดที่ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยชะลอลง ทำให้ค่าเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าเร็ว หลุดระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าสูงสุดในรอบ 8 เดือน

การเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนทั่วโลก

การซื้อขายค่าเงินบาทช่วงเช้าวันที่ 5 มกราคม 2565 ยังแข็งค่าต่อเนื่องจากวันก่อน โดยเปิดตลาดที่ระดับ 33.84 บาท/ดอลลาร์ จากราคาปิดวันก่อนที่ระดับ 34.00 บาท/ดอลลาร์ โดยระหว่างวันเงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 8 เดือนที่ระดับ 33.98 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่านำโด่งสกุลเงินในภูมิภาค

ขณะเดียวกันยังมีรายงานการประชุมล่าสุดของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่มีรายงานว่า กรรมการเฟดต่างสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ แต่จะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยในอัตราชะลอลง เพื่อลดความเสี่ยงที่จะมีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้นักลงทุนคลายกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด  ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง

 

นอกจากนั้น การแข็งค่าอย่างรวดเร็วของเงินบาทยังได้แรงหนุนหลักมาจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังจากที่ราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อเนื่องใกล้ระดับ 1,870 ดอลลาร์ต่อออนซ์รวมถึงแรงซื้อสินทรัพย์ไทย 

อย่างบอนด์ระยะสั้น ที่มียอดซื้อสุทธิโดยนักลงทุนต่างชาติกว่า 16.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นการเพิ่มสถานะ Short USDTHB (มองเงินบาทแข็งค่า) ของนักลงทุนต่างชาติ ท่ามกลางความหวังการฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ตามการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน

 

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทยเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทิศทางค่าเงินบาทต้นปี 2566 ที่แข็งค่าขึ้น อาจมาจากเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาเก็งกำไรในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ (บอนด์) และสิ่งที่เราจะได้ประโยชน์จากการเปิดเมืองของจีนจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนให้เงินบาทแข็งค่าด้วย

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย

 

 

“เกิดการเก็งกำไรในเงินบาท เพราะถ้ามีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาจะเกิดการใช้จ่ายภายในประเทศ แต่ในระยะสั้นเราไม่อยากให้เงินบาทแข็งค่าทิศทางเดียว ไม่ว่าทิศทางจีนเปิดเมือง หรือทิศทางขึ้นดอกเบี้ยของไทยทำให้เกิดการเก็งกำไรตราสารหนี้ระยะสั้น”

 

อย่างไรก็ตาม ทิศทางเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัว อาจจะสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน แต่อาจจะต้องระมัดระวังการเปิดเมืองของจีนระยะสั้นอาจจะมีผู้ติดเชื้อสูง ซึ่งหากมีการจำกัดบางอย่าง อาจทำให้นักลงทุนตกใจ ทำให้เงินบาทกลับมาอ่อนค่าหรือถ้าราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงหรือปรับลงช้าอาจมีผลต่อเงินเฟ้อของสหรัฐ ทำให้เฟดยังคงขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง แต่ต้องรอดูความชัดเจน

 

ทั้งนี้เชื่อว่า ค่าเงินจะไม่แกว่งตัวมากเหมือนปีที่แล้ว โดยมองว่า ไตรมาสแรกปีนี้ จะเห็นเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ ที่ 34-35 บาทต่อดอลลาร์ มีความเป็นไปได้ เพราะต้องรอปัจจัยการเปิดเมืองของจีนด้วยว่า จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาไทยแค่ไหน และจะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง 

 

นอกจากนั้น ยังเป็นห่วงเศรษฐกิจโลกที่ชะลอที่จะทำให้มีความเสี่ยงต่อการส่งออกไทยจะติดลบประมาณ 1% ในช่วงครึ่งปีแรกจากการที่เศรษฐกิจประเทศสำคัญๆชะลอการนำเข้า ซึ่งอาจมีผลต่อดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังติดลบและต้องระมัดระวังเงินบาทแกว่งตัวในช่วงครึ่งปีแรก แต่ในครึ่งปีหลังจะชัดเจนขึ้น

 

ด้านดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า การแข็งค่าของเงินบาทปัจจัยหลักมาจากค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง สำหรับปีนี้ วิจัยกรุงไทยมองค่าเงินบาทไว้ที่ 33.75-36.05 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งแคบกว่าปีที่แล้วที่เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 32.7-37.9 บาท

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS

“ปีที่แล้วมีปัจจัยเรื่องสหรัฐปรับขึ้นดอกเบี้ย ทำให้ตลาดเงินผันผวน แต่ปีนี้ความผันผวนน่าจะลดลง เพราะฝั่งสหรัฐฯ เองใกล้สุดทางของการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ขณะที่ภายในประเทศไทยมีสัญญาการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยว” ดร.พชรพจน์ กล่าว

 

ทั้งนี้ช่วงระยะสั้น 3 เดือนยังมีความผันผวนสูงพอสมควร เพราะตลาดหรือนักลงทุนยังไม่ชัดเจนเรื่องเฟด บางวันอาจจะมองว่า เฟดใกล้จบการขึ้นดอกเบี้ย แต่บางวันอาจจะมองเฟดยังเดินหน้าขึ้นอีก แต่ครึ่งปีหลังเงินบาทน่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้น เมื่อเฟดมีความชัดเจนเรื่องการชะลอการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว

 

อย่างไรก็ตามแนวโน้มปีนี้จะเจอการแข่งขันกับเวียดนามและสิงคโปร์ หากเงินบาทแข็งค่า อาจเป็นจุดที่ทำให้ผู้ประกอบการของไทยแข่งขันได้ยากขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

 

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,851 วันที่ 8 - 11 มกราคม พ.ศ. 2566