จัดซื้อจัดจ้าง วิธีเฉพาะเจาะจง เปลี่ยนป้ายสถานีกลางบางซื่อ คืออะไร?

04 ม.ค. 2566 | 11:39 น.

ทำความรู้จักการจัดซื้อจัดจ้าง "วิธีเฉพาะเจาะจง" กรณีรฟท. จ้าง UNIQ ปรับปรุงป้ายสถานีกลางบางซื่อ ด้วยการจัดซื้อจัดจ้างวิธีเฉพาะเจาะจง ตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างปี 60

จากกรณีการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ว่าจ้างบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จํากัด (มหาชน)  หรือ UNIQ ก่อสร้างโครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อ เป็น สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย มูลค่า 33.169 ล้านบาท ด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง “วิธีเฉพาะเจาะจง” ตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างปี 60 ซึ่งกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง

 

โดย “ฐานเศรษฐกิจ” ได้รวบรวมข้อมูลวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ ตามพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ซึ่งมีอยู่ 3 วิธี คือ วิธีการเชิญชวนทั่วไป วิธีคัดเลือก และวิธีเฉพาะเจาะจง 

 

สำหรับวิธีเฉพาะเจาะจงนั้น คือ การที่หน่วยงานของรัฐเชิญชวนผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติตรงตามเงือนไขที่หน่วยงานของรัฐกำหนดรายใดรายหนึ่งให้เข้ายื่นข้อเสนอ หรือให้เข้ามาเจรจาต่อรองราคา รวมทั้งการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุกับผู้ประกอบการโดยตรงในวงเงินเล็กน้อยตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

ทั้งนี้ กฎกระทรวง ตามพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ได้ระบุเกณฑ์และเงื่อนไขที่จะต้องใช้วิธีเฉพาะเจาะจง กรณีดังต่อไปนี้ 

 

(ก) ใช้ทั้งวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปและวิธีคัดเลือก หรือใช้วิธีคัดเลือกแล้วแต่ไม่มีผู้ยื่นข้อเสนอ หรือข้อเสนอนั้นไม่ได้รับการคัดเลือก

 

(ข) การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่มีการผลิต จำหน่าย ก่อสร้าง หรือให้บริการทั่วไป และมีวงเงินในการจัดซื้อจัดจ้างครั้งหนึ่งไม่เกินวงเงินตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

(ค) การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่มีผู้ประกอบการ ซึ่งมีคุณสมบัติโดยตรงเพียงรายเดียว หรือการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุจากผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่าย หรือตัวแทนผู้ให้บริการโดยชอบด้วยกฎหมายเพียงรายเดียวในประเทศไทยและไม่มีพัสดุอื่นที่จะใช้ทดแทนได้

 

(ง) มีความจำเป็นต้องใช้พัสดุนั้นโดยฉุกเฉิน เนื่องจากเกิดอุบัติภัยหรือภัยธรรมชาติ หรือเกิดโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ และการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป หรือวิธีคัดเลือกอาจก่อให้เกิดความล่าช้าและอาจทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง

 

(จ) พัสดุที่จะทำการจัดซื้อจัดจ้างเป็นพัสดุที่เกี่ยวพันกับพัสดุที่ได้ทำการจัดซื้อจัดจ้างไว้ก่อนแล้ว และมีความจำเป็นต้องทำการจัดซื้อจัดจ้างเพิ่มเติมเพื่อความสมบูรณ์หรือต่อเนื่องในการใช้พัสดุนั้น โดยมูลค่าของพัสดุที่ทำการจัดซื้อจัดจ้างเพิ่มเติมจะต้องไม่สูงกว่าพัสดุที่ได้ทำการจัดซื้อจัดจ้างไว้ก่อนแล้ว

 

(ฉ) เป็นพัสดุที่จะขายทอดตลาดโดยหน่วยงานของรัฐ องค์การระหว่างประเทศ หรือหน่วยงานของต่างประเทศ

 

(ช) เป็นพัสดุที่เป็นที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำเป็นต้องซื้อเฉพาะแห่ง

 

(ซ) กรณีอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

ขณะที่อำนาจในการสั่งซื้อ หรือสั่งจ้าง และลงนามในสัญญา โดยวิธีเฉพาะเจาะจงครั้งหนึ่ง เป็นอำนาจของผู้ดำรงตำแหน่งและภายในวงเงิน 

 

1. หัวหน้าหน่วยงานของรัฐ ไม่เกิน 50 ล้านบาท

2. ผู้มีอำนาจเหนือขึ้นไปหนึ่งชั้น เกิน 50 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ ในการจัดหาพัสดุด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง กรณีตามพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 56 (2)(ข) วงเงินไม่เกิน 5 แสนบาท มีหน้าที่ความรับผิดชอบ แบ่งออกเป็น 2 กรณี ได้แก่ กรณีแต่งตั้งคณะกรรมการซื้อหรือจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจง และกรณีไม่แต่งตั้งคณะกรรมการซื้อหรือจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจง