ศุลกากรเปิดวิธีคำนวณภาษีนำเข้า ราคาเกิน 1,500 บาทต้องเสียภาษี

23 ธ.ค. 2565 | 03:55 น.

กรมศุลกากรเปิดแนวปฏิบัติคำนวณภาษีนำเข้า สินค้าต้องขออนุญาตก่อนนำเข้า อัตราการการคำนวณ ชี้ราคาเกิน 1,500 บาทต้องจ่ายภาษี

นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ โฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า การนำเข้าของเร่งด่วน (Express) จากต่างประเทศ ผ่านทางอากาศยานและการนำเข้าของทางไปรษณีย์นั้น กรมศุลกากรมีแนวทางในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับผู้ที่นำเข้าของเร่งด่วน (Express) จากต่างประเทศ ผ่านทางอากาศยานและการนำเข้าของทางไปรษณีย์ โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้ 

 

  • ของที่ไม่ต้องเสียภาษี

 

ของที่รวมมูลค่าแล้ว ไม่เกิน  1,500 บาท โดยรวมจาก ราคาของ + ค่าขนส่ง + ค่าประกันภัย = ราคา CIF ซึ่งของทุกชิ้นจะถูกตรวจสอบโดยการ X – Ray และบันทึกภาพด้วย CCTV ตลอดเวลา

 

ทั้งนี้ ของบางประเภทจะไม่สามารถนำเข้ามาในประเทศได้ หากฝ่าฝืนจะมีโทษตามพระราชบัญญัติกรมศุลกากรและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยมีตัวอย่างของที่ห้ามนำเข้าประเทศ ดังนี้ บุหรี่ไฟฟ้า บารากู่ สินค้าที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา วัตถุหรือสื่อลามก สัตว์ป่าสงวน และสารเสพติด

 

สำหรับของบางประเภทต้องขอใบอนุญาตนำเข้าจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  อาทิ ส่วนต่าง ๆ ของพืช ต้องขออนุญาตจากกรมวิชาการเกษตร, สัตว์เลี้ยงและสัตว์น้ำต้องขออนุญาตจากกรมปศุสัตว์และกรมประมง, ยา เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ อาหาร วัตถุอันตราย และผลิตภัณฑ์สมุนไพร ต้องขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.), วิทยุสื่อสาร และโดรน ต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) 

 

หากขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรียบร้อย ผู้รับของต้องจัดทำใบขนสินค้าขาเข้า โดยส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เข้าระบบคอมพิวเตอร์กรมศุลกากร ณ สำนักงาน/ด่านศุลกากร

 

  • ของที่ต้องเสียภาษี

 

ราคาของ ตั้งแต่ 1,500 บาท ขึ้นไป แต่ไม่เกิน 40,000 บาท

 

ของจะถูกเลือกโดยระบบบริหารความเสี่ยงของกรมศุลกากรเพื่อตรวจสอบโดยการเปิดตรวจทางกายภาพ ซึ่งหีบห่อถูกเปิดและปิดโดยพนักงานของผู้ประกอบการของเร่งด่วน หรือเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ไทย และบันทึกภาพด้วย CCTV  ตลอดเวลา ตัวอย่างอัตราอากรขาเข้าของสินค้า ได้แก่ นาฬิกา 5%, ของเล่น 10%, เครื่องดนตรี 10%, กระเป๋า 20%, รองเท้า 30%, เสื้อผ้า 30%

 

วิธีการคำนวณค่าภาษีอากร

อากรขาเข้า = ราคา CIF x อัตราอากรขาเข้าของสินค้า

ภาษีมูลค่าเพิ่ม = (ราคา CIF + อากรขาเข้า) x อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม

 

ตัวอย่าง การคำนวณค่าภาษีสินค้ากระเป๋าถือสตรี ราคา CIF 10,000 บาท, อัตราอากร 20%    อากรขาเข้า = 10,000 x 20% = 2,000 บาท

ภาษีมูลค่าเพิ่ม = (10,000 + 2,000) x 7% = 840 บาท

ดังนั้น ต้องเสียภาษีอากรทั้งหมด 2,840 บาท

 

กรณีราคาของ (FOB) เกินกว่า 40,000 บาท ผู้รับของ ต้องจัดทำใบขนสินค้าขาเข้า โดยการส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร ณ สำนักงาน/ด่านศุลกากร