เร่งพัฒนาพื้นที่ 3 ด่านศุลกากร เดินหน้าเชื่อมเศรษฐกิจไทย – มาเลเซีย

29 ต.ค. 2565 | 06:40 น.

กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ลงพื้นที่ตรวจสภาพพื้นที่ด่านชายแดนไทย-มาเลเซีย ทั้งด่านสะเดา ปาดังเบซาร์ และเบตง ผลักดันการเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจ

นางสุพรรณวษา โชติกญาณ ถัง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ไปตรวจสภาพพื้นที่บริเวณชายแดนไทย – มาเลเซีย เพื่อเข้าใจบริบทในพื้นที่จริง พร้อมนำไปผลักดันและหารือกับฝ่ายมาเลเซียต่อไป ประกอบไปด้วย

 

1. ได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการหล่อหลักเขตแดนใหม่ ที่ 21/13 ทดแทนหลักเขตแดนเดิมที่เสียหาย โดยมีแม่กองสนามของฝ่ายไทยและฝ่ายมาเลเซียเข้าร่วมด้วย

เร่งพัฒนาพื้นที่ 3 ด่านศุลกากร เดินหน้าเชื่อมเศรษฐกิจไทย – มาเลเซีย

2. ได้สำรวจพื้นที่บริเวณด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ เพื่อตรวจสภาพพื้นที่ที่เหมาะสม ในการก่อสร้างถนนเชื่อมต่อด่านสะเดาแห่งใหม่กับด่านบูกิตตายูฮิตัมของมาเลเซีย โดยไม่กระทบต่อหลักเขตแดน

 

3. ได้ศึกษาพื้นที่ด่านศุลกากรปาดังเบซาร์ เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาพื้นที่และรั้วเดี่ยวบนเส้นเขตแดนเพื่อเป็นแบบอย่างในการพัฒนา

เร่งพัฒนาพื้นที่ 3 ด่านศุลกากร เดินหน้าเชื่อมเศรษฐกิจไทย – มาเลเซีย

4. ได้สำรวจพื้นที่บริเวณหลักเขตแดนที่ 51/50 (บริเวณเขาปูน) อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เพื่อเตรียมความพร้อมในการก่อสร้างหลักเขตแดนใหม่ทดแทนหลักเขตแดนเดิมเนื่องจากหลักเขตแดนเดิมได้หล่นลงมาจากการพังทะลายของลาดหน้าผา

 

นอกจากนี้ คณะฝ่ายไทย ยังได้เข้าพบนายอำพล พงศ์สุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา  เพื่อรับทราบสถานะล่าสุดของการพัฒนาพื้นที่เชื่อมโยงบริเวณด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ และด่านศุลกากรปาดังเบซาร์ ในจังหวัดสงขลา ตลอดจนหารือแนวทางการบริหารจัดการชายแดนและการบำรุงรักษารั้วเดี่ยวบนเส้นเขตแดน

 

การดำเนินการข้างต้นมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยผลักดันให้มีการพัฒนาพื้นที่ได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยมุ่งหวังไม่ให้ปัญหาเขตแดนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาพื้นที่ โดยจะนำประเด็นที่เกี่ยวข้องหารือกับฝ่ายมาเลเซียภายใต้กลไกคณะกรรมการจัดทำหลักเขตแดนร่วมระหว่างไทย – มาเลเซีย (Land Boundary Committee : LBC) ซึ่งมีปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานคณะกรรมการฯ และคาดว่าฝ่ายมาเลเซียจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในต้นปีหน้า

เร่งพัฒนาพื้นที่ 3 ด่านศุลกากร เดินหน้าเชื่อมเศรษฐกิจไทย – มาเลเซีย

ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมา ไทยกับมาเลเซียได้เจรจาสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนสำเร็จไปแล้วกว่าร้อยละ 99 โดยเป็นเขตแดนทั้งทางบกและแม่น้ำ ทั้งนี้ การบำรุงรักษาและบริหารจัดการชายแดนเพื่อให้เป็นไปตามที่ได้ตกลงกันไว้ ก็ยังเป็นหน้าที่ที่ทั้งสองฝ่ายที่จะต้องร่วมกันทำให้พื้นที่เชื่อมต่อมีการพัฒนาได้อย่างยั่งยืนต่อไป

 

สำหรับพื้นที่ชายแดนไทย - มาเลเซีย เป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่าการค้าชายแดนสูงสุดระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน การเชื่อมโยงด้วยการเคลื่อนย้ายสินค้าและการไปมาหาสู่ของประชาชนทั้งสองประเทศจะนำมาสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจของไทยและมาเลเซียร่วมกัน