"อาคม" วางเป้า 5 ปี รายได้ต่อจีดีพีเพิ่มเป็น 16%

07 ธ.ค. 2565 | 07:44 น.

คลังเปิด 4 นโยบายอาคตเศรษฐกิจไทย เล็งปฏิรูปโครงสร้างภาษี วางเป้า 5 ปี รายได้ต่อจีดีพีเพิ่มเป็น 16% สร้างความยั่งยืนทางการคลัง ให้ความสำคัญ "การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ-ดิจิทัล-สังคมสูงวัย"

 

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน Bangkok Post Year-End Forum 2022 "Thailand Insights 2023: Unlocking the Future" ว่า แนวนโยบายสำหรับอนาคตเศรษฐกิจไทย มี 4 เรื่องหลัก ได้แก่ 

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

 

  • 1. การบริหารเศรษฐกิจมหภาค โดยกระทรวงการคลังตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนรายได้ต่อจีดีพี ให้อยู่ในระดับ 16% ในระยะ 5 ปีข้างหน้า เพื่อสร้างความยั่งยืนทางการคลัง หลังจากที่สัดส่วนรายได้ต่อจีดีพีได้ทยอยปรับลดลงต่ำกว่าศักยภาพของประเทศจาก 17% ในปี 2556 มาอยู่ที่ 14.9% ในปี 2564

 

“เราจะทำให้สัดส่วนรายได้ต่อจีดีพีที่ทยอยปรับลดลงนั้น ปรับขึ้นมาให้ได้ โดยการปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บและการขยายฐานภาษีจะทำให้สัดส่วนรายได้ต่อจีดีพีกลับมาอยู่ที่ประมาณ 16% ในระยะ 5 ปีข้างหน้า”นายอาคมกล่าว 

 

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

 

นอกจากนี้ รัฐบาลยังต้องปรับปรุงเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งในส่วนของรายจ่ายด้านการลงทุนนั้น เราจะเน้นให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลมากขึ้น อย่างไรก็ดี สัดส่วนงบลงทุนต่องบประมาณนั้น ก็จะพยายามเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่ 23% เพื่อสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว

 

"การดำเนินนโยบายด้านการเงินการคลัง ถือเป็นหนึ่งในประเด็นที่ท้าทายการดำเนินงาน โดยกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด"นายอาคมกล่าว

 

สำหรับการดำเนินนโยบายการคลังนั้น เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวแล้ว นโยบายการคลังจะทยอยกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจก็จะต้องลดลง ขณะที่ การปรับลดดอกเบี้ยของธปท.นั้นก็จะดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปในการดูแลให้เศรษฐกิจเติบโตและควบคุมอัตราเงินเฟ้อ

 

  • 2.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งรัฐบาลก็ได้ดำเนินการในหลายเรื่อง ขณะที่แบงก์พาณิชย์ ก็มีการตั้งพอร์ตสินเชื่อด้านโครงการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  • 3.ดิจิทัล ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากในการใช้ชีวิตประจำวัน และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมีส่วนช่วยในการลดต้นทุนด้วย ซึ่งภาคธุรกิจ รัฐบาล และประชาชน จะต้องปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของดิจิทัลด้วย
  • 4. ปัญหาสังคมสูงวัย จะต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าว

 

ขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 นี้คาดว่า จะขยายตัวได้ 3.2% โดยเป็นผลมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะกลับเข้ามา 10 ล้านคนภายในธ.ค.นี้ ซึ่งถือเป็น 1 ใน 4 ของตัวเลขก่อนโควิด-19 ที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา 40 ล้านคน ซึ่งจะทำให้ธุรกิจกลับมา และการบริโภคภายในประเทศดีขึ้น

 

รวมทั้งในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ ไทยมีการดึงดูดการลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท มากกว่าปีก่อนถึง 72% ส่วนในปี 2566 นั้น คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 3.8% และยืนยันว่าขณะนี้สถานะการคลังยังแข็งแกร่ง