“อาคม" ยันเก็บภาษีขายหุ้นไม่เอื้อรายใหญ่

01 ธ.ค. 2565 | 12:21 น.

“อาคม" ยันเก็บภาษีขายหุ้นไม่เอื้อรายใหญ่ ย้ำเป็นการเก็บภาษีขายหุ้นต่ำกว่าหลายประเทศในเอเชีย  ขณะที่"Market Maker" เป็นเพียงผู้ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกซื้อขายหุ้น

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การเก็บภาษีการขายหุ้นนั้น ปัจจุบันบริษัทหลักทรัพย์มีการเก็บค่าธรรมเนียมอยู่แล้ว และหากรวมกับค่าภาษีการขายหุ้น ที่ยกเว้นมากว่า 30 ปี จะทำให้ค่าธรรมเนียมเมื่อรวมกับภาษีอยู่ที่ระดับ 0.22% อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับในกลุ่มเอเชีย ไทยยังต่ำกว่าหลายประเทศ โดยฮ่องกงอยู่ที่ 0.38% มาเลเซีย 0.29% แต่อยู่ในระดับใกล้เคียงกับสิงคโปร์ ที่อยู่ระดับ 0.2% แต่เมื่อลดลงมาในปีแลก 0.05% ก็จะทำให้ค่าธรรมเนียมเมื่อรวมกับภาษีอยู่ที่ระดับ 0.195%

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังได้มีการยกเว้นการเก็บภาษีขายหุ้นให้กับกองทุนบำนาญต่างๆ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการเกษียณอายุ เช่น ประกันสังคม บำเน็ญบำนาญข้าราชการ กิงทุนสำรองเลี้ยงชีพ และ Market Maker ซึ่งยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการเอื้อนักลงทุนขนาดใหญ่ โดยปัจจุบันมูลค่าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์รายย่อยมีสัดส่วน 89% แต่มีมูลค่าซื้อขายเพียง 5%

ขณะที่นักลงทุนรายใหญ่มีสัดส่วน 11% แต่มูลค่าซื้อขายมากถึง 95 % ดังนั้นการจัดเก็บภาษีขายหุ้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อรายย่อย เพราะมีมูลค่าการซื้อขายเพียง 5% เท่านั้น

"อาจจะมีความเข้าใจไม่ตรงกันในส่วนของ Market Maker ซึ่งเป็นผู้ดูแลสภาพคล่องในตลาดไม่ได้เป็นนักลงทุนรายใหญ่ โดยจดทะเบียนเป็นบริษัทหลักทรัพย์ เป็นผู้ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกการซื้อการขาย ที่มี Market Maker ส่วนนี้ เพราะบางทีมีหุ้นใหม่ออกในตลาด ฉะนั้น เขาก็ต้องทำหน้าที่ว่ามีสภาพคล่องเพียงพอที่จะเข้าไปซื้อหุ้นในตลาดที่ออกมาใหม่ หรือในสิ้นวันของการเทรดก็ต้องดูว่าสภาพคล่องกระจาย หรือกระจุกส่วนไหนเพื่อสนับสนุนให้มีการซื้อขายหุ้นในแต่ละวัน"

นอกจากนี้ ยังได้มีการศึกษากรณีของฝรั่งเศส และอิตาลี จากการเก็บภาษีขายหุ้น มีผลกระทบเพียงระยะสั้นๆ เท่านั้น และที่ผ่านมากระทรวงการคลังมีการหารือเรื่องการจัดเก็บภาษีขายหุ้นร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ และสภาพตลาดทุนไทย มานานกว่า 1 ปีแล้ว วันนี้ก็ได้มีการผ่อนคลายโดยการยกเว้นเรื่องกองทุนต่างๆ ให้ และลดอัตราภาษีให้ในระยะแรก

ขณะที่การศึกษาเก็บภาษีขายหุ้นตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไปเท่านั้น มีเพียงมาเลเซียเท่านั้นที่ยกเว้นให้ แต่ของไทยเป็นภาษีธุรกิจเฉพาะ ไม่แยกแยะว่าจะซื้อขายมากหรือน้อย เป็นการเก็บภาษีต่อครั้ง ทั้งนี้ ผู้ขายหุ้นไม่ต้องดำเนินการนำส่งรายได้ให้สรรพากร โบรกเกอร์จะเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งจะมีการหารือร่วมกันอีกครั้ง

ทั้งนี้ การเก็บภาษีหุ้นในโลกนี้มีอยู่ 2 แบบ ได้แก่ การเก็บภาษีจากกำไรการซื้อขายหุ้น และรูปแบบภาษีธุรกิจเฉพาะ โดยในส่วนของประเทศไทยนั้น ในอดีตที่ผ่านมา ปี 2535 เก็บเป็นภาษีการค้า อัตรา 0.1% ซึ่งมีการยกเว้นมานานกว่า 30 ปี เนื่องจากต้องการส่งเสริมตลาดหลักทรัพย์ให้มีการเติบโต ฉะนั้น เพื่อความเสมอภาคในการเก็บภาษี จึงได้เก็บภาษีจากการขายต่อครั้ง

"เดิมการเก็บภาษีการขายหุ้น คิดอัตรา 0.11% แต่เพื่อให้มีการปรับตัว 1 ปี ในปีแรกจึงจะคิดอัตรา 0.055% เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น ส่วนปีถัดไปก็จะกลับมาเก็บในอัตราเดิม ซึ่งขณะนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแล้ว กระทรวงการคลังก็จะไปดำเนินการตามขั้นตอน ตอนนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนตรวจร่างกฤษฎีกา โดยหากทุกอย่างเรียบร้อยจะมีระยะเวลาผ่อนผันให้ 90 วัน ในการดำเนินการจัดเก็บ"