ก.ล.ต. เชือด 4 รายปั่นหุ้น TIGER ส่ง บก.ปอศ. ดำเนินคดี

11 ก.ย. 2566 | 10:40 น.

สำนักงาน ก.ล.ต. กล่าวโทษผู้กระทำความผิด 4 ราย ต่อ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กรณีปั่นหุ้น TIGER

(11 ก.ย. 66) สำนักงาน ก.ล.ต. กล่าวโทษผู้กระทำความผิด 4 ราย ต่อ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กรณีสร้างราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท ไทย อิงเกอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ "TIGER"

สืบเนื่องจากทาง ก.ล.ต. ได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และดำเนินการตรวจสอบเพิ่มเติมพบการกระทำความผิดของบุคคล 4 ราย ประกอบด้วย (1) นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ (2) นายรัฐชัย ธีระธนาวัฒน์ (3) นายวิชชุ จันทาทับ และ (4) นางชัญญา เพ่งพันธุ์พัฒน์ 

โดยสร้างราคาหรือปริมาณการซื้อขายของหุ้น TIGER ในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในช่วงระหว่างวันที่ 24 ถึง 29 ตุลาคม 2561 และวันที่ 13 พฤศจิกายน 2561 (รวม 5 วันทำการ) 

ทั้งนี้จากการตรวจสอบพบว่า ในขณะเกิดเหตุผู้กระทำความผิดทั้ง 4 รายปฏิบัติหน้าที่และดำรงตำแหน่งใน บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (บล. เคทีบี) กล่าวคือ นายวิน ตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร นายรัฐชัย ตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมและหัวหน้าฝ่ายวาณิชธนกิจ และนายวิชชุ ตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายจัดการกองทุนส่วนบุคคลและผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคล 

ได้ร่วมกันวางแผน ดำเนินการ และแบ่งหน้าที่กันทำในการสร้างราคาหรือปริมาณการซื้อขายของหุ้น TIGER ในช่วงเวลาที่กล่าว โดยมีนางชัญญา ตำแหน่งผู้แนะนำการลงทุน ฝ่ายบริหารการลงทุนส่วนบุคคล ของ บล. เคทีบี ให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวก 

อีกทั้งจากการตรวจสอบยังพบว่า กลุ่มบุคคลดังกล่าวข้างต้นได้มีการวางแผนและแบ่งหน้าที่กันทำตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการจัดจำหน่ายหุ้น TIGER (บล. เคทีบี เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และเป็นผู้จัดการการจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ในการออกและเสนอขายหุ้น TIGER ให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก หรือ IPO

โดยได้หาลูกค้ามาเปิดบัญชีกองทุนส่วนบุคคลรายใหม่โดยไม่พิจารณาศักยภาพทางการเงินของลูกค้าอย่างเพียงพอในกระบวนการทำความรู้จักตัวตนของลูกค้า (KYC/CDD) และจัดสรรหุ้น TIGER แบบกระจุกตัวในบัญชีกองทุนส่วนบุคคลของลูกค้าดังกล่าว

โดยมีการออกรายการส่งเสริมการขายมารองรับ จากนั้นเมื่อหุ้น TIGER เข้าซื้อขายใน mai เป็นวันแรก (วันที่ 24 ตุลาคม 2561) นายวิชชุได้เริ่มส่งคำสั่งซื้อขายหุ้น TIGER ผ่านบัญชีกองทุนส่วนบุคคลของลูกค้าดังกล่าวในลักษณะการสร้างราคาหรือปริมาณการซื้อขายของหุ้น TIGER 

เพื่อมุ่งหมายให้ราคาซื้อขายในช่วงระหว่างวันที่ 24 ถึง 29 ตุลาคม 2561 และวันที่ 13 พฤศจิกายน 2561 อยู่ในระดับที่สูงกว่าราคาเสนอขายต่อประชาชนเป็นครั้งแรกของหุ้น TIGER (ที่ราคา 3.65 บาท) 

 

โดยการกระทำของกลุ่มบุคคลดังกล่าวข้างต้นทำให้ราคาหรือปริมาณการซื้อขายหุ้น TIGER ผิดไปจากปกติของตลาดอันทำให้ผู้ลงทุนทั่วไปเข้าใจผิดว่าขณะนั้นมีความต้องการซื้อขายหุ้น TIGER ในปริมาณมาก ซึ่งเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 244/3 (1) และ (2) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ) ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 315 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ (แล้วแต่กรณี) 

นอกจากนี้ การกระทำของนายวิชชุ ในฐานะผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคล ยังเข้าข่ายเป็นการปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่ซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของผู้มอบหมายให้จัดการกองทุนส่วนบุคคลโดยใช้ความรู้ความสามารถเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ ซึ่งเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรา 134 วรรคสองและวรรคสาม ประกอบมาตรา 133 วรรคหนึ่งแห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ 

ทั้งนี้ เนื่องจากบุคคลดังกล่าวข้างต้นทั้ง 4 ราย เป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และความน่าเชื่อถือต่อผู้ลงทุนทั่วไป กรณีข้างต้นมีลักษณะเป็นการกระทำผิดที่มีความร้ายแรงและส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือต่อตลาดทุน 

และยังมีการกระทำความผิดของบุคคลบางรายที่ไม่สามารถใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งได้ ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษบุคคลทั้ง 4 ราย ต่อ บก.ปอศ. เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

อนึ่ง การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรม ตามลำดับ