ก.ล.ต. วางนโยบายกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล เน้นคุ้มครองผู้ลงทุน

15 มี.ค. 2566 | 09:17 น.

ก.ล.ต. วางนโยบายกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล ครอบคลุม ตลาดแรก ตลาดรอง ควบคู่การบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้มีความชัดเจน คุ้มครองผู้ลงทุน สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี

(15 มี.ค. 66) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยถึงแนวนโยบายการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลในภาพรวม ซึ่งได้เสนอต่อคณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 5/2566 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2566

โดยครอบคลุมการกำกับดูแลตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ได้แก่ การออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลในตลาดแรก การกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในตลาดรอง

รวมทั้งการกำกับผู้ประกอบธุรกิจตามระดับความเสี่ยงและการตรวจสอบการกระทำอันไม่เป็นธรรม เพื่อให้สอดรับกับข้อพิจารณา 4 ประการ ของหน่วยงานกำกับดูแลด้านตลาดทุนสากล (International Organization of Securities Commissions: IOSCO) ที่สะท้อนสถานการณ์ในอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลระดับโลกในช่วงที่ผ่านมา

ข้อพิจารณา 4 ประการ ประกอบด้วย

1.การดูแลเรื่องความขัดแย้งทางผลประโยชน์

2.การเก็บรักษาและการแยกทรัพย์สินลูกค้า

3.การป้องกันการกระทำอันไม่เป็นธรรม 

4.ความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยมุ่งเน้นการสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัล นวัตกรรม และการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการระดมทุน ในขณะที่ยังคงคุ้มครองผู้ลงทุนอย่างเหมาะสม

ทั้งนี้ในการประชุมดังกล่าว ทางคณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้มีมติเห็นชอบการทบทวนหลักเกณฑ์สำหรับผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล (custodial wallet provider) หรือ "ผู้ให้บริการฯ" ให้มีความยืดหยุ่นและเหมาะสมยิ่งขึ้น

โดยผู้ให้บริการฯ ที่เป็นบริษัทจดทะเบียนและบริษัทย่อยในกลุ่มที่มีประสบการณ์เก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้า สามารถให้บริการแก่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ที่มีความเกี่ยวข้องกันในลักษณะที่มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ร่วมกัน) ได้ หากปฏิบัติตามเกณฑ์ความเป็นอิสระต่อกันตามที่กำหนด

เพื่อสร้างระบบนิเวศของสินทรัพย์ดิจิทัลให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ตลอดจนสนับสนุนให้มีผู้ให้บริการฯ ในประเทศที่มีคุณภาพ และลูกค้าที่ใช้บริการจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายของประเทศไทย ซึ่งสำนักงาน ก.ล.ต. จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องต่อไป

นอกจากนี้ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ยังเห็นชอบให้ทบทวนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการระดมทุนผ่านการเสนอขายโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (investment token) เพื่อให้สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์ และการทบทวนหลักเกณฑ์ด้านความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

รวมทั้งการกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องขอความเห็นชอบการประกอบธุรกิจอื่นจากสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อให้สามารถติดตามการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

พร้อมกันนี้ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้ให้นโยบายที่จะให้ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์สามารถให้บริการโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน และโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ที่มีลักษณะไม่พร้อมใช้ (utility token ไม่พร้อมใช้) ได้

เนื่องจากมีลักษณะและความเสี่ยงใกล้เคียงกับหลักทรัพย์ ขณะที่คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ที่มีลักษณะพร้อมใช้ (utility token พร้อมใช้) มีความเสี่ยงสูง จึงมีนโยบายในการกำหนดการลงทุนโดยกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนรายย่อยให้สอดคล้องกับความเสี่ยงยิ่งขึ้นอีกด้วย

อย่างไรก็ตามในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประสงค์จะให้บริการเกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซี และ utility token พร้อมใช้ ต้องแยกนิติบุคคลในการให้บริการ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจกระทบต่อทรัพย์สินของลูกค้าและธุรกิจหลักทรัพย์ ซึ่ง สำนักงาน ก.ล.ต. อยู่ในระหว่างศึกษาข้อมูลในรายละเอียดเพิ่มเติม