เบื้องลึก มหากาพย์หุ้น MORE (2) คำสารภาพของ “อภิมุข” …

15 พ.ย. 2565 | 09:51 น.

เบื้องลึก มหากาพย์หุ้น MORE (2) คำสารภาพของ “อภิมุข” … : คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ โดย..เจ๊เมาธ์ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,836

“ตีหน้าเศร้า เล่าความเท็จ” เป็นสำนวนไทย แปลความว่า “ทำตัวใสซื่อ ทำตัวบริสุทธิ์ แต่แท้จริงสิ่งที่พูดนั้นโกหก ทั้งเพ”

 

ส่วนคำว่า “แพะรับบาป” แปลความว่า “คนที่รับเคราะห์กรรม หรือความผิดแทนผู้อื่น” ส่วนใครจะเป็นอย่างไร ในมหากาพย์หุ้น MORE นั้นต้องดูยาวๆ

จากกรณี หุ้น MORE หรือ บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ ที่นักลงทุนมักเรียกว่า “ม้อ รีเทิร์น” เพราะผถห. รายใหญ่ มีชื่อว่า “อมฤทธิ์ กล่อมจิตเจริญ” หรือ “เฮียม้อ”… เปรียบเสมือนได้กับการ “ปล้นกลางแดด” ที่เสื่อมทรามที่สุดในรอบ 35 ปี นับแต่ก่อตั้ง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 
 
ความเดิมจากตอนที่ 1… 


ข้อมูลเบื้องต้น


 • บริษัท “MORE” ในอดีตคือ บริษัทชื่อ  “บริษัท ดีเอ็นเอ 2002 จำกัด (มหาชน)” หรือ “DNA”

• หุ้น “DNA” หรือ “MORE” ในอดีตปี 2561 เคยมีข่าวฉาว จากคดีฉ้อโกงเงินดิจิทัล บิทคอยน์ คิดเป็นเงินประมาณ 797 ล้านบาท จากนักลงทุนชาวฟินแลนด์

 

• โดยจากกรณีนั้น นายปริญญา จารวิจิต อดีตกรรมและผู้ถือหุ้นใหญ่ DNA หรือ MORE ถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการใหญ่ในการวางแผนหลอกต้มนายเออาร์นี 

 

• กรณีนั้น หุ้น “MORE” ตกลงจากราคาประมาณ 2.40 บาท ในปี 2561 ลงสู่ราคา 0.15 บาทต่อหุ้น ในปี 2563

 

• บริษัท “MORE” มีทรัพย์สิน 1.6 พันล้าน มีหนี้สินราว 300 ล้าน แต่มีเงินสดเพียง 18 ล้านบาท โดย 3 ปีย้อนหลังบริษัท “MORE” ไม่เคยมีรายได้ เกิน 145 ล้านบาท และนับเป็นบริษัทกลุ่มที่ที่มีรายน้อยสุดในตลาดหลักทรัพย์และมีมูลค่าBOOK VALUE เพียง 0.22 บาทต่อหุ้น หรือส่วนผู้ถือหุ้น เพียง 1.3 พันล้านบาท เพียบกับ Market Cap ที่สูงเฉียด 1 หมื่นล้าน

 

• ข้อน่าสังเกตเกี่ยวกับสินทรัพย์ของบริษัทคือ ปี 2564 บริษัทมีกำไร 1,158 ล้านบาท จากการรับหุ้นแทนการชำระด้วยเงินสด โดยกำไรที่ผิดหูผิดตา ที่ปรึกษาการเงินอิสระให้ความเห็นว่าสูงเกินจริง


• หุ้น “MORE” มีการขึ้นมาจาก 0.15 บาทต่อหุ้น ในเดือนตุลาคม 2563 สู่ เกือบ 3 บาทต่อหุ้นในเดือนพฤศจิกายนปี 2566 และถูกทุบ 2 ฟลอร์เหลือเพียง 1.37 บาทต่อหุ้น หรือลดลงกว่า 50% ใน 2 วัน


 • ล่าสุดเมื่อวันพฤหัส ที่ 10 พฤศจิกายน 2565 ตอนตลาดเปิดช่วงเช้า เกิดความผิดปรกติ จากการทำจับคู่ทำราคาเปิดหุ้นมูลค่ากว่า 4.5 พันล้าน หรือ กว่า 1.5 พันล้านหุ้นที่ราคา 2.90 บาทต่อหุ้น เทียบเท่ากับ 22% ของทุนจดทะเบียน “ม๊อ รีเทิร์น”


 • จากข้อมูลจาก “สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน” (ปปง.) ระบุว่า ผู้ซื้อหลักๆ มีเพียง 1 ราย คือ นายอภิมุข บำรุงวงศ์ หรือ ปิงปอง ผู้ถือหุ้น MORE ที่ถือเดิมอยู่แล้วกว่า 13%


 • โดยจากประวัติที่สืบทราบ คือ นายอภิมุข บำรุงวงศ์ หรือ ปิงปอง อายุเพียง 32 ปี คือ อดีตพนักงานบริษัทหลักทรัพย์สีเขียว ได้ใช้บัญชีซื้อขายจาก บริษัทหลักทรัพย์กว่า 10 แห่ง เข้าทำรายการกว่า 4.5 พันล้านบาทและภายหลังตลาดเปิดเพียงไม่กี่นาที หุ้นก็ดิ่งลงสู่ราคาฟลอร์ที่ 1.95 บาทต่อหุ้น


 • ล่าสุดวันจันทร์  14 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา นายอภิมุข บำรุงวงศ์ หรือ “ปิงปอง” ได้ผิดนัดชำระเงินกว่า 4.4 พันล้านบาท และได้ชำระเพียง 100 ล้านบาท และ  “สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน” (ปปง.) ได้สั่ง Freeze ธุรกรรมการจ่ายเงินทั้งหมด และตลท.ได้ขึ้นเครื่องหมาย Suspend หุ้น จนถึงวันที่ 18 พ.ย. 2565


 • โดยจากข้อมูลการให้สัมภาษณ์กับนักข่าว กรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันจันทร์ที่ 14 พย. 2565 นายอภิมุข บำรุงวงศ์ หรือปิงปอง อ้างว่า


1. ทีมงานดูแลพอร์ท คีย์ผิด พร้อมกัน 11 โบรกเกอร์ มูลค่ากว่า 4.5 พันล้านบาท พร้อมกับกล่าวว่า “หากก่อนหน้านี้ไม่มีข่าว ผมมีกำลังหาเงินมาจ่ายได้ ไม่ว่าจะกู้ต่างประเทศ หรือหยิบยืม  ผมเล่นบิตคอยน์  แต่พอมีข่าวขึ้นมาใครจะให้ผมยืม แต่ผมก็โทษตัวเองที่ประมาทที่ไว้ใจคนอื่น”


2. นายอภิมุข กล่าวเพิ่มเติม “ผมมีหน้ามีตาทางสังคม พอบอกชื่อคนก็รู้จัก ผมรวยตั้งแต่อายุยังน้อยด้วยความสามารถตัวเอง ถ้าจะทำบ้าๆบอๆ ผมไม่ใช้ชื่อตัวเองหรอก ทำไมผมต้องทำร้ายตัวเอง เพราะ สามารถตั้งใครขึ้นมาก็ได้ แต่วันนี้พูดไปไม่มีประโยชน์ เพราะคนก็คิดว่าผมสมรู้ร่วมคิด”


 3. นายอภิมุข ปฏิเสธความรับผิดชอบต่อว่า “สำหรับวันที่เกิดเรื่องได้เดินทางไปส่งลูกแล้วกลับมานอน พอตื่นมาก็พบว่าตัวเองเป็นหนี้เกือบ 4,000 ล้านบาท จากที่วันก่อนเป็นเศรษฐีอยู่กว่า 1,000 ล้านบาท”


ด้าน “นายอมฤทธิ์ กล่อมจิตเจริญ” หรือ “เฮียม้อ” ถือว่าเป็นดั่งผู้มีอุปการคุณที่ นายอภิมุข บำรุงวงศ์ เรียกว่า “นาย” และเคยเป็นลูกค้าคนสนิทสมัย นายอภิมุข บำรุงวงศ์ ยังเป็นเจ้าหน้าที่การตลาด และถือหุ้น MORE เป็นอันดับ 1 กว่า 1.5 พันล้านหุ้นหรือ กว่า 24%


 1. “เฮียม๊อ” ยังยืนยันว่าตนไม่ได้เกี่ยวและไม่ได้ขายหุ้น MORE ในชื่อตนเอง


 2. “เฮียม๊อ” ร้องขอให้ กลต. ตรวจสอบธุรกรรม


3. “เฮียม๊อ” เดินสายให้สัมภาษณ์สื่อโดยการประสานงานจากอดีต PR รายใหญ่ในตลาดหุ้น ชื่อ เก๋ เพื่อปัดความเกี่ยวโยงทั้งหมดจากเผือกร้อนเรื่องนี้


 ด้าน 2 พี่น้อง “ตระกูล พรประภา” คือ นายเอกภัทร พรประภา และนายอธิภัทร พรประภา คนสนิทที่สังสรรค์กันอยู่เป็นประจำที่ โรงแรมหรู Kimpton Malai ถนนวิทยุ 


และคือผู้ที่มีความสนใจเหมือนกันเรื่องรถหรู Lamborghini ยังติดต่อไม่ได้ โดยเข้าใจว่าอยู่ที่ประเทศอิตาลี

                                  เบื้องลึก มหากาพย์หุ้น MORE (2) คำสารภาพของ “อภิมุข” …
โดยจากข้อมูล นายเอกภัทร พรประภา หรือ คิม ถือหุ้น รวมเป็น 282 ล้านหุ้น หรือ 4.33% ส่วนนายอธิภัทร พรประภา ถือหุ้นอีก139 ล้านหุ้น หรือ 2.13% และทั้งคู่เพิ่งเข้ามาลงทุน MORE ช่วง 2.30 ถึง 2.50 บาทต่อหุ้น หรือที่ภาษาวงการหุ้นเรียกว่า “ปลายไม้” หรือ “ติดดอย”… 


 
จากข้อเท็จจริงนี้ คำถามที่ต้องสงสัยและชวนคิดคือ 


 1. โอเคล่ะ… หาก 2 พี่น้องตระกูลพรประภา ขายจริง แล้วใคร “ผสมโรง” ขายหุ้นที่เหลือ? จากแหล่งข่าวที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน” (ปปง.) ระบุชัดว่า มีพวกร่วมขาย ที่มีความสัมพันธ์อีก 5-10 รายที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงถึง “เฮีย ม.” (ซึ่งชื่อเหล่านี้ จะถูกเปิดเผยในตอนต่อไป)


 2. จากประวัติของ “ปิงปอง” วัย 32 ปี อดีตคนคีย์หุ้น… จากความถนัด ทำไมจึงต้องมีทีมดูแลพอร์ท ? และทำไมต้องวางแผนเปิดพอร์ทหลายสิบ โบรคเกอร์ รวมถึงขยายวงเงินให้มากหลักพันล้านแบบถี่ๆ เสมือนจะต้องทำภารกิจพิเศษเพื่อประโยชน์ของใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง?


 3. จากประวัติของ “ปิงปอง” วัย 32 ปี อดีตคนคีย์หุ้น… ที่อ้างว่ามีชื่อเสียง และรวยตั้งแต่อายุน้อย… อยากให้ตอบหน่อยว่ามีชื่อเสียงที่ใครๆก็รู้จักคือยังไง เพราะ google ไปก็หาชื่อแทบไม่พบ และถามใครในวงการหุ้นก็ไม่มีใครรู้จัก รวมถึงรวยจากหุ้นอะไร และเสียภาษีรึยัง? ฝาก? ฝาก “ปปง.” ช่วยตรวจสอบและชี้แจงหน่อย… 

 

คำสารภาพ ของนายอภิมุข (ปิงปอง)


 สุดท้ายนี้ จากข้อมูลและหลักฐานที่อ้างอิงได้ “นายอภิมุข บำรุงวงศ์” หรือ “ปิงปอง” เมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 พย 2565 เวลา13.30 น. ได้เข้าไปที่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อให้ข้อมูล… 

 

เนื้อหาการประชุมสรุปสาระสำคัญและเหตุการณ์ได้ดังนั้น


• ในวงสนทนาที่บริษัทหลักทรัพย์ผู้เสียหายระบุว่าเป็นการประชุมภายใน มีตัวแทนของตลาดหลักทรัพย์ ก.ล.ต. เข้าร่วมประชุมด้วยนั้น โบรกเกอร์ที่เป็นสมาชิกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ และผู้ได้รับความเสียหายจากการทำธุรกรรมซื้อหุ้น MORE ของ นายอภิมุข และมีการพยายามซักถามถึงแรงจูงใจในการทำ เป็นการกระทำ ให้ใคร และมีใครอยู่เบื้องหลัง

 

• นายอภิมุข หรือ ปิงปอง ซึ่งเข้าร่วมประชุมกับทนายความ ซึ่งแทนชื่อ “อภิมุข” ว่า “น้อง” ได้พยายามตอบคำถามจากโบรกเกอร์ในแง่มุมต่างๆ และยืนยันว่า “อภิมุข” พร้อมจะเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย ให้ศาลเป็นผู้ตัดสินในท้ายที่สุด

 

• “อภิมุข” ยืนยันว่า สนิทกับ “อมฤทธิ์ กล่อมจิตต์เจริญ” หรือ “เฮียม้อ” ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ของ MORE เพราะช่วยเหลือด้านวิ่งงาน หางานเข้าบริษัท

 

• “อภิมุข” ระบุต่อไปอีกว่า… เป็นคนที่มีเพื่อนเยอะ เมื่อลงทุนหุ้นตัวไหน ก็จะมีผู้ลงทุนตาม ซึ่งที่ผ่านมาก็มีดีลที่ไม่ประสบความสำเร็จบ้าง แต่ เมื่อพาใครเข้ามาซื้อหุ้นแล้ว ทำให้ให้เขาเสียหายไม่ได้ โดยทุกคนที่เข้ามาเพราะเชื่อมั่นในตนเองตนจึงยอมไม่ได้ที่จะพาคนติดดอย

 

“สุดท้ายดีลที่ไม่ชัดเจน ถึงเวลาคุยกันจะทำอย่างไร ผมทำได้คือรับผิดชอบกับเขา ทำตามสัญญา ว่าผมรับให้”
 
คำถาม : รู้จัก อมฤทธิ์ กล่อมจิตต์เจริญ มั๊ย?


 อภิมุข บอกว่า รู้จักมา 3-4 ปี เป็นความสัมพันธ์แบบสนิทกัน ส่วน พรประภา 2 พี่น้อง (คิม เอกภัทร-อธิภัทร พรประภา ตามชื่อที่ปรากฎในบัญชีผู้ถือหุ้น MORE) เป็นเพื่อนเป็นรุ่นพีที่เคารพ ส่วนดร.ประสิทธิ ศรีสุวรรณ เคยเจอแค่ครั้งเดียว ไม่สนิท

                              

ความสัมพันธ์กับนายเอกภัทร?


ผมสนิทกับพี่คิม (เอกภัทร) ก็เลยแนะนำให้พบ “เฮียม้อ” เพื่อขยายธุรกิจร่วมกัน… 


“ตอนแรก ก็คุยกันดี แต่มาหลังๆคุยไม่จบ เรื่องก็เลยไม่จบ การเอาพรประภาเข้ามาไม่เชิงให้ MORE ไปซื้อกิจการ แต่ให้ พรประภา มาถือหุ้นใหญ่ และ เอาธุรกิจพรประภา มาสวมใน MORE เมื่อเข้ามาแล้ว ก็มีตัวเลขสนับสนุน เฮียม้อ บอกว่าได้เตรียมการล้างขาดทุนสะสมไว้แล้ว ถ้าเข้ามาได้ มาร์เก็ตแคปMORE ก็จะเป็นเซ็ท 50 เซ็ท 100


แต่การที่คุยกันไม่จบ เกี่ยงกันไป เกี่ยงกันมา วันจันทร์ 14 พ.ย. 2565 วอแรนท์มอร์ ที่แปลงมา มีต้นทุน 2 บาท ก็จะถูกกดขายสิ่งที่ทีมเคยประเมินให้ วิเคราะห์ให้สุดท้ายผมโดนอยู่คนเดียว”

 

ขณะที่ทนายความของนายอภิมุข ขยายความเพิ่มเติมว่า


 “กลุ่มพรประภา" เข้าซื้อ MORE ที่ราคา 2.60 บาท ถ้าวอแรนท์เข้ามาต้นทุนคือ 2 บาท ในวันนั้นราคา MORE หน้ากระดานก่อนวอร์แรนท์เข้าเทรดเข้าคือ 2.80-2.90 บาทต่อหุ้น ก็เป็นหลัก Logic ที่ทำให้ทุกคนจะขาย  เพื่อเอากำไร”

 

“ตั้งแต่เข้า แล้วในวันนั้น พรรคพวกที่เข้ามาตาม อภิมุข ต้นทุน 2 กว่าๆกันหมด  แล้ว อภิมุข จะทำยังไง”


 “… มีการขู่จะฆ่ากันทุกวัน โดยกลุ่ม “พรประภา” โดนหนักสุดเพราะต้นทุน 2.6 กว่าๆ แต่หุ้นตกลงมา 1.9 บาท 1.8 บาท และ 1.7 บาท แล้วจะให้ อภิมุขแก้อย่างไร”

 

คำถาม: แสดงว่า อภิมุข กำลังทำใช้หนี้ กลุ่ม พรประภา หรือไม่?


อภิมุข บอกว่า ไม่ถือว่าเป็นการใช้หนี้ ผมลูกผู้ชายพอ ทำตามสัญญา
  
ทนายความได้เล่าให้ฟังเพิ่มเติมก่อนวันที่เกิดเหตุการณ์


เบื้องต้นทุกคน concern วอแรนท์ เพราะต้นทุนของเพื่อนฝูงสูงกว่า แต่มี 300 ล้านหน่วยที่ต้นทุนต่ำกว่า 2 บาท ทำให้กังวล เพราะแบรนดิ้งของ อภิมุข คือเข้ามาต้องกำไร ไม่มีใครขาดทุน เป็นเหตุผลที่ทำไมเขาต้องใช้วงเงินเยอะๆ

 

“ถ้าวันนี้การกระทำของปิงปอง (อภิมุข) อะไรที่ผิดกฎหมาย ก็ให้เป็นไปตามกฎหมาย แต่จริงๆแล้ว เขากำลังถูกคุกคาม ถูกขู่ฆ่า เพราะทุกคนเข้าใจว่า ปิงปองทุบหุ้น แล้วได้เงินไป คนที่ติดอยู่ออกไม่ได้ ก็เลยมีปัญหา เลยทำให้เครียด  ไม่รู้ทำยังไง ก็เลยมานั่งซอยวงเงิน”
 
 

คำถาม : การเตรียมวงเงินของแต่ละที่ทำอย่างไร ที่มีมากถึง 7 พันล้าน เตรียมอย่างไร นานมั๊ย?


 “เราไม่คอมมิท จะขายวันไหน เท่าไหร่แค่บอกว่า เราต้องการให้จัดการก่อนวอแรนท์เข้า และทุกคนต้องเห็นว่า เขา(อภิมุข) มารับ มีวอลุ่มซื้อ ก่อนที่วอแรนท์จะเข้า เตรียมการมาล่วงหน้า 1 สัปดาห์ พี่คิม (เอกภัทร พรประภา) ก็ตั้งท่า จะทิ้งมานานแล้ว”

 

คำถาม: ตอนที่ตั้งราคา ทำไมต้อง 2.9 บาท? 


 อภิมุข : ผมไม่ได้ทำเอง ผมให้แผนงานล่วงหน้าว่า สิ่งที่ต้องรับผิดชอบมีอะไรบ้าง และให้ทีมช่วยบริหารจัดการให้ เพราะก่อนหน้านั้นผมก็เครียด

 

คำถาม: รู้ใหมใครจะเป็นคนขายหุ้นออกมา? 


• นายอภิมุข เขียนชื่อใส่กระดาษ ไม่พูดชื่อออกมา

 

โดยไฮไลท์สำคัญ เมื่อโบรกเกอร์ถามถึงคนขาย ทีมงาน ว่ามีใครบ้าง?


อภิมุข ปฏิเสธ ที่จะบอกชื่อทีมงาน สถานที่ทำงานก็แล้วแต่ใครจะสะดวกที่ไหน …

 

นี่คือสาระสำคัญที่ “อภิมุข” หรือ “ปิงปอง” และทนาย ให้การต่อหน้า ผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์และเจ้าหน้าที่ ตลท. รวมกว่า 20 ราย เมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 พ.ย 2565  
 

ภายใต้สีหน้าที่วิตกกังวล บางท่านถึงกับบอกว่า “นายอภิมุข” เสียงสั่นด้วยความกลัวเวลาตอบบางคำถาม… พร้อมไม่กล้าพูดชื่อบุคคลเพียงแต่เขียนชื่อในกระดาษ… 


 เอาไงล่ะ “คุณอภิมุข” ทำไมสิ่งที่ยอมรับกับ ตลท. และผู้เสียหาย กับสิ่งที่พูดกับสื่อ… ทำไมต่างกันล่ะ…


อะไรคือความจริง? สรุปนี่คือ ปฏิบัติการ “ตีหน้าเศร้าเล่าความเท็จ” หรือ บทบาทแพะรับบาปกันแน่?


อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ยังไม่มีผู้ใดผิด จนกว่าทุกอย่างจะได้ผ่านการสอบสวนตรวจสอบจากหน่วยงานที่รับผิดชอบแล้ว 

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,836 วันที่ 17 - 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565