สมาคมประกันวินาศภัยชี้ตลาด CLMV โอกาสธุรกิจ ประกันไทย

01 ต.ค. 2565 | 00:49 น.

สมาคมประกันชี้ ตลาดประกันภัยในกลุ่ม CLMV สดใส โอกาสเติบโต 2 หลัก โดยเฉพาะสปป.ลาว เมียนมา กำลังซื้อสูงประชากรวัยทำงาน สัดส่วนสูงกว่า 23-30%

สมาคมประกันชี้ ตลาดประกันภัยในกลุ่ม CLMV  สดใส  โอกาสเติบโต 2 หลัก ประเทศรายได้ปานกลางในระดับสูง แถมสินค้าไทยเป็นที่นิยม โดยเฉพาะสปป.ลาว  เมียนมา กำลังซื้อสูงประชากรวัยทำงาน สัดส่วนสูงกว่า 23-30% ผู้สูงอายุเพียง 7-8% สวนทางไทยที่เข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว 21%

 

          การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยของไทย กำลังสร้างแรงกดดันต่อการธุรกิจประกันภัย จากสัดส่วนประชากรที่มีอายุมากว่า 59 ปีสูงถึง 21%  ของประชากรทั้งประเทศรวม 69.9 ล้านคน สูงกว่าทุกประเทศในกลุ่ม CLMV ขณะที่สัดส่วนวัยทำงานที่เป็นวัยสำคัญในการสร้างผลิตภาพให้ประเทศและกลุ่มที่มีกำลังซื้อมีสัดส่วน 63% และกลุ่มเยาวชนที่จะเป็นแรงงานในอนาคตมีสัดส่วนเพียง 16%  จากอัตราการเกิดต่ำ

ขณะที่อัตราเบี้ยประกันภัยของไทยสูงกว่าประเทศในกลุ่ม  CLMV  โดยใน 2564 ไทยมีอัตราเบี้ยประกันภัยรวม 27,610 ล้านดอลลาร์สหรัฐมากกว่า 4 ประเทศใน CLMV คือ เวียดนาม กัมพูชา สปป.ลาวและเมียนมารวมกันที่ 9,796 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ตลาด CLMV เป็นตลาดที่น่าจับตาของอุตสาหกรรมประกันภัย  

สมาคมประกันวินาศภัยชี้ตลาด CLMV โอกาสธุรกิจ ประกันไทย

นายโอฬาร วงศ์สุรพิเชษฐ์ เลขาธิการ สมาคมประกันวินาศภัยไทย (TGIA) เปิดเผยว่า ตลาดประกันภัยในประเทศกลุ่ม CLMV มีโอกาสเติบโตทั้งธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิต เห็นได้จากอัตราการเข้าถึงประกันภัยและอัตราเบี้ยประกันภัยต่อหัวที่ยังอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนจากจำนวนเม็ดเงินที่จะเข้าสู่ธุรกิจประกัน เมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี)

 

อย่างประเทศเวียดนาม จะเป็นตลาดใหญ่ที่สุดอยู่ที่ 2.3% ต่อจีดีพี ขณะที่อัตราเบี้ยประกันภัยต่อหัวอยู่ที่ 87 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน จึงมีโอกาสในการเติบโตอีกมากทั้งประกันภัยและประกันชีวิต จากอัตราการเติบโตทั้งธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิตในตัวเลข 2 หลักทุกประเทศใน CLMV 

สำหรับประโยชน์ของธุรกิจประกันวินาศภัยของไทยที่จะออกสู่ตลาด CLMV นั้นประการแรกคือ ตลาดเติบโตขึ้นเมื่อรวมประชากรในกลุ่ม CLMV ประชากรเพิ่มเป็น 177.3 ล้านคนเทียบกับประเทศไทยที่มีเพียง 69.9 ล้านคน ขณะเดียวกันไทยตั้งอยู่ในทำเลและระบบขนส่ง ที่เชื่อมต่อระหว่าง CLMV คือ ภูมิภาคลุ่มน้ำโขงลงไปถึงมาเลเซียและสิงคโปร์

         

นอกจากนั้นไทยเป็น International Hub อยู่แล้ว จึงดึงดูดคนเข้ามารักษาสุขภาพและบริการในไทยหรือจะผ่านจากไทยสู่ตลาด CLMV และตลาด CLMV มีความไว้เนื้อเชื่อใจในสินค้าไทย โดยเฉพาะ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา ส่วนเวียดนามอาจจะก้ำกึ่งบางส่วนอาจจะมาจากจีนหรือบางส่วนอาจจะใช้บริการในประเทศที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส

 

“ภาพรวมในการรวมตัวของกลุ่มอาเซียนในเขตภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ทำให้ความยุ่งยากในการทำธุรกิจน้อยลง แนวโน้มที่มีองค์กรหรือบริษัทเข้าไปลงทุนให้บริการและสินค้าใหม่ๆ ที่สำคัญไทยตั้งอยู่เป็นศูนย์กลางทั้ง Logistics และ Medical Hub ของเออีซีและประชากรของ CLMV มีกำลังซื้อสูง” นายโอฬารกล่าว

 

ขณะที่เรื่องของประสิทธิภาพหรือความสามารถในการรับประกันภัยของบริษัทไทยก็มีฐานเงินทุนที่แข็งแรงสามารถแข่งขันได้ในแง่ของเทคโนโลยีประกันภัยไทยหรือนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ ซึ่งได้ลงทุนไปมากแล้ว และผลิตภัณฑ์บริการที่สามารถปรับใช้กับตลาด CLMV ดังนั้นบริษัทประกันไทยจะได้เปรียบในการทำตลาด

 

ดังนั้น ขณะนี้้จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการที่เราจะเข้าไปทำตลาดและยังมีช่วงเวลานำการผลิตคือ ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดกระบวนการผลิตหรือ Lead Time ในการพัฒนาตัวเองและเข้าไปอยู่ในตลาดนี้ก่อนที่ตลาดตรงนี้จะใหญ่ทำให้บริษัทต่างชาติระดับโลกให้ความสนใจเพราะถ้าไทยเราเข้าไปทีหลังจะเหนี่อย

 

นายโอฬารกล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่น่าสนใจคือ CLMV มีสภาพเศรษฐกิจใหญ่กว่าขนาดเศรษฐกิจของไทย 2.7 เท่าและมีจำนวนประชากรมากกว่าไทย 2.5 เท่า โดยเฉพาะ CLMV มีรายได้ปานกลางในระดับสูงจึงมีความสามารถในการจับจ่ายและซื้อประกัน

 

ขณะเดียวกันประชากรในวัยทำงาน (Working Age) อายุ 15-59 ปีอยู่ในระดับสูงกว่า 63% เมื่อบวกกับอายุต่ำกว่า 15 ปีที่จะเป็นกำลังแรงงานในอนาคต จะมีสัดส่วนกว่า 90% ซึ่งกลุ่ม Working Age คือ คนที่ซื้อประกันอยู่ในปัจจุบัน

         

ส่วนกลุ่มที่อายุต่ำกว่า 15 ปีนั้น จะเป็นคนที่จะซื้อประกันภัยในอนาคตอีก 5 หรือ 15 ปีข้างหน้า ขณะที่คนอายุเกิน 59 ปี มีสัดส่วนน้อยกว่าไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว โดยมีคนอายุเกิน 59 ปีสัดส่วนถึง 21% เช่น เวียดนาม กลุ่ม working Age 64% อายุต่ำกว่า 15 ปีสัดส่วน 23% คนอายุเกิน 59 ปีมีเพียง 13%

         

ขณะที่ประเทศเมียนมา มี Working Age 65% อายุต่ำกว่า 15ปี 25% อายุเกิน 59ปี 11%  สปป.ลาว มีสัดส่วน Working Age 62% อายุต่ำกว่า 15 ปี 31%  อายุเกิน 59 ปีเพียง 7% และกัมพูชามีสัดส่วน Working Age 62% อายุต่ำกว่า 15ปี 30% และอายุเกิน 59 ปีมีเพียง 8% เทียบกับไทย ที่มีสัดส่วนประชากรในกลุ่ม Working Age 63% อายุต่ำกว่า 15 ปีเพียง 16% และอายุเกิน 59 ปีสูงที่สุด 21%

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,823 วันที่ 2 - 5 ตุลาคม พ.ศ. 2565