การจัดการเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อเกษียณอายุ

24 ก.ย. 2565 | 22:05 น.

โดย : นางศิษฏศรี นาคะศิริ ผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับธุรกิจออกแบบการลงทุนและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

 

ย่างเข้าสู่เดือนกันยายนและต่อเนื่องไปยังไตรมาสสุดท้ายของปีนับเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านสำคัญของเพื่อนสมาชิกที่กำลังจะเข้าสู่ชีวิตเกษียณอายุ ซึ่งเป็นอีกช่วงหนึ่งของชีวิตที่มีความท้าทายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าชีวิตในช่วงก่อนหน้า โดยสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่เพื่อนสมาชิกควรเตรียมการก่อนวันเกษียณ คือ การบริหารจัดการเงินไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณ นั่นเอง 

 

 

ศิษฏศรี นาคะศิริ ผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับธุรกิจออกแบบการลงทุนและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

 

 

ปัจจัยสำคัญที่ต้องเตรียมพร้อมก่อนวันเกษียณ

 

ผู้เกษียณอายุส่วนใหญ่ไม่ได้มีรายได้ประจำแล้ว แต่ยังคงมีรายจ่ายประจำที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีพ เช่น ค่าอาหาร ค่าสาธารณูปโภค รวมถึงค่ารักษาพยาบาลที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ประมาณการว่า เงินออมขั้นต่ำที่ควรมี ณ วันเกษียณอายุ 60 ปี และใช้ไปจนถึงอายุ 90 ปี คือ 3.1 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายเดือนละ 8,600 บาท แต่ถ้าเพื่อนสมาชิกมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนมากกว่าจำนวนข้างต้น ก็ยิ่งจำเป็นที่จะต้องเก็บออมเงินเพิ่มมากขึ้น และหากเพื่อนสมาชิกมีอายุยืนยาว ก็จะยิ่งมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นอีก 

 

ทั้งนี้ ข้อมูลสถิติปี 2565 พบว่า คนไทยมีอายุยืนยาวขึ้น โดยเพศชายมีอายุเฉลี่ย 74.39 ปี ขณะที่เพศหญิงมีอายุเฉลี่ยถึง 80.6 ปี นอกจากนี้ จากข้อมูลปี 2562 พบว่า ค่าใช้จ่ายของครัวเรือนในการดูแลผู้ป่วยติดเตียงและติดบ้านมีจำนวนถึงปีละ 2.3 แสนบาท และ 1.2 แสนบาท ตามลำดับ ดังนั้น ในการเตรียมความพร้อมเพื่อการเกษียณ นอกจากเพื่อนสมาชิกต้องให้ความสำคัญกับการเก็บออมและการบริหารจัดการเงินแล้ว ยังควรใส่ใจกับการดูแลสุขภาพเพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ในวัยเกษียณ 

 

แหล่งรายได้หลังเกษียณ

 

เมื่อเกษียณอายุ เพื่อนสมาชิกแต่ละท่านจะได้รับเงินจากหลายแหล่งแตกต่างกัน อาทิ “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” ซึ่งท่านที่ลงทะเบียนไว้จะได้รับเงินจากรัฐบาลเดือนละ 600 – 1,000 บาท ตั้งแต่อายุ 60 ปีจนกระทั่งเสียชีวิต “เงินบำเหน็จจากนายจ้าง” กรณีเพื่อนสมาชิกทำงานกับบริษัทเอกชนหรือหน่วยงานที่อยู่ภายใต้กฎหมายแรงงาน ซึ่งจำนวนเงินที่ได้รับขึ้นอยู่กับระยะเวลาการทำงานและเงินเดือน “เงินบำเหน็จบำนาญชราภาพ” จากกองทุนประกันสังคม ซึ่งปัจจุบันการจะได้รับเงินเป็นก้อน (เงินบำเหน็จ) หรือทยอยรับเงินเป็นรายเดือนตลอดชีวิต (เงินบำนาญ) ขึ้นอยู่กับระยะเวลานำส่งเงินเข้ากองทุน โดยสูงสุดไม่เกิน 7,500 บาทต่อเดือน 

 

แหล่งเงินออมเพื่อการเกษียณอีกก้อนที่สำคัญของเพื่อนสมาชิก คือ “เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” (provident fund หรือ PVD) ซึ่งเพื่อนสมาชิกจะได้รับเงินสะสมของตนเองและเงินสมทบที่นายจ้างนำส่งเข้ากองทุนพร้อมดอกผลจากการลงทุนในช่วงที่เป็นสมาชิกกองทุน และหากเพื่อนสมาชิกเกษียณอายุตามเงื่อนไขภาษีที่กรมสรรพากรกำหนด กล่าวคือ เกษียณตอนอายุครบ 55 ปีขึ้นไป และเป็นสมาชิกกองทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีต่อเนื่องกัน จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินกองทุนทั้ง 4 ส่วน (เงินสะสม ผลประโยชน์ของเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินสมทบ)

 

แต่หากอายุเกษียณที่นายจ้างกำหนดไว้น้อยกว่า 55 ปี เพื่อนสมาชิกควรคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่อไปจนกว่าจะเข้าเงื่อนไขที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี หรืออาจโอนเงินไปลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่รับโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือที่เรียกว่า RMF for PVD ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทจัดการ 9 แห่ง ที่ให้บริการกองทุนดังกล่าวด้วยนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย เช่น ลงทุนในตราสารหนี้ ตราสารทุน เป็นต้น จนเมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามเงื่อนไขภาษีแล้ว จึงค่อยพิจารณาทางเลือกในการบริหารจัดการเงินกองทุนต่อไป

 

การจัดการเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในวันเกษียณ

 

เพื่อนสมาชิกทราบหรือไม่ว่า เมื่อเกษียณอายุ เพื่อนสมาชิกมีตัวเลือกในการจัดการเงินกองทุนได้หลายวิธี โดยหากมีเงินหรือแหล่งรายได้อื่นสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน สามารถเลือกวิธีการคงเงินทั้งหมดไว้ในกองทุน เพื่อให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องต่อไปและมีโอกาสทำให้ผลตอบแทนงอกเงยเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันการคงเงินไว้ในกองทุนจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 500 บาทต่อปี 

 

นอกจากนี้ ในกรณีที่จำเป็นต้องนำเงินจากกองทุนออกมาเป็นค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน เพื่อนสมาชิกอาจเลือกวิธีการทยอยรับเงินเป็นงวด เช่น รายไตรมาส รายครึ่งปี หรือรายปี ซึ่งขึ้นอยู่กับความจำเป็นและความต้องการใช้เงินของแต่ละคน รวมทั้งข้อกำหนดของบริษัทจัดการ โดยวิธีการทยอยรับเงินเป็นงวดเช่นนี้ยังไม่ค่อยเป็นที่นิยมนัก แม้ว่าจะเป็นวิธีการบริหารจัดการเงินที่มีข้อดีอยู่มาก กล่าวคือ นอกจากจะทำให้เพื่อนสมาชิกมีวินัยในการใช้จ่ายเงินก้อนสุดท้ายของชีวิตแล้ว ยังทำให้เกิดการลงทุนต่อเนื่อง เป็นการสร้างโอกาสให้เงินที่ยังคงไว้ในกองทุนสามารถออกดอกออกผลต่อไปได้ โดยเพื่อนสมาชิกสามารถสอบถามเงื่อนไขเรื่องการคงเงินและทยอยรับเป็นงวดได้จากคณะกรรมการกองทุน ทั้งนี้ จากข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 มีสมาชิกที่ทยอยรับเงินเป็นรายงวดรวมเป็นมูลค่า 29,728 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 2 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของเงินกองทุนในส่วนของสมาชิกที่เกษียณแล้ว

 

ทางเลือกวิธีสุดท้าย คือ การถอนเงินจากกองทุนออกมาทั้งหมด วิธีการนี้อาจไม่เหมาะสำหรับเพื่อนสมาชิกที่ยังมีความรู้ในเรื่องการบริหารจัดการเงินไม่มากพอหรือไม่มีความเชี่ยวชาญในการนำไปลงทุนด้วยตนเอง หรืออาจจะมีวินัยในการใช้เงินไม่ดีนัก ซึ่งหากเลือกใช้วิธีการนำเงินไปฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด ผลตอบแทนที่ได้รับจากการฝากเงินมักจะต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งก็คือต่ำกว่าระดับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ยิ่งนานวันยิ่งทำให้เงินที่มีอยู่ซื้อสินค้าได้น้อยลง และหากไม่มีวินัยหรือขาดการวางแผนการใช้เงินที่ชัดเจน ยิ่งมีโอกาสมากขึ้นที่เงินจะหดหายจนไม่พอใช้ ประกอบกับการถอนเงินออกจากกองทุนในช่วงที่ภาวะตลาดการลงทุนมีความผันผวนอยู่มาก เป็นการสร้างความเสี่ยงที่จะทำให้เงินออมมีมูลค่าลดลงยิ่งขึ้นไปอีก

 

ดังนั้น เพื่อนสมาชิกควรเลือกวิธีคงเงินไว้เพื่อให้เกิดการลงทุนต่อเนื่อง หรือเลือกรับเงินเป็นงวดและรอดูภาวะตลาด รวมถึงสถานการณ์การลงทุน เพื่อหลีกเลี่ยงการที่จะต้องเผชิญกับมูลค่าเงินกองทุนที่ลดลง ซึ่งเงินส่วนนี้มาจากน้ำพักน้ำแรงที่ได้สะสมมานาน ทั้งนี้ เพื่อนสมาชิกอาจติดต่อบริษัทจัดการเพื่อขอรับคำแนะนำเพิ่มเติมในเรื่องนี้ได้ โดยควรปรึกษาก่อนที่จะถึงวันเกษียณอายุเพื่อให้สามารถเตรียมวางแผนการจัดการเงินได้อย่างเหมาะสม 

 

การแจ้งความประสงค์ล่วงหน้าก่อนเกษียณ

 

ในช่วงเวลาก่อนเกษียณอายุ เพื่อนสมาชิกควรพิจารณาอย่างรอบคอบว่าจะบริหารจัดการเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างไร ทั้งวิธีการรับเงิน การเลือกนโยบายการลงทุน (กรณีคงเงินไว้ในกองทุน) โดยแจ้งความประสงค์ล่วงหน้าได้ที่เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในองค์กรที่เพื่อนสมาชิกทำงานอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล 

 

สำหรับการพิจารณาทบทวนการเลือกนโยบายการลงทุนนั้น เพื่อนสมาชิกอาจขอคำปรึกษาจากคณะกรรมการกองทุน ที่มีความรู้ด้านการลงทุนในองค์กรของท่าน หรืออาจติดต่อไปยังเจ้าหน้าที่ของบริษัทจัดการซึ่งรับผิดชอบการบริหารจัดการเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพขององค์กรของท่าน เพื่อขอคำแนะนำการลงทุนเพิ่มเติมจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านการลงทุนโดยเฉพาะ ซึ่งเรื่องดังกล่าวต้องพิจารณาอย่างรอบคอบระมัดระวัง เนื่องจากเงินก้อนนี้อาจเป็นก้อนสุดท้ายสำหรับเพื่อนสมาชิกบางท่านที่จะไม่ได้ทำงานอีกแล้ว

 

สุดท้ายนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเพื่อนสมาชิกที่ใกล้เกษียณอายุจะสามารถบริหารจัดการเงินกองทุนและวางแผนการใช้เงินในยามเกษียณได้อยางเหมาะสม รวมถึงใช้โอกาสที่ได้รับจากช่วงชีวิตใหม่นี้ ให้เป็นของขวัญชิ้นสำคัญแก่ตนเองและผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการดูแลสุขภาพกายและใจให้แข็งแรง เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองและลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล นำเงินที่ได้เก็บออมไปเติมเต็มความต้องการและความฝันของตน และมีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เช่น เที่ยวรอบโลก เรียนรู้เทคโนโลยี หรือภาษาใหม่ ๆ

 

รวมถึงไม่ลืมที่จะใช้ความรู้และประสบการณ์ที่ได้สั่งสมมาจากการทำงานในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์ เช่น เป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้พิการ สอนหนังสือให้เด็กด้อยโอกาส ทั้งนี้ เพื่อสร้างคุณค่าให้กับตนเองและสังคมจากการให้โดยไม่หวังผลตอบแทนสนใจอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการได้รับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อเกษียณอายุได้ที่นี่ (คลิก) การปรับพอร์ตและการป้องกันไม่ให้ถูกหลอกลวงได้ที่นี่ (คลิก) หรือรายละเอียดเกี่ยวกับการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ที่ www.ThaiPVD.com 


หมายเหตุ : ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์