แรงงานไทย ต้องเก็บเงินกี่ล้าน ถึงเลี้ยงตัวเอง-ครอบครัวให้อยู่รอด

30 เม.ย. 2565 | 00:02 น.

เปิดข้อมูลสำคัญแรงงานไทย รับวันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม 2565 สศช. มีข้อมูลวัยแรงงานหากต้องการวางแผน เลี้ยงตัวเอง และครอบครัวให้อยู่รอดถึงวัยเกษียณ ต้องเก็บเงินกี่ล้าน เพื่อให้ใช้ชีวิตอยู่ได้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น พร้อมฟังข้อแนะนำดี ๆ เอาไปปรับใช้

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้มีการจัดทำผลการวิเคราะห์ข้อมูลบัญชีกระแสการโอนประชาชาติ (National Transfer Account: NTA) ล่าสุด พบข้อมูลว่า หากวัยแรงงานต้องการวางแผนเกษียณ หรือต้องการจะอยู่ได้จนถึงอายุ 90 ปี จะต้องมีค่าใช้จ่าย 3.1 ล้านบาท (ไม่รวมค่าใช้จ่ายที่รัฐสนับสนุน)

 

ทั้งนี้จากข้อมูลการวิเคราะห์ NTA ยังพบด้วยว่า หากวัยแรงงานหากต้องการมีลูก หรือเลี้ยงดูเด็กให้เติบโตจนถึงอายุ 21 ปี หรือตั้งแต่เกิดจนกระทั่งเข้าสู่ตลาดแรงงานจะต้องมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 1.5 ล้านบาท (หักค่าใช้จ่ายที่รัฐสนับสนุน)

 

พร้อมกันนี้ หากวัยแรงงาน อาศัยอยู่ร่วมกับเด็ก 1 คน และผู้สูงอายุ 1 คน โดยที่เด็กและผู้สูงอายุไม่สามารถหารายได้ได้เลย แรงงานคนดังกล่าวจะต้องหารายได้เบ็ดเสร็จรวมแล้วถึง 7.7 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริโภคของเด็ก ผู้สูงอายุ และการวางแผนเกษียณอายุของตนเอง

ขณะเดียวกันจากผลการวิเคราะห์ข้อมูล NTA ซึ่งเก็บตัวเลขล่าสุดในปี 2562 ก่อนเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังพบว่า คนไทยมีรายได้จากการทำงานต่ำกว่าการบริโภคที่เกิดขึ้นตลอดช่วงวัย (การขาดดุลรายได้) คิดเป็นมูลค่าถึง 2.04 ล้านล้านบาท หรือ โดยเฉลี่ยคนไทยหารายได้ได้น้อยกว่าค่าใช้จ่ายประมาณ 3 หมื่นบาทต่อคนต่อปี 

 

โดยผู้ที่มีรายได้ไม่เพียงพอ จะใช้รายได้จากทรัพย์สินที่เก็บสะสมไว้ และเงินโอนจากบุคคลและรัฐ มาชดเชยความไม่เพียงพอที่เกิดขึ้น ซึ่งหากโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์และสุดยอดในปี 2566

 

ส่งผลให้การขาดดุลรายได้ในภาพรวมของประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.16 ล้านล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2576 อยู่ที่ระดับ 2.57 ล้านล้านบาท ทำให้คนไทยต้องหารายได้จากแหล่งอื่นมาชดเชยการขาดดุลที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

 

เพื่อให้ไม่เกิดปัญหาดังกล่าว จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการมีหลักประกันรายได้ หรือการส่งเสริมการออมตั้งแต่ปัจจุบัน ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาสถานการณ์การออมในปัจจุบัน พบว่า มูลค่าการออมของคนไทยยังอยู่ในระดับต่ำ โดยปี 2562 คนไทยมีเงินออมเฉลี่ยที่ 133,256 บาทต่อครัวเรือน 

 

อีกทั้งเกิน 1 ใน 5 ของครัวเรือนนำเงินออมมาใช้จ่ายได้ไม่เกิน 3 เดือนซึ่งหากพฤติกรรมการออม และการมีหลักประกันด้านรายได้ยังไม่เปลี่ยนแปลง จะทำให้การขาดดุลรายได้ที่เพิ่มขึ้น และอาจเป็นภาระของรัฐที่ต้องแบกรับภาระดังกล่าวในอนาคต

อย่างไรก็ตาม สศช. มีข้อเสนอเป็นประเด็นที่ต้องดำเนินการเพื่อรับมือกับผลกระทบ โดยการเพิ่มรายได้เป็นสิ่งสำคัญที่จะบรรเทาการขาดดุลรายได้ และอาจช่วยยกระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยการยกระดับรายได้ต้องให้ความสำคัญตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยสูงอายุ ดังนี้

  • วัยเด็กต้องเตรียมความพร้อมให้มีทักษะเพียงพอ สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และทิศทางการพัฒนาประเทศในอนาคต 
  • ยกระดับรายได้ของกลุ่มวัยแรงงานและพัฒนาทักษะให้แก่ประชากรกลุ่มอายุ15-24 ปี ที่ไม่ได้อยู่ระหว่างเรียนหนังสือ ทำงาน หรือฝึกอบรม ทั้ง การพัฒนาทักษะ การเพิ่มผลิตภาพ มาตรการค่าจ้าง รวมทั้งระบบสวัสดิการ 
  • เพื่อชดเชยการหายไปของวัยแรงงาน ควรส่งเสริมให้ประชากรที่ไม่มีส่วนร่วมในกำลังแรงงานให้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นโดยจะต้องพัฒนาทักษะให้คนกลุ่มนี้กลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน สามารถสร้างรายได้และมูลค่าเพิ่มให้แก่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะต้องมีกลไกสนับสนุนที่ต่อเนื่องตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง
  • ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของผู้สูงอายุ โดยปัจจุบันผู้สูงอายุจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุตอนต้นที่ยังมีศักยภาพเพียงพอที่จะทำงาน
  • ศึกษาถึงลักษณะและตำแหน่งงาน รวมถึงสวัสดิการต่าง ๆ ให้เหมาะสม รวมทั้งสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่องค์กรจะได้รับจากการจ้างงานผู้สูงอายุ เพื่อเป็นการผลักดันให้เกิดการจ้างงานผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น
  • การชดเชยการขาดแคลนของแรงงานผ่านการดึงกลับแรงงานไทยทักษะสูงในต่างประเทศ และการนำเข้าแรงงานต่างชาติทักษะสูง
  • ส่งเสริมการนำเข้าแรงงานต่างชาติในกลุ่มที่มีทักษะสูง เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมมูลค่าสูงที่มีการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้มข้น