PRM ปรับบริหารพอร์ตกองเรือ มุ่ง"โตยั่งยืน"

23 ก.ย. 2565 | 23:05 น.

"พริมา มารีน”(PRM) เผยกลยุทธ์บริหารพอร์ตกองเรือ สร้างรายได้เติบโต"ยั่งยืน" หลังการเข้าซื้อ TM พร้อมมองโอกาสขยายลงทุนเรือเพิ่ม มั่นใจดันรายได้ทั้งปีโต 10% จากการรับรู้รายได้ครึ่งปีหลังการขยายกองเรือใหม่ 3 ลำ และการใช้เรือเต็มอัตรา

 

นายบวร วงศ์สินอุดม ประธานกรรมการ บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) หรือ PRM กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ถึงแนวโน้มธุรกิจในครึ่งปีหลังว่า จากปัจจัยเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว หลังผ่านสถานการณ์โควิด-19  ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันดิบในประเทศเพิ่มขึ้น รวมถึงการขยายธุรกิจ ช่วยหนุนรายได้ทั้งปีจะเติบโตได้ตามเป้าหมาย 10% จากปีที่แล้วที่มีรายได้จากการดำเนินงาน 5,880 ล้านบาท  ขณะที่งวด 6 เดือนปี 2565 บริษัทฯ มีรายได้ 3,178 ล้านบาท กำไรสุทธิ 515 ล้านบาท

 

รับรู้รายได้เพิ่มในครึ่งปีหลัง 

 

 

  • การขยายให้บริการเรือ Crew Boat ครบทั้ง 13 ลำ ทำให้มีอัตราการใช้บริการเต็ม 100%  จาก 6 เดือนแรกที่ 83%  
  • การขยายกองเรือเพิ่มขึ้นอีก 3 ลำ ซึ่งใช้เงินลงทุนรวม 1,896 ล้านบาทในกลุ่มธุรกิจเรือขนส่งระหว่างประเทศ โดยบริษัทฯจะรับรู้รายได้เต็มงวดจากเรือ VLCC ลำที่ 2 ที่เริ่มให้บริการ 6 มิ.ย.65 , เรือ AWB ลำที่ 2 ที่เริ่มให้บริการ 16 มิ.ย.65 รวมถึงเรือ VLCC ลำที่ 3 ที่เริ่มให้บริการตั้งแต่  9 ก.ย. เป็นต้นมา  
  • การขายเรือขนส่งปิโตเลียมระหว่างประเทศ (VLCC)ในไตรมาส 3/65 จำนวน 1 ลำ มูลค่าหลักพันล้านบาท ที่จะทยอยบันทึกกำไร  
  • การขยายโดยเฉพาะเรือขนส่งและการจัดเก็บปิโตรเลียมลอยน้ำ ( FSU) ที่กลับมาฟื้นตัว ซึ่งจะหนุนกำไรในครึ่งปีหลัง

นายบวร กล่าวว่า การเข้าลงทุนซื้อกิจการ บริษัท ทรูธ มารีไทม์ (จำกัด) หรือ TM (เดิมคือ บริษัทไทยออยล์มารีน จำกัด) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของกลุ่มไทยออยล์ เป็นการลงทุนเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญของ PRM ซึ่งจะขับเคลื่อนการเติบโตในระยะยาว จากการเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับกลุ่มไทยออยล์ ที่ให้บริการเรือขนส่งปิโตรเลียมระหว่างประเทศ ด้วยเรือ VLCC ขนาดบรรทุก 300,000 DWT จำนวน 3 ลำ ภายใต้สัญญาระยะยาว 10 ปี อันจะช่วยสร้างความมั่นคงของรายได้ให้แก่บริษัท

 

นอกจากนี้การเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถการให้บริการเพื่อรองรับโอกาสทางธุรกิจ จากการรับเรือขนส่งปิโตรเคมีจำนวน 5 ลำ ที่มีความต้องการใช้บริการเพิ่มขึ้นและเรือขนส่งเพื่อการสำรวจและการผลิตน้ำมันกลางทะเล (เรือ Crew Boat) อีก 13 ลำ เพื่อรองรับกิจกรรมทางทะเลที่เพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นการปรับพอร์ตกองเรือที่ทำให้บริษัทฯ สามารถเอาชนะความท้าทายและมีความแข็งแกร่งในการบริหารความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ทั้งจากปัจจัยภายในประเทศและภายนอกประเทศได้ดียิ่งขึ้น
 

 

PRM ปรับบริหารพอร์ตกองเรือ มุ่ง\"โตยั่งยืน\"

 

สร้างเสถียรภาพรายได้

 

"ธุรกิจ PRM ส่วนใหญ่เป็นสัญญาระยะยาว 5-10 ปี จึงมีรายได้ที่แน่นอนมั่นคง โดยเรือ VLCC เป็นสัญญาระยะยาว 10  ปี และหาก VLCC ให้บริการเต็มปีครบทั้ง 3 ลำ  จะทำให้รายได้จากสัญญาระยะยาวจากธุรกิจทั้งหมดสูงกว่า 70%ของรายได้รวม ซึ่งถือเป็นการสร้างรายได้เติบโตอย่างยั่งยืน" นายบวร กล่าวและว่า  

การปรับกลยุทธพอร์ตบริหารกองเรือให้สอดคล้องกับสภาวะตลาด จากเดิมที่เน้นธุรกิจเรือคลังน้ำมันลอยน้ำ ( FSU) ซึ่งเคยเป็นจุดแข็งของ PRM แต่เนื่องจากตลาดมีความผันผวนสูง ประกอบกับการขยายตัวของธุรกิจขนส่งน้ำมันที่เติบโตมากขึ้น 

 

ส่งผลโครงสร้างรายได้ธุรกิจบริษัทฯ  6 เดือนแรกปี 2565 มาจากธุรกิจขนส่งน้ำมัน(ในและตปท.) รวมกว่า 54% ขณะที่ธุรกิจ FSU อยู่ที่ 32.9% จากปี 2563 ที่สัดส่วนรายได้มาจาก FSU ถึง 55% และเป็นธุรกิจขนส่งน้ำมันเพียง 37% 

 

ส่วนความกังวลในเรื่อง อัตราแลกเปลี่ยน (FX ) ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นายบวร ชี้แจงว่า ปัจจุบันบริษัทฯมีเงินกู้แต่ละปีประมาณ 42.6 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่มีรายได้รูปดอลลาร์  50 ล้านเหรียญสหรัฐ บริษัทมีสภาพคล่องรองรับเพียงพอ และมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุนต่ำที่ 0.38%  จึงไม่ได้รับผลกระทบทั้งจากค่าเงินและอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น

 

ประธานกรรมการ PRM กล่าวทิ้งท้ายว่า บริษัทฯยังมองหาโอกาสการเติบโต ทั้งจากธุรกิจสนับสนุนการขุดเจาะน้ำมันกลางทะเล ( Offshore Support) เรือขนส่งทางทะเล รวมถึงการลงทุนเรือปิโตรเคมีคอลเพิ่มเพื่อขยายธุรกิจ และเรือ VLCC เพื่อใช้เป็นเรือโรงแรมลอยน้ำ เรากำลังมองตรงนี้ว่าน่าจะมีกิจกรรมมากขึ้น จากปัจจุบันที่บริษัทมีพอร์ตกองเรือ 59 ลำ และมีขนาดทรัพย์สินได้มาในช่วง 6 เดือนแรกราว 4,375 ล้านบาท 

 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,821 หน้า 8 วันที่ 25 - 28 กันยายน 2565