ค่าเงินบาทวันนี้เปิด “แข็งค่า” ที่ระดับ 36.87 บาทต่อดอลลาร์

20 ก.ย. 2565 | 00:22 น.

เงินบาทมีโอกาสแกว่งในกรอบ 36.70-37.10 บาทต่อดอลลาร์ เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักจับตาผลการประชุมเฟดในวันพฤหัสฯ นี้ แนะใช้ Options ป้องกันความเสี่ยงช่วงตลาดผันผวน

กรุงไทยระบุ ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.87 บาทต่อดอลลาร์“แข็งค่าขึ้น”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 37.00 บาทต่อดอลลาร์ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยระหว่างวันอาจเห็นลดช่วงแข็งค่าลงตามจังหวะฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ยังมีแรงประคองอย่างต่อเนื่อง

 

 นายพูน  พานิชพิบูลย์   นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่า แนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทยังคงมีแนวโน้มผันผวนไปตามทิศทางเงินดอลลาร์ รวมถึงทิศทางของราคาทองคำ แต่โดยรวมเงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบ 36.70-37.10 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงที่ผู้เล่นในตลาดต่างรอจับตาผลการประชุมเฟดในวันพฤหัสฯ นี้

อย่างไรก็ดี เรามองว่า หากราคาทองคำไม่ได้ปรับตัวลดลงหนักอีกครั้ง และนักลงทุนต่างชาติไม่ได้เดินหน้าเทขายสินทรัพย์ในตลาดการเงินไทย (ล่าสุด นักลงทุนต่างชาติเริ่มขายสุทธิหุ้นไทยเพียง -640 ล้านบาท ซึ่งลดน้อยลงมาก เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า) เงินบาทก็อาจไม่ได้อ่อนค่าทะลุระดับ 37.00 บาทต่อดอลลาร์ไปมากนัก

 

ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.75-37.00 บาท/ดอลลาร์

บรรยากาศในตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะระมัดระวังตัว เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอคอยผลการประชุมเฟด (ที่จะทราบผลการประชุมในเวลาประมาณ 1.00 น. ตามเวลาประเทศไทยในวันพฤหัสฯ นี้) ซึ่งผู้เล่นส่วนใหญ่ต่างมองว่า เฟดมีโอกาสเร่งขึ้นดอกเบี้ย +0.75% ต่อเนื่อง เพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อ

 

อย่างไรก็ดี ในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ นั้น ราคาหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ได้รีบาวด์ขึ้น หลังจากที่ปรับตัวลงแรงต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา นำโดย Apple +2.5%, Tesla +1.9% และช่วยหนุนให้ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.69%

 

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป ย่อตัวลงเล็กน้อยเพียง -0.09% เนื่องจากบรรดานักลงทุนต่างรอจับตาผลการประชุมเฟด ก่อนที่จะมีการปรับเปลี่ยนสถานะถือครองสินทรัพย์เสี่ยงอย่างชัดเจน ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงกดดันจากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวลงหนัก ตามการเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของบรรดาธนาคารกลางหลัก

 

อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มยานยนต์โดยเฉพาะ Volkswagen +3.3% ที่ได้อานิสงส์จากข่าวการ IPO บริษัท Porsche ซึ่งตลาดต่างคาดว่าจะมีมูลค่าสูงกว่า 7.5 หมื่นล้านยูโร และเป็นการทำ IPO ที่ใหญ่อันดับ 2 ของตลาดหุ้นเยอรมนี

 

ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่า เฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยไปจนถึงระดับ 4.50%-4.75% (Terminal Rate) ได้ช่วยหนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวขึ้นทดสอบจุดสูงสุดก่อนหน้าที่ 3.50% อีกครั้ง

 

ทั้งนี้  บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับดังกล่าว เนื่องจากผู้เล่นส่วนใหญ่ยังคงรอประเมินแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของเฟด ขณะที่ผู้เล่นบางส่วนยังคงทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว ตามความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย

 

ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนักและเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า (ผลสำรวจของ Bloomberg ล่าสุด สะท้อนว่านักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างให้โอกาสราว 50% ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า)

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 109.7 จุด หลังจากที่ได้ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 110 จุด ก่อนหน้า โดยผู้เล่นในตลาดต่างรอปัจจัยใหม่ๆ

 

โดยเฉพาะผลการประชุมเฟดในวันพฤหัสฯ ที่จะถึงนี้ ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนสถานะการถือครองที่ชัดเจน อนึ่ง การย่อตัวลงของเงินดอลลาร์ ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นใกล้ระดับ 1,685 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทว่า ราคาทองคำยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อไปได้มาก เนื่องจากยังคงถูกกดดันจากแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด อย่างไรก็ดี เรามองว่า ราคาทองคำอาจเคลื่อนไหวในทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้น หลังตลาดรับรู้ผลการประชุมเฟด

 

สำหรับวันนี้ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดยังคงรอคอยผลการประชุมเฟดในวันพฤหัสฯ ทำให้บรรยากาศโดยรวมของตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวและราคาสินทรัพย์ส่วนใหญ่มีแนวโน้มแกว่งตัว sideways ในกรอบ

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 36.90-36.92 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (9.30 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 36.99 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยแม้เงินบาทจะขยับแข็งค่าได้เล็กน้อย แต่ก็อาจลดช่วงแข็งค่าลงในระหว่างวันตามจังหวะฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ยังมีแรงประคองอย่างต่อเนื่องจากแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องในช่วงรอบการประชุมถัดๆ ไป 

 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันพรุ่งนี้ คาดไว้ที่ 36.80-37.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยที่ต้องติดตามจะอยู่ที่ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ค่าเงินหยวน การประกาศอัตราดอกเบี้ย LPR ของจีน อัตราเงินเฟ้อเดือนส.ค. ของญี่ปุ่น  ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านเดือนส.ค. ของสหรัฐฯ