ค่าเงินบาทวันนี้เปิดตลาด "อ่อนค่า"ที่ระดับ  36.29 บาท/ดอลลาร์

29 ส.ค. 2565 | 00:36 น.

เงินบาทยังมีความเสี่ยงที่จะ "อ่อนค่า" ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว แนะ ติดตามทิศทางฟันด์โฟลว์

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.29 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 36.03 บาทต่อดอลลาร์
 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดกลับมาปิดรับความเสี่ยงอย่างรุนแรง หลังประธานเฟดส่งสัญญาณเฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อ เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อให้สำเร็จ
 

ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ตลาดจะรอจับตาตัวแปรสำคัญต่อทิศทางนโยบายการเงินของเฟด อย่าง ข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ส่วน อัตราเงินเฟ้อยูโรโซนก็อาจสะท้อนแนวโน้มนโยบายการเงินธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้เช่นกัน

 

โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้
 
ฝั่งสหรัฐฯ – ไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามอย่างใกล้ชิด คือ รายงานข้อมูลตลาดแรงงานซึ่งอาจเป็นตัวแปรสำคัญต่อทิศทางนโยบายการเงินของเฟด โดยตลาดประเมินว่า ตลาดแรงงานสหรัฐฯ โดยรวมยังคงมีความตึงตัวและแข็งแกร่งอยู่ แม้ว่ายอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) เดือนสิงหาคม อาจเพิ่มขึ้น 3 แสนราย ลดลงจากที่เพิ่มขึ้นกว่า 5.3 แสนรายในเดือนก่อน ทำให้อัตราว่างงานทรงตัวที่ระดับ 3.5% แต่โดยรวมจำนวนตำแหน่งงานเปิดรับยังคงสูงถึง 1.8 เท่า ของจำนวนผู้ว่างงาน ซึ่งภาวะตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่งและตึงตัวดังกล่าว จะเพิ่มโอกาสที่เฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมเดือนกันยายน

 

ทั้งนี้ ตลาดจะรอติดตามมุมมองของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อสหรัฐฯ เพื่อประเมินแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ส่วนในด้านข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญอื่นๆ นั้น ตลาดประเมินว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย Conference Board อาจปรับตัวดีขึ้นสู่ระดับ 97.7 จุด ในเดือนสิงหาคม ตามการปรับตัวลดลงของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งช่วยหนุนให้ผู้บริโภคสหรัฐฯ กล้าที่จะจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น
 

อย่างไรก็ดี ภาคการผลิตอุตสาหกรรมสหรัฐฯ อาจขยายตัวในอัตราชะลอลง ชี้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม (ISM Manufacturing PMI) ในเดือนสิงหาคม ที่อาจปรับตัวลงสู่ระดับ 52 จุด (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว) ตามการชะลอตัวลงเศรษฐกิจโลกและปัญหาต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง
 
 

ฝั่งยุโรป – ตลาดคาดว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปอาจมีแนวโน้มชะลอลงมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของเยอรมนีในเดือนกรกฎาคมที่อาจหดตัว -0.1% จากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจยุโรปจะชะลอตัวมากขึ้น ทว่าปัญหาสำคัญของฝั่งยุโรป คือ ภาวะเงินเฟ้อสูง ซึ่งตลาดมองว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI ของยูโรโซนอาจพุ่งขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 9.0% ในเดือนสิงหาคม และอาจทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ยในเดือนกันยายนได้

 

ฝั่งเอเชีย – ตลาดมองว่า เศรษฐกิจเวียดนามยังคงเดินหน้าฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยยอดค้าปลีกเดือนสิงหาคมอาจพุ่งขึ้นกว่า 60%y/y ส่วนยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) อาจโตกว่า +20%y/y สอดคล้องกับยอดการส่งออกที่จะขยายตัวต่อเนื่องราว +19%y/y อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ดีขึ้นและปัญหาน้ำท่วมในช่วงต้นเดือนสิงหาคม จะหนุนให้อัตราเงินเฟ้อเดือนสิงหาคมพุ่งขึ้นแตะระดับ 3.6% ส่วนในฝั่งจีน สารพัดปัญหาที่รุมเร้าการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน
 

อาทิ ปัญหาหนี้ภาคอสังหาฯ วิกฤติภัยแล้ง รวมถึงการระบาดของ COVID-19 จะกดดันให้ภาคการผลิตอุตสาหกรรมของจีนอาจหดตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนี PMI ภาคการผลิตในเดือนสิงหาคมที่จะลดลงสู่ระดับ 48.6 จุด ส่วนภาคการบริการก็อาจขยายตัวในอัตราชะลอลง หลังการระบาดของ COVID-19 นั้นเกิดขึ้นในหลายเมืองท่องเที่ยว โดยดัชนี PMI ภาคการบริการอาจลดลงสู่ระดับ 52.6 จุด
 

ฝั่งไทย – ตลาดประเมินว่า แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ได้แรงหนุนจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ดีกว่าคาด จะช่วยหนุนให้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (Business Sentiment) เดือนสิงหาคมปรับตัวดีขึ้นสู่ระดับ 50 จุดได้ อย่างไรก็ดี ภาคการผลิตอุตสาหกรรมของไทยอาจขยายตัวในอัตราชะลอลงในเดือนสิงหาคม ท่ามกลางภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะสะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการผลิตที่จะลดลงสู่ระดับ 52 จุด
 
  
 
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทยังมีความเสี่ยงที่จะอ่อนค่า ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ทั้งนี้ ควรติดตามทิศทางฟันด์โฟลว์จากนักลงทุนต่างชาติ โดยเราคาดว่า หากตลาดหุ้นไทยย่อตัวลงตามตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในสัปดาห์หน้า (แม้จะปรับตัวลงไม่รุนแรงเท่า) แต่อาจเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติทยอยซื้อหุ้นไทยต่อได้
 

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น มุมมองของตลาดที่คาดว่า เฟดอาจเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมเดือนกันยายน จะเป็นปัจจัยหนุนเงินดอลลาร์ในช่วงนี้ และเงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้นต่อได้ หากข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาดไปมาก อย่างไรก็ดี แนวโน้ม ECB เร่งขึ้นดอกเบี้ย ก็อาจช่วยพยุงค่าเงินยูโรและชะลอการแข็งค่าหนักของเงินดอลลาร์ได้เช่นกัน
 
เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
 
มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 35.80-36.40 บาท/ดอลลาร์
 
ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.20-36.40 บาท/ดอลลาร์

 

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าเงินบาท "อ่อนค่า" ผ่านแนว 36.40 ไปที่ระดับ 36.44 บาทต่อดอลลาร์ฯ (อ่อนค่าสุดในรอบ 4 สัปดาห์) เทียบกับระดับปิดตลาดปลายสัปดาห์ก่อนที่ 36.02 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงสอดคล้องกับทิศทางของสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาค หลังจากถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่ Jackson Hole ส่งสัญญาณว่า เฟดจะยังขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องเพื่อทำให้เงินเฟ้อกลับลงมาอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้
 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 36.20-36.45/36.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางฟันด์โฟลว์ สถานการณ์สกุลเงินในภูมิภาค และการตอบรับของตลาดต่อถ้อยแถลงของประธานเฟด