“ออมสิน” พร้อมให้กองทุนน้ำมันกู้ ในอัตราดอกเบี้ยต่ำสุด

24 ส.ค. 2565 | 02:20 น.

ออมสิน เผย พร้อมให้กองทุนน้ำมันฯ กู้เสริมสภาพคล่อง ในอัตราดอกเบี้ยต่ำสุดที่จะให้ได้ เนื่องจากเข้าข่ายโครงการเพื่อสังคม หลังกองทุนน้ำมันฯ ติดลบหนักเหตุเข้าไปพยุงราคาน้ำมันลดผลกระทบประชาชน

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยกรณีที่ ครม. เห็นชอบให้อำนาจกระทรวงการคลัง ค้ำประกันการชำระหนี้ และการกู้ยืมเงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อเสริมสภาพคล่องของกองทุนฯ นั้น โดยธนาคารออมสิน ในฐานะแบงก์รัฐ พร้อมจะปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุดที่ธนาคารจะสามารถให้ได้ แต่อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่มีการประสานหรือคำสั่งใดจากกระทรวงการคลังมายังธนาคารออมสิน 

ทั้งนี้เชื่อว่า หากกองทุนน้ำมันฯ ทำการกู้เงิน อาจใช้รูปแบบการเปิด Bid เพื่อให้สถาบันการเงินที่สนใจ เข้ามาแข่งขันเสนอราคา สำหรับพันธบัตรของกองทุนน้ำมันที่จะออกมาเสริมสภาพคล่องของกองทุนฯ โดยมีกระทรวงการคลังค้ำประกันตามกฎหมาย

 

“ออมสินพร้อมรับนโยบาย พร้อมเข้าร่วมแข่งขัน เนื่องจากการให้สินเชื่อแก่กองทุนน้ำมันฯ ก็ถือเป็นโครงการที่ตอบสนองนโยบายของรัฐ  โดยออมสินก็จะเสนออัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุดเท่าที่ธนาคารจะทำได้ เนื่องจากเห็นว่าเข้าข่ายโครงการเพื่อสังคม” นายวิทัย กล่าว

นายวิทัย กล่าวอีกว่า การ Bid ตัวพันธบัตรของกองทุนน้ำมันฯ จะได้ในราคาเท่าไหร่นั้น ยังขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่สำนักงานกองทุนน้ำมันฯ จะกำหนดขึ้น โดยภายใต้สถานการณ์อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น หากต้องการพันธบัตรอายุยาว และเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบ Fix ต้นทุนของพันธบัตรก็สูงกว่า การออกพันธบัตรที่อายุสั้นกว่า และเป็นดอกเบี้ยแบบ Float 

 

ขณะที่ความเสี่ยงจากการปล่อยกู้ให้กับกองทุนน้ำมันฯ เนื่องจากกองทุนฯ จะต้องเป็นผู้ชำระหนี้เองทั้งหมดนั้น นายวิทัยกล่าวว่า เนื่องจากกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน หากกองทุนฯ ไม่สามารถชำระเงินคืนได้ กระทรวงการคลังก็จะต้องรับผิดชอบชำระหนี้แทน ดังนั้นจึงถือว่าไม่มีความเสี่ยงใดกับธนาคาร

 

สำหรับการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมันฯ นั้น เนื่องจากที่ผ่านมา รัฐบาลได้สั่งให้กองทุนฯ นำเงินเข้าไปอุดหนุนเพื่อตรึงราคาน้ำมัน ลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนที่ต้องแบกรับราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้น จากผลกระทบของสงครามรัสเซียและยูเครน

 

ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ มีฐานะการเงินติดลบเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ถึงกว่า 1 แสนล้านบาท จึงต้องการเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องของกองทุนฯ แต่ไม่มีสถาบันการเงินใดในประเทศปล่อยกู้ เนื่องจากกังวลความสามารถในการชำระหนี้คืนตามสัญญา กระทั่งวันที่ 16 สิงหาคม 65 ครม. จึงได้อนุมัติร่าง พรก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยกำหนดวงเงินค้ำประกันไว้ไม่เกิน 1.5 แสนล้านบาท

 

ทั้งนี้ ณ วันที่ 21 สิงหาคมนี้ กองทุนน้ำมันมีสถานะติดลบรวม 1.18 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็น การติดลบของกองทุนที่เข้าไปอุดหนุนราคาน้ำมันอยู่ 7.67 หมื่นล้านบาท และติดลบจากการเข้าไปอุดหนุน LPG อยู่ 4.12 หมื่นล้านบาท โดยกระทรวงพลังงานประเมินว่าหากไม่มีการเพิ่มสภาพคล่องให้กองทุนน้ำมันฯ หรือยังเข้าไปอุดหนุนราคาพลังงานต่อเนื่อง อาจทำให้กองทุนน้ำมันฯ ติดลบสูงถึง 2 แสนล้านบาทภายในปลายปี 65 นี้