“ออมสิน” ชี้หลังเกษียณ ต้องมี 6 ล้าน พร้อมเคล็ดลับออมเพื่อชีวิตหลังเกษียณ

22 ส.ค. 2565 | 09:04 น.

“วิทัย” ผอ.ออมสิน แนะคนไทยเร่งออมเงิน หลังพบอายุ 60 ปีแล้วยังต้องทำงานต่อ เหตุไร้เงินออม ชี้ขั้นต่ำหลังเกษียณ ต้องมี 6 ล้านบาท พร้อมเตรียมออกผลิตภัณฑ์เงินฝากเพื่อวัยเกษียณ หวังช่วยคนไทยมีความสุขในชีวิตยามเกษียณ

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวในงานสัมมนา “HEALT&WEALT FORUM สร้างสุขก่อนสูงวัย” ในหัวข้อ “นวัตกรรมการเงิน” ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ และ กรุงเทพธุรกิจ ว่า ปัจจุบันอายุเฉลี่ยของคนไทยยาวนานขึ้น จากอดีตที่ 60 ปี มาอยู่ที่ 75-80 ปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

 

ซึ่งไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างแท้จริง ขณะเดียวกันยังพบว่าผู้ที่เกษียณเมื่ออายุ 60 ปี มีถึง 80% ที่ยังต้องทำงานต่อ เพราะไม่มีเงินออมเพียงพอ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีเงินออมเพื่อให้อยู่รอดได้

“คำถามโลกแตก เกษียณต้องมีเงินเท่าไหร่ เป็นคำถามที่ตอบยาก เพราะขึ้นอยู่กับตัวท่านเอง ตามทฤษฎี คือ 50% - 70% ของเงินเดือนเดือนสุดท้าย ก็คือเงินที่จะใช้หลังเกษียณต่อเดือน และให้คูณตามระยะเวลาที่จะมีชีวิตอยู่ หรือที่เรียกว่า Minimum Lump Sum

 

เช่น หากต้องการใช้เงินหลังเกษียณ ที่ 20,000 บาทต่อเดือน ระยะเวลาหลังเกษียณอีก 20 ปี เท่ากับจะต้องมีเงินออม 4,800,000 บาท แต่หากจะอยู่อีก 25 ปี เงินออมจะต้องเพิ่มขึ้นเป็น 6,000,000 บาท ซึ่งยังไม่รวมถึงเงินเฟ้อที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต” นายวิทัย กล่าว 

 

วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน

นายวิทัย กล่าวอีกว่า ในอดีตตัวเลขเงินที่จะพออยู่ได้เมื่อเกษียณ คือ 4 ล้านบาท ใช้ชีวิตดีขึ้นมาหน่อย คือที่ 7 ล้านบาท แต่หากอยากอยู่แบบสบายๆ คือต้องมี 9 ล้านบาท แต่ปัจจุบันคือ 6 ล้าน 9 ล้าน และ 12 ล้าน ซึ่ง 12 ล้านยังไม่รวมตัวเลขเงินเฟ้อที่จะเพิ่มขึ้นอีก

 

นายวิทัย กล่าวอีกว่า เคยคุยกับรุ่นน้องเรื่องการออม ซึ่งขณะนั้นอายุ 35 ปี ก็คุยกันไม่รู้เรื่อง ผ่านมาตอนนี้ อายุเกือบ 50 ปี ไม่มีเงินเก็บ กลับมาถามว่า จะเก็บเงินทันไหม ก็ตอบว่า ถ้าจะอยู่ถึง 80 ปี การเก็บออมแบบสบายๆ ไม่ทันแล้ว  

 

ซึ่งตามทฤษฎี คือ ควรเริ่มออมทันที แต่ชีวิตจริงอาจทำไม่ได้ เพราะเรียนจบมา มักจะมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ทั้งการผ่อนรถ ผ่อนคอนโด และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในขณะที่เงินเดือนก็ยังน้อย

 

แต่อย่างไรก็ตามยังแนะนำว่า ควรเริ่มออมให้เร็วที่สุด ควรเริ่มทันที และออมให้นานที่สุด โดยอาจะเริ่มที่เล็กน้อย หรือ 10% - 15% ของเงินเดือน ทั้งนี้ยอมรับว่าดอกเบี้ยเงินฝากในปัจจุบันให้ผลตอบแทนที่ต่ำมาก ดังนั้นต้องมีการลงทุนควบคู่ โดยการลงทุนผ่านมืออาชีพเพื่อลดความเสี่ยง แต่ยังต้องออมเงินควบคู่กันไปด้วย 

 

พร้อมยกตัวอย่าง หากออมเงิน 1,000 บาทต่อเดือน เริ่มออมตอนอายุ 50 ปี โดยได้ดอกเบี้ยที่ 2% เมื่ออายุครบ 60 ปี จะมีเงินออมอยู่ที่ 133,000 บาท แต่หากเริ่มออมตอนอายุ 35 ปี คือเริ่มออมให้เร็วขึ้น เมื่ออายุ 60 ปี จะมีเงินฝาก 389,000 บาท

 

แต่หากเริ่มตอนอายุ 35 ปีเท่ากัน แต่ออมเพิ่มเป็น 5,000 บาทต่อเดือน ในอัตราดอกเบี้ยที่ 2% เท่ากัน เมื่ออายุ 60 ปี จะมีเงินออม 1,944,000 บาท และหากมีการลงทุนเพิ่มเงินก้อนนี้จะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 3 ล้านบาท  ดังนั้น จะเห็นได้ว่า พลังการออมที่มีผล คือ ออมยาวๆ ออมมากขึ้นแบบทบต้น และ ต้องออมผ่านการลงทุน

 

“ออมสิน” ชี้หลังเกษียณ ต้องมี 6 ล้าน พร้อมเคล็ดลับออมเพื่อชีวิตหลังเกษียณ

 

นายวิทัย กล่าวอีกว่า ธนาคารออมสิน ได้หันมามุ่งเน้นส่งเสริมการออมเพื่อการเกษียณมากขึ้น โดยในช่วงเดือนกรกฎาคม 65 ได้ออกผลิตภัณฑ์เงินฝากเพื่อวัยเกษียณ อายุ 10 ปี ดอกเบี้ยแบบขั้นบันได้เฉลี่ย 4.1% ต่อปี วงเงิน 1.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเต็มวงเงินอย่างรวดเร็ว

 

และ ธ.ออมสิน ยังเตรียมออกผลิตภัณฑ์ ประกันเพื่อเกษียณอายุ เช่น คนที่อายุ 45 ปี ออมเงิน 5,000 บาทต่อเดือน ระยะเวลา 15 ปี รวมจำนวนเงินที่จ่ายคือ 900,000 บาท หลังจากนั้นเมื่ออายุ 60 – 85 ปี จะได้รับเงินคืนเท่ากันต่อเดือนจนกระทั่งครบอายุ 85 ปี

 

ซึ่งถือเป็นการออม ที่ทำให้เกิดบำนาญ เพราะปัจจุบันกลุ่มข้าราชการ จะมีความได้เปรียบในชีวิตหลังเกษียณ เนื่องจากมีบำนาญ แต่พนักงานเอกชนไม่มี ซึ่งทุกคนอยากมีบำนาญ ดังนั้นผลิตภัณฑ์ตัวนี้จะเป็นบำนาญในอนาคตได้

 

"การออมเพื่อการเกษียณ เป็นสิ่งสำคัญ เมื่อท่านเกษียณ คนที่ดูแลท่านในตอนเกษียณ ไม่ใช้ใครอื่น แต่คือ ตัวท่านในปัจจุบัน ดังนั้นจึงต้องสะสมเงินเพื่อจะได้ใช้ชีวิตยามเกษียณอย่างมีความสุข" นายวิทัย กล่าว 

 

นายวิทัย กล่าวอีกว่า ขณะที่ประกันบำนาญ มีความสำคัญไม่น้อยกว่าการออมและการลงทุน แต่ยังไม่ได้รับความนิยมในไทยมากนัก เพราะคนไทยนิยมทำประกันแบบสะสมทรัพย์  โดยกล่าวว่าสาเหตุที่ประกันบำนาญสำคัญ เพราะเมื่อออมไปเรื่อยๆ เมื่ออายุ 60 จะทยอยได้รับเงินคืนจนถึงอายุ 90 ปี

 

นอกจากนี้ ธ.ออมสิน และ ธ.ธอส. ยังเป็น 2 ธนาคารของไทยที่มีผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ หรือ Reverse Mortgage ซึ่งเป็นสินเชื่อที่ประสบความสำเร็จมากในประเทศญี่ปุ่น รูปแบบของ Reverse Mortgage คือ ผู้ที่เกษียณอายุแล้ว และบ้านที่ปลอดหนี้ แต่ต้องการใช้เงินหลังเกษียณ ก็เอาบ้านมาเข้าธนาคารในโครงการ Reverse Mortgage และธนาคารจะจ่ายเงินให้เจ้าของบ้านแบบรายเดือนตลอดชีวิต

 

โดยไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยหรือคืนเงินต้น ซึ่งเมื่อท่านเสียชีวิต แบงก์จะนำบ้านไปขายเพื่อนำเงินมาชำระหนี้และดอกเบี้ยแทน โดยทายาท ยังสามารถมาขอสินเชื่อเพื่อซื้อบ้านหลังนี้กลับไปได้ แต่พบว่าผลิตภัณฑ์นี้ยังไม่ได้รับความนิยมในไทยนัก ดังนั้นจึงเตรียมปรับรูปแบบเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของคนไทยต่อไป