เปิดโผหุ้นได้-เสียประโยชน์ หลัง"กนง."ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย

10 ส.ค. 2565 | 01:49 น.

เปิดโผหุ้นได้-เสียประโยชน์ รับดอกเบี้ยขาขึ้นหลังที่ประชุม กนง.วันนี้ ( 10 ส.ค.65) ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% และคาดจะปรับขึ้นต่อเนื่องถึงปี 66 โบรกแนะสะสมหุ้นกลุ่มแบงก์ใหญ่ KBANK BBL SCB KTB TISCO ได้ประโยชน์จากส่วนต่างดอกเบี้ย

ตลาดคาดการณ์ว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในวันนี้ 10 สิงหาคม 2565 จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% มาอยู่ในระดับ 0.75% และมีแนวโน้ม กนง.จะปรับขึ้นต่อเนื่องตลอดปีนี้ จากการประชุมที่เหลืออีก 2 ครั้ง (28 ก.ย.,30 พ.ย. )โดยคาดสิ้นปี 65 ดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ระดับ 1.00- 1.25% 

 

อ่านเพิ่มเติม :  

วิจัยกสิกรไทย คาดกนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สิ้นปีคาดขยับแตะ 1.25%

ส่องไทม์ไลน์เฟดขึ้นดอกเบี้ยปี 65 คาด ก.ย.นี้ ขึ้นอีก 0.75%

 

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ฟันธงรอบนี้ กนง.จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% แต่เสียงแตก มติไม่เป็นเอกฉันท์ โดยกนง. เสียงข้างมาก น่าจะให้น้ำหนักความเสี่ยงในการฟื้นตัวและการกระจายตัวของเศรษฐกิจไทย จึงปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เท่านั้น และน่าจะมีเสียงข้างน้อย 3 เสียงเช่นเดิมที่สนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.5% 

 

แต่ไม่ว่าจะทางไหน ดอกเบี้ยขาขึ้นเช่นนี้ จะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่มีหนี้สูงและมีการฟื้นตัวช้า โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่มีหนี้มากและยังมีปัญหารายได้โตไม่ทันรายจ่าย เช่น กลุ่มธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ การสื่อสารและโทรคมนาคม ร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้า ห้างสรรพสินค้า ธุรกิจขนส่ง การก่อสร้างและขายวัสดุก่อสร้าง และธุรกิจสำนักงานให้เช่า ยกเว้นว่ากลุ่มดังกล่าว จะอยู่ในพื้นที่หรือมีลูกค้ากลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยว การส่งออก 

 

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)เอเซียพลัส (ASPS) ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้ ( 10 ส.ค.65) ว่าประเด็นการขึ้นดอกเบี้ยในไทย ถือเป็นเรื่องหนึ่งแรงที่คอยกดดันตลาดหุ้นไทยในอนาคต อย่างไรก็ตามยังพอมีหุ้นที่สามารถรับมือกับปัจจัยดังกล่าวได้ดี และน่าจะ Outperform ตลาดได้อาทิ หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ (KBANK BBL SCB KTB) , กลุ่มประกัน (BLA) เป็นต้น


 

ผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยต่อกลุ่มธนาคาร และกลุ่มเช่าซื้อหรือ NON-BANK

 

กลุ่มธนาคารพาณิชย์

 

ASPS ระบุว่า ภายใต้สมมติฐาน กนง. ขึ้นอัตราดอกเบี้ย นโยบาย 0.25% ในการประชุมครั้งนี้ จะผลักดันอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคาร (Interbank) ทั้งในฝั่งสินทรัพย์ (รายได้ดอกเบี้ยรับ) และหนี้สิน (ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย) ที่อิงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นในอัตราเดียวกัน

 

ภาพรวมสุทธิแล้วบวกต่อ BBL (FV@B152) มากสุดในกลุ่มฯ ที่มีสัดส่วนรายได้ดอกเบี้ยจากInterbank สุทธิ คิดเป็นสัดส่วนราว 5% ของรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิ (NII) งวด 1H65 เทียบกับค่าเฉลี่ยกลุ่มฯ ราว 2% - 3% ของ NII ช่วง 1H65

 

นอกจากนี้การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะหนุนอัตราดอกเบี้ยที่เกี่ยวข้อง อย่าง BIBOR ให้ปรับขึ้นตาม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอัตราดอกเบี้ยที่คิดกับเงินให้สินเชื่อแก่ลูกค้าภาครัฐ ดีต่อ KTB(FV@B18) ที่มีสัดส่วนสินเชื่อรัฐบาลมากสุดในกลุ่มฯ ราว 19% ของพอร์ตสินเชื่อธนาคารฯ

 

สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อกลุ่ม M-Rate (MLR, MRR, MOR) และเงินฝาก ติดตามการบริหารจัดการตามกลไกลตลาดของแต่ละธนาคาร แม้มองว่าผลบวกต่อปี 2565 จำกัด เนื่องจากระยะเวลาในการคิดอัตราดอกเบี้ยใหม่อยู่ที่ราว 4 เดือน ก่อนจะส่งผลบวกต่อ NII และกำไรก่อนสำรอง (PPOP) ในปี 2566

 

ทั้งนี้ หากพิจารณาโครงส้างสินเชื่อกลุ่มฯ ราว77% สามารถปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยภายใน 1 ปี นำโดย KTB, BBL, KBANK และ SCB ตามลำดับ ตรงข้ามกับต้นทุนทางการเงินที่ประมาณ 67% เป็น Floating rate ภาพดังกล่าวจึงบวกต่อ ธ.พ. ขนาดใหญ่ ลบต่อ TISCO และกลางๆ ต่อ KKP (TISCO และ KKP ได้สะท้อนในประมาณการปี 2566 – 67 แล้ว)

 


 


 

ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ดันกำไรแบงก์เพิ่ม 7-10%

 

เบื้องต้นฝ่ายวิจัย ฯ  ประเมินทุก 0.25% ของอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เปลี่ยนแปลงและ ธ.พ. มี การบริหารจัดการตามกลไกลตลาด จะทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ ( NIM)  ธ.พ. ใหญ่ เพิ่มขึ้น 0.05% - 0.10% โดย
ภายใต้ Sensitivity Analysis (สมมติฐานอื่นคงเดิม) จะพบว่าในกรณีที่ NIM เพิ่มขึ้น(ลดลง) 0.1% จากสมมติฐานฝ่ายวิจัย จะทำให้กำไรของ BBL, KTB เปลี่ยนแปลงราว 10% ส่วน KBANK และ SCB ประมาณ 7% - 8%

 

เลือก ธ.พ. ใหญ่ ตามธีมดอกเบี้ยขาขึ้น อีกทั้งคาดหวังการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ กนง. จะช่วยหนุน Fund Flow ไหลเข้า บวกโดยตรงต่อกลุ่มธนาคาร เลือก KBANK (FV@B174) จากการจัดการ NPL เชิงรุกลุ้น NPL ผ่าน peak level เร็วกว่าเพื่อน อีกทั้ง Non – NII หากมีรายการใหญ่เกิดขึ้นตามกระแสข่าวจริง ยกระดับ PPOP บวกต่อความสามารถในการบริหารจัดการ NPL รวมทั้งเพิ่ม LLR ตามด้วยKTB(FV@B18) แนวโน้มกำไรปี 2565 เติบโตเด่นสุด และคุณภาพสินทรัพย์ ณ สิ้นงวด2Q65 สบายใจกว่า ธ.พ. ใหญ่อื่นๆ

 

และสุดท้าย SCB (FV@B140) เพราะจุดยืนด้าน Fintech ชัดเจน และราคาหุ้นผ่านการปรับฐานพอสมควร ส่วน TISCO (FV@B102) กรณีที่เงินบาทแข็งค่า จะช่วยจูงใจในเชิง Div Yield สำหรับนักลงทุนต่างชาติมากขึ้นจากปัจจุบันที่ประมาณ 8% (จ่ายปีละครั้ง) 

 

กลุ่มเช่าซื้อ

 

หาก กนง.ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จะทำให้แนวโน้มต้นทุนการเงินของกลุ่มเช่าซื้อสูงขึ้น เพราะโครงสร้างหนี้สินที่มีอัตราดอกเบี้ยจ่ายบางส่วนเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว แต่อัตราดอกเบี้ยที่ปล่อยกู้ให้ลูกค้าเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ทั้งหมด โดยหากกำหนดสมมติฐานให้ กนง.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นโยบาย 0.25% จะทำให้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมใหม่ของกลุ่มเช่าซื้อสูงขึ้น และสมมติฐานอื่นไม่เปลี่ยนแปลง จะส่งผลกระทบต่อประมาณการกำไรสุทธิปี 2566 ของกลุ่ม เช่าซื้อราว 1.1% โดยผู้ประกอบการที่กระทบมากสุดเรียงได้ดังสรุปในตารางด้านล่าง

 

(ขณะที่ผู้ประกอบการกลุ่มบริหารสินทรัพย์ เช่น BAM และ JMT เป็นต้น อ้างอิงอัตราดอกเบี้ยที่คิดลูกค้าในอัตรา MLR ซึ่งเป็นอัตราลอยตัว จะสามารถหักล้างแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมที่จะเพิ่มขึ้นไปได้ทั้งหมด จึงประเมินว่าจะได้รับผลกระทบจำกัด) 

 

เปิดโผหุ้นได้-เสียประโยชน์ หลัง"กนง."ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย

 

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัย ฯ ประเมินว่าแนวโน้มความต้องการใช้สินเชื่อของกลุ่มจะเติบโตต่อเนื่องในปี 2565-66 จากแนวโน้มกิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัว โดยเลือก TIDLOR (FV@B42) และ JMT (FVปี 2565@B80 และ FV ปี 2566@B100) เป็น Top pick ของกลุ่ม

 

นายกิติชาญ ศิริสุขอาชา อาวุโสฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี  (ประเทศไทย)  กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจดิจิทัล"ว่าการประชุมกนง.วันนี้ คาดว่ากนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เป็นบวกต่อกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมองว่าจะมีการเก็งกำไรล่วงหน้า โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารใหญ่  BBL ,KBANK,KTB และ SCB ซึ่งได้ประโยชน์จากส่วนต่างดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้น เพราะจากสถิติข้อมูลในอดีต 4 ปีก่อน หลังกนง.ประกาศขึ้นดอกเบี้ยจาก 1.5% เป็น 1.75% หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์จะปรับขึ้น 2%

 

ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ 

 

  • หุ้นกลุ่มไฟแนนซ์ หรือเช่าซื้อ จำนำทะเบียนรถ อาทิ  MTC, SAWAD, TIDLOR ฯลฯ  จากต้นทุนดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น  ลูกค้าชะลอการขอสินเชื่อ รวมถึงผลต่อความสามารถในการใช้หนี้ 
  • กลุ่มอสังหาริมทรัพย์  ผลกระทบด้านกำลังซื้อที่ชะลอตัวลง   
  • หุ้นกลุ่มส่งออก โดยเฉพาะกลุ่มอิเลกทรอนิกส์ เนื่องจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อรายได้จากการขายสินค้า  

 

"การปรับขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้ของ กนง.  0.25% อาจไม่กระทบต่อธุรกิจมากนัก แต่คาดว่า กนง.จะขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในการประชุมอีก 2 ครั้งที่เหลือ และต่อเนื่องถึงปี 2566 ตามเฟด ซึ่งแน่นอนย่อมส่งผลกระทบต่อธุรกิจจากนี้ " 

 

บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย ) มองว่า กนง.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปต่อเนื่องในการประชุมปีนี้   ดังนั้นจึงไม่กระทบภาพการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมากจนเกินไป อีกทั้งยังเปิดโอกาสรอการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวช่วงปลายปี รวมถึงการชะลอตัวของราคาน้ำมันในโลก ที่จะช่วยบรรเทาการเร่งตัวของเงินเฟ้อที่คาดจะมีจุดพีค ในช่วงไตรมาส 3 
      

หุ้นที่ได้ และเสียประโยชน์

 

  • 1. ประเด็นปรับฐาน ดอกเบี้ยกู้ยืมขั้นต่ำทำให้ต้นทุนการกู้ยืมเงินสูงขึ้น มีแนวโน้มกระทบต่อธุรกิจที่มีภาระหนี้สูง หรือ ธุรกิจเช่าซื้อ /จำนำทะเบียน รถ เช่น MTC, SAWAD, TIDLOR
  •  2.เป็นตัวผลักดันให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นกดดันหุ้นในกลุ่มส่งออก เช่น KCE, OSP, SAPPE แต่ได้ประโยชน์ กับหุ้นที่มีสัดส่วนนำเข้าสูง เช่น TVO, COM7, SYNEX, JMART 
  • 3. กลุ่มได้ประโยชย์จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น จากโครงสร้างที่ดอกเบี้ยสินเชื่อปรับขึ้นเร็วกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก เช่น  KTB, KBANK, SCB, BBL

 

นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS ประเมินการประชุมกนง.วันที่ 10 สิงหาคมนี้ คาด กนง.จะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายราว 0.25% และเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 2 ปี จากระดับเดิม 0.5%

 

แนะนำกลยุทธ์สะสมหุ้นแบงก์ขนาดใหญ่ที่คาดว่าได้ประโยชน์จากธปท.เลิกเพดานจ่ายปันผลและทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น KBANK BBL KTB SCB และ TISCO  

 

ด้านบล.กรุงศรี ระบุว่า กนง.ขึ้นดอกเบี้ย เป็นบวกต่อหุ้นกลุ่มธนาคาร เลือก  KBANK เป็น TOP PICK  ( ปิด 149.5 ซื้อ/เป้า 170 บาท) ขณะที่สัปดาห์นี้ยังมีปัจจัยให้เก็งกำไรโดย KBANK เป็นหนึ่งเดียวที่คาดว่าจะได้ปรับเข้าคำนวณในดัชนี MSCI รอบใหม่ (MSCI Rebalance) ประกาศผล 11 ส.ค. และ บังคับใช้ 31 ส.ค. 2565