ลดหย่อนภาษีปี 2566 เลือกลงทุนกองทุน SSF หรือ RMF ดี เช็คข้อแตกต่าง

12 พ.ย. 2566 | 05:03 น.

โค้งท้ายปี หาตัวช่วยประหยัดภาษีเพื่อลดหย่อนภาษี 2566 ที่จะยื่นภาษีในต้นปี 2567 เลือกลงทุนในกองทุนรวม SSF หรือ RMF ทั้ง 2 กองทุนมีข้อแตกต่างอย่างไร เหมาะกับใครบ้าง

โค้งท้ายปี 2566 ! มนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี และกำลังหาตัวช่วยเพื่อประหยัดภาษี  ต้องมี 2 ตัวช่วยนั่นก็คือ กองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund ) หรือ SSF และ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund) หรือ RMF  ซึ่งทั้ง 2 กองทุนมีนโยบายการลงทุนในสินทรัพย์ไม่ได้แตกต่างกันนัก คือลงทุนได้ทั้ง หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ตราสารหนี้ กองทุนทองคำ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ จะแตกต่างกันก็คือ

 

ลดหย่อนภาษีปี 2566 เลือกลงทุนกองทุน SSF หรือ RMF ดี เช็คข้อแตกต่าง
 

 

ข้อแตกต่างระหว่างกองทุนรวม SSF และ RMF 

1.เงื่อนไขในการลดหย่อนภาษี SSF สามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% ของรายได้ไม่เกิน 200,000 บาท ส่วน RMF ลดหย่อนได้ไม่เกิน 500,000 บาท แต่ทั้ง 2 กองทุนนี้ เมื่อรวมกับค่าลดหย่อนการออมเพื่อเกษียณอื่น ๆ แล้ว ( อาทิ กอช., กบข, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน, เบี้ยประกันบำนาญ ) จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท

2. ระยะเวลาการลงทุนและเงื่อนไขการซื้อ คือ SSF จะต้องถือครองหน่วยลงทุนไม่ต่ำกว่า 10 ปี นับจากวันที่ซื้อ แต่ไม่จำเป็นต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี ส่วน RMF ต้องถือไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อครั้งแรก ขายได้ตอนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี หรือซื้อปีเว้นปี 

 

ลดหย่อนภาษีปี 2566 เลือกลงทุนกองทุน SSF หรือ RMF ดี เช็คข้อแตกต่าง

 

SSF และ RMF เหมาะกับใคร ควรเลือกกองทุนแบบไหนดี 

กองทุน SSF และ RMF เหมาะกับวัยทำงานที่มีเงินได้ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี แต่ต้องการประหยัดภาษี และอยากลดหย่อนภาษีด้วยการลงทุนโดยหวังผลตอบแทนในระยะยาว หรือต้องการเตรียมความพร้อมด้านการเงินก่อนเกษียณอายุจากการทำงาน   

 

ส่วนการพิจารณาเลือกลงทุนกองทุน SSF หรือ RMF ขึ้นอยู่กับเป้าหมายในการลงทุน อายุของผู้ลงทุน  รายได้และเงินเก็บ ดังนี้

  • หากเน้นการออมเงินระยะยาวประมาณ 10 ปี ควรเลือกลงทุนใน SSF เพราะสามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้เมื่อครบ 10 ปี โดยไม่ต้องรอจนอายุถึง 55 ปีเหมือน RMF
  • เป้าหมายเพื่อเตรียมเงินสำหรับการเกษียณอายุ ควรเลือก RMF เพราะนอกจากจะได้รับสิทธิประโยชน์ภาษีแล้ว ยังตอบโจทย์การทยอยเก็บเงินไว้ใช้ตอนเกษียณ เนื่องจากเป็นการลงทุนต่อเนื่องทุกปี และสามารถลงทุนตั้งแต่อายุน้อย ซึ่งยิ่งเป็นการเพิ่มโอกาสให้เงินงอกเงยในระยะยาว
     
  • หากมีอายุต่ำกว่า 45 ปี มีเงินลงทุนไม่สม่ำเสมอ อาจเลือกลงทุนในกองทุน SSF เพราะเป็นการลงทุนแบบก้อนต่อก้อน ไม่จำเป็นต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี แต่ต้องลงทุนหรือถือครองยาว 10 ปี
  • แต่หากอายุ 45 ปี สามารถเลือกลงทุนได้ทั้งแบบกองทุน SSF หรือ RMF เพราะมีระยะเวลาถือจนครบกำหนด 10 ปีไม่ต่างกัน
  • ส่วนอายุ 47 ปี หรือ 50 ปีขึ้นไป การเลือกลงทุนในกองทุน RMF จะใช้ระยะเวลาในการลงทุนที่สั้นกว่า เพราะถือเพียง 5 - 8  ปี ก็สามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้ ไม่ต้องถือจนครบกำหนด 10 ปี เหมือน SSF