คาด BIOTEC เติบโตต่อเนื่อง หลังรุกธุรกิจน้ำมันปาล์ม

10 ก.ค. 2565 | 23:38 น.

คาด BIOTEC แนวโน้มผลประกอบการปี 65 เติบโตต่อเนื่อง หลังจบไตรมาส 1 กำไร 56.98 ล้านบาท พร้อมเผยปัจจัยหนุนธุรกิจรุ่ง เป็นผลมาจากการลงทุนเพิ่มในธุรกิจน้ำมันปาล์ม

บริษัท ไบโอ กรีน เอ็นเนอร์ยี่ เทค จำกัด (มหาชน) หรือ BIOTEC แนวโน้มการเติบโตของบริษัท คาดมีโอกาสเติบโตต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2565 หลังจากในไตรมาสที่ 1 มีกำไรสุทธิ 56.98 ล้านบาท และคาดการณ์ได้ว่าผลการดำเนินงานจะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

 

เนื่องจากบริษัทได้เพิ่มลักษณะการลงทุนจากเดิมที่มีการลงทุนในธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจพาณิชย์นาวี โดยเพิ่มลักษณะการลงทุนในธุรกิจน้ำมันปาล์ม ได้แก่ การประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ได้จากปาล์มน้ำมัน และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนอกจากจะเป็นการลดความเสี่ยงจากการพึ่งธุรกิจพาณิชย์นาวีเพียงอย่างเดียวแล้ว การลงทุนในธุรกิจน้ำมันปาล์มยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้บริษัทอย่างมั่นคงและยั่งยืน เพราะธุรกิจน้ำมันปาล์มถือได้ว่าเป็นธุรกิจที่มีความน่าสนใจ และมีโอกาสในการเติบโตสูง

 

สำหรับการลงทุนในธุรกิจน้ำมันปาล์มของบริษัท จะเกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันไบโอดีเซล มีกำลังการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลประมาณ 200,000 ลิตรต่อวัน โดยมีที่ตั้งอยู่ในจังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นแหล่งผลิตพลังงานทดแทนไบโอดีเซลที่สำคัญของภาคใต้ 

ทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างผลการดำเนินงานให้เติบโตอย่างยั่งยืน บริษัทมีแผนที่จะขยายกำลังการผลิตและเพิ่มปริมาณการจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล รวมทั้งเชื่อมโยงการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นเครือข่ายกับกลุ่มธุรกิจปาล์มของบริษัทในด้านต่างๆ เช่น 

 

  • การจัดซื้อและจำหน่ายวัตถุดิบต่างๆ 
  • การแปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับปาล์มน้ำมัน 
  • การจัดเก็บและดูแลรักษาน้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง 
  • การให้บริการด้านการจัดการขนส่งทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ

โดยบริษัทเชื่อมั่นว่า การดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันปาล์มแบบครบวงจรจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงของบริษัทให้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ

 

ทั้งนี้ หากพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจน้ำมันปาล์มทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ พบว่า ธุรกิจน้ำมันปาล์ม ยังคงเป็นธุรกิจที่โอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2565 โดยในไตรมาสที่ 1 ต่อเนื่องถึงไตรมาสที่ 2 ราคาน้ำมันปาล์มเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ทั้งในระดับประเทศ และระดับโลก โดยมีปัจจัยที่เกี่ยวข้อง อาทิ การเกิดสงครามระหว่างรัสเซีย และยูเครน การห้ามการส่งออกน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซีย ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของมาเลเซีย และให้ผลผลิตถั่วเหลือง และเรพซีดลดลง เป็นต้น

แม้ว่าราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลกเริ่มลดลงตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 แต่ยังสามารถคาดการณ์ว่า การลดลงของราคาจะเกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น เพราะตลอดทั้งปีนี้ ราคาน้ำมันปาล์มจะยังคงเคลื่อนไวอยู่ในระดับสูง โดยมีปัจจัยที่ทำให้คาดการณ์ได้ว่า ราคาน้ำมันปาล์มจะกลับมาเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 ได้แก่


1. ปัจจัยด้านอุปสงค์


1.1 การฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้หลายประเทศมีความต้องการนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบมากขึ้น  Refinitiv Commodities Research (2021) วิเคราะห์ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มทั่วโลก จะเพิ่มขึ้น เพราะการฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ผู้คนจะกลับมาใช้ชีวิตปกติมากขึ้น เช่น ออกไปทำงาน เดินทางท่องเที่ยว รวมถึงการทำกิจกรรมต่างๆ โดยความต้องการใช้น้ำมันพืชจะเพิ่มขึ้นทั้งในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาหาร และไม่เกี่ยวข้องกับอาหาร  โดยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอาหารนั้น จะมีความต้องการใช้มากขึ้นในภาค HORECA หรือ Hotels, restaurants and café และส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับอาหารจะมีความต้องการใช้น้ำมันปาล์มในอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ ทั้งโอลิโอเคมีคอล และพลังงานทดแทน

 

1.2 ประเทศผู้บริโภคสำคัญ เช่น อินเดีย จีน กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ยังคงมีความต้องการใช้น้ำมันปาล์มในปริมาณสูง หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ดีขึ้น 

 

1.3 สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบต่อปัญหาอุปทานน้ำมันพืชโลก และทำให้เกิดความต้องการใช้น้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้น เพราะสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้การผลิตและการขนส่งน้ำมันดอกทานตะวันจากยูเครนหยุดชะงัก ทำให้หลายประเทศจำเป็นต้องนำเข้าน้ำมันพืชชนิดอื่นๆ เพื่อทดแทนน้ำมันดอกทานตะวัน โดยน้ำมันปาล์ยังถือเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับน้ำมันพืชชนิดอื่นๆ 

 

1.4 การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบ และความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น  สถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะการคลี่คลายของสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยเริ่มกลับมาฟื้นตัว ส่งผลให้มีความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปริมาณน้ำมันดิบในสต็อกโลกลดลง 

 

ทั้งนี้ หากพิจารณาเฉพาะความต้องการใช้ไบโอดีเซล พบว่า ความต้องการใช้และการผลิต ไบโอดีเซลในระดับโลกเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ โดย OECD-FAO (2022) กล่าวถึงภาพรวมการผลิตไบโอดีเซลในปี 2021 ว่า มีการผลิตไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาคของโลก อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันพืชตั้งแต่ปี 2019 จนถึงปัจจุบัน ทำให้ต้นทุนการผลิตไบโอดีเซลเพิ่มขึ้น และส่วนต่างของกำไรลดลง 

 

โดยความต้องการใช้ไบโอดีเซลในระดับโลกยังคงได้รับการสนับสนุนผ่านมาตรการต่างๆ ของรัฐในแต่ละประเทศ เช่น การให้เงินอุดหนุน การลดอัตราภาษี เป็นต้น โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาจะมีความต้องการใช้ไบโอดีเซลเพิ่มขึ้น ซึ่งจะสนับสนุนให้ราคาไบโอดีเซลในระดับโลกอยู่ในระดับที่ไม่ลดลงจากปัจจุบัน

 

1.5 ราคาน้ำมันถั่วเหลืองในตลาดโลก โดยปริมาณการผลิตถั่วเหลือง และราคาน้ำมันถั่วเหลืองในตลาดโลก มีผลต่อราคาของน้ำมันพืชชนิดอื่นๆ โดยปกติ หากปริมาณผลผลิตถั่วเหลืองในตลาดโลกมีมาก จะทำให้ราคาน้ำมันถั่วเหลืองอ่อนตัวลง และกระทบต่อราคาน้ำมันพืชอื่น รวมถึงราคาน้ำมันปาล์มดิบที่ปรับตัวลดลง แต่ถ้าผลผลิตถั่วเหลืองลดลง เช่น ตั้งแต่เดือนเมษายน 2021 จนถึงปัจจุบัน การผลิตถั่วเหลืองมีความผันผวนสูงมาก 

 

เนื่องจากสภาพอากาศ ที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้ผลผลิตลดลงมากในบางช่วงเวลา ส่งผลให้ราคาน้ำมันถั่วเหลืองเพิ่มขึ้น และทำให้ราคาน้ำมันพืชชนิดอื่นๆ เพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะน้ำมันปาล์มที่เป็นคู่แข่งสำคัญของน้ำมันถั่วเหลือง เพราะในกรณีที่น้ำมันถั่วเหลืองราคาสูงขึ้น ผู้บริโภคจะหันมาใช้น้ำมันปาล์มแทนน้ำมันถั่วเหลืองเพิ่มขึ้น เพราะมีราคา ที่ต่ำกว่า 

 

1.6 น้ำมันปาล์มยังคงเป็นน้ำมันพืชที่มีราคาต้นทุนต่ำกว่าน้ำมันพืชชนิดอื่นๆ จึงยังคงได้รับความนิยมในการบริโภค และการนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงการใช้ผลิตพลังงานทดแทน นอกจากประเทศผู้บริโภคสำคัญ ได้แก่ อินเดีย จีน และสหภาพยุโรปแล้ว ประเทศที่จัดอยู่ในเกณฑ์ประเทศยากจนจำนวนมาก นิยมบริโภคน้ำมันปาล์มมากกว่าน้ำมันพืชชนิดอื่นๆ เพราะมีราคาที่ถูกกว่า 

 

จากรายงานการศึกษาจาก Technavio (2021) แสดงให้เห็นว่า ตลาดปาล์มน้ำมันทั่วโลก จะขยายตัว/เติบโตขึ้นร้อยละ 24.76 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ระหว่างปี 2020-2025 (พ.ศ. 2563-2568)  โดยในปี 2021 (พ.ศ. 2564) ตลาดปาล์มน้ำมันมีอัตราการเติบโตต่อปีที่ร้อยละ 6.12 เนื่องจากความตระหนักของผู้บริโภคเกี่ยวกับประโยชน์ของน้ำมันปาล์มที่มีต่อสุขภาพ และความต้องการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพที่เพิ่มขึ้น 

 

2. ปัจจัยด้านอุปทาน


2.1 แนวโน้มผลผลิตปาล์มน้ำมันมาเลเซีย ปี 2565 โดยในเดือนมีนาคม 2022 (พ.ศ. 2565) The Malaysian Palm Oil Council (MPOC) รายงานว่า ผลผลิตปาล์มน้ำมันมาเลเซีย ปี 2565 จะอยู่ที่ 18.90 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 18.30 ล้านตันในปี 2564 คิดเป็นร้อยละ 3.28 ทั้งนี้ แม้ว่าจะคาดการณ์ว่า ผลผลิตในปีนี้จะเพิ่มขึ้นมากกว่าปีที่แล้ว แต่ผลผลิตในปีนี้ก็ยังคงน้อยกว่าผลผลิตในปี 2019-2020 (พ.ศ. 2562-2563)  

 

สำหรับสถานการณ์การผลิตในไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปี 2022 (พ.ศ. 2565) Refinitiv (2022) วิเคราะห์ว่า ปัญหาการขาดแคลนแรงงานยังเป็นปัญหาหลักที่ทำให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันลดลง ทั้งนี้ จากการระบาดที่รุนแรงของโรคโควิด-19 ในมาเลเซีย ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องประกาศใช้มาตรการการควบคุมแรงงาน การเคลื่อนย้ายแรงงาน และการจำกัดจำนวนแรงงาน ส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งทำให้ผลผลิตเสียหาย และไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ รวมทั้งขาดแคลนแรงงานในการดูแลรักษา ทำให้การใส่ปุ๋ย และการจัดการสวนไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะส่งผลระยะยาวต่อปริมาณผลผลิตที่จะลดลงจนตลอดปี 2022 (พ.ศ. 2565)

 

2.2 นโยบายการส่งออกของอินโดนีเซีย โดยนโยบายการค้าและการส่งออกน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซีย ยังเป็นปัจจัยอ่อนไหวที่ต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา และจะมีผลต่อราคาน้ำมันปาล์ม  ในตลาดโลก แม้ว่าในปัจจุบันอินโดนีเซียจะยกเลิกมาตรการห้ามส่งออกน้ำมันปาล์ม และกลับมาเร่งการส่งออกน้ำมันปาล์มจำนวนมาก แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านพืชน้ำมันวิเคราะห์ว่า การกลับมาส่งออกน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซีย จะทำให้ราคาน้ำมันปาล์มตลาดโลกอ่อนตัวเพียงช่วงสั้นๆ

 

โดยทิศทางราคาเฉลี่ยน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกจะยังปรับสูงขึ้นจากหลากหลายปัจจัยเสี่ยง อาทิ สงครามรัสเซีย-ยูเครน และผลผลิตปาล์มโลกที่ลดลง โดย J.P. Morgan Commodities Research คาดว่าในปี 2022 ราคาน้ำมันปาล์มดิบเฉลี่ยของตลาดมาเลเซียซึ่งเป็นราคาอ้างอิงน้ำมันปาล์มตลาดโลกจะอยู่ในระดับสูงที่ 7,403 MYN/Ton เพิ่มขึ้น 66.4% YOY

 

กล่าวโดยสรุป จากปัจจัยทั้งหมดข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันปาล์มในระดับโลกยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยราคาจะยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในระดับสูงเมื่อเปรียบเทียบกับหลายปีที่ผ่านมา ในกรณีของประเทศไทย นอกจากอานิสงค์ที่ได้รับจากสถานการณ์ในระดับโลกที่ทำให้ราคาเพิ่มขึ้นและเคลื่อนไหวอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องแล้ว 

 

หากพิจารณาปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันในไตรมาสที่ 3-4 ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่ปาล์มน้ำมันให้ผลผลิตลดลงตามฤดูกาล สามารถคาดการณ์ได้ว่า ราคาน้ำมันปาล์ม มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในห้วงเวลาดังกล่าว ซึ่งหากมีการบริหารจัดการที่ดีและมีประสิทธิภาพ ธุรกิจน้ำมันปาล์มของไทยจะเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่องในปีนี้ 

 

ในส่วนของ บริษัท ไบโอ กรีน เอ็นเนอร์ยี่ เทค จำกัด (มหาชน) หรือ BIOTEC เชื่อมั่นว่า การบริหารจัดการธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพและมีความเป็นมืออาชีพที่เข้าใจทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจน้ำมันปาล์ม จะทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน